xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯรถ “เอเชีย” อ่วมพิษ ศก.โลก ยอดขาย-ส่งออก ดิ่งทั่วภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยอดขายรถยนต์เอเชียลดลงอย่างหนักจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจโลก
เอเอฟพี - อุตสาหกรรมรถยนต์เอเชีย เจอขาลงเต็มเหนี่ยว จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ยอดขายสะดุดหัวทิ่ม คาด ผู้เล่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะถูกเล่นงานอ่วมที่สุด เนื่องจากดีมานด์ในสหรัฐฯ และยุโรปซบ กระนั้น เชื่อว่า ปลายปีนี้สถานการณ์จะเริ่มผ่อนคลายลง

บริษัทรถยนต์ในเอเชียที่เคยขยายตัวน่าประทับใจตลอดช่วงหลายมาปีที่ผ่านมา ตามภาวะการเติบโตของชนชั้นกลางที่ทำให้การจราจรในเมืองหลวงตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงนิวเดลี แออัด มาบัดนี้กลับเผชิญภัยคุกคามจากภาวะถดถอยที่ประเดประดังมาพร้อมกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่ำ และภาวะสินเชื่อตึงตัวทั่วโลกที่ทำให้การขอสินเชื่อรถยนต์ใหม่ทำได้ยากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้แนวโน้มตลาดยานยนต์เอเชียปีนี้อึมครึมเป็นอย่างยิ่ง

แอชวิน โชไต กรรมการผู้จัดการอินเทลลิเจนซ์ ออโตโมทีฟ เอเชีย คาดว่ายอดขายรถยนต์ขนาดเล็กในเอเชียปีนี้จะลดลง 11.8% รุนแรงยิ่งกว่าเมื่อครั้งวิกฤตเอเชียปี 1997-98

วิเวก เวทยา นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์ของบริษัทที่ปรึกษา ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน สำทับว่า แม้ยอดขายภายในประเทศดิ่งลงทั่วเอเชีย แต่ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสำคัญที่มีอเมริกาและยุโรปเป็นเป้าหมายหลักอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นสองเท่า

เดือนธันวาคม การผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นดิ่งลงถึง 25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับจากมีการเก็บข้อมูลในปี 1967 ยอดขายรถใหม่ปีที่ผ่านมารูดลง 6.5% อยู่ที่ 3.2 ล้านคัน ต่ำสุดในรอบสามทศวรรษ

สมาคมผู้แทนจำหน่ายรถยนต์แห่งญี่ปุ่น คาดว่า ยอดขายในประเทศจะลดลงต่อเนื่องในปีนี้โดยทำได้เพียงกว่า 3 ล้านคันเล็กน้อย เนื่องจากคนหนุ่มสาวชะลอการซื้อรถยนต์เพราะมีรายได้ลดลง น้ำมันแพงและระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ

แม้ค่ายรถแดนปลาดิบมีสถานะมั่นคงกว่าผู้เล่นสหรัฐฯ ในท่ามกลางวิกฤต แต่ยังหนีไม่พ้นต้องลดการผลิตครั้งใหญ่

เช่นเดียวกัน แม้โตโยต้า มอเตอร์ ชิงตำแหน่งบริษัทรถเบอร์ 1 ของโลกมาจากเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) มาได้เมื่อปีที่แล้ว แต่นั่นเป็นเพราะยอดขายของยักษ์ใหญ่จากดีทรอยต์ลดลงเร็วกว่าเท่านั้น มิหนำซ้ำโตโยต้ายังคาดว่าจะขาดทุนจากการดำเนินงานเป็นครั้งแรกในปีการเงินปัจจุบัน (เม.ย.08-มี.ค.09)

ที่เกาหลี ยอดขายในประเทศขยับลง 5.3% ในปีที่ผ่านมา และยอดส่งออกลดลง 5.7% สำหรับปีนี้คาดว่าตัวเลขจะลดลงต่อไป 8.7% และ 5.6% ตามลำดับ

เดือนธันวาคม ค่ายรถโสมขาวพากันปิดโรงงานนานถึงสามสัปดาห์เพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลัง ซางยอง มอเตอร์ที่ถูกบริษัทจีนซื้อไป ถึงขั้นขอพิทักษ์ทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลาย รวมทั้งปิดโรงงานไม่มีกำหนด

นอกจากนั้น โชโต เชื่อว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะต้องเดินหน้าลดกำลังผลิตครั้งใหญ่ต่อไปในเร็ววันนี้

**ยอดขายดิ่งทั่วภูมิภาค**

ออสเตรเลีย คาดหมายว่า ปีนี้ยอดขายรถใหม่จะลดลง 13% หลังจากขยับลง 3.6% เมื่อปีที่แล้ว ผู้ผลิตท้องถิ่นโดนหางเลขอ่วมที่สุด โดยยอดขายตกลงถึง 14.5% ต่ำสุดนับจากปี 1980

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางการแคนเบอร์ราต้องประกาศแผนกระตุ้นเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่มีการลอยแพพนักงานจำนวนมาก

ที่อินเดีย ยอดขายประจำเดือนพฤศจิกายนตกแรงสุดในรอบแปดปี ตอกย้ำแนวโน้มขาลงของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของเอเชีย และทำให้ค่ายรถแห่ลดราคาเพื่อดึงลูกค้า นักวิเคราะห์คนหนึ่งในมุมไบคาดว่า ยอดขายในปีการเงินนี้จะตกลงต่อ และเป็นอีกหนึ่งปีที่เลวร้ายสำหรับค่ายรถ

อุตสาหกรรมยานยนต์แดนภารตะยังเจอแรงเหวี่ยงจากการที่ ทาทา กรุ๊ป ตัดสินใจยกเลิกแผนสร้างโรงงานผลิตนาโน ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ราคาย่อมเยาที่สุดในโลก ในรัฐเบงกอลตะวันตกเมื่อเดือนตุลาคม หลังจากเกิดการประท้วงรุนแรงของเกษตรกรที่ถูกยึดที่ดิน

ที่จีน ทางการออกมาตรการกระตุ้นภาครถยนต์เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งรวมถึงการลดภาษี หลังจากอัตราเติบโตของธุรกิจนี้ลดเหลือ 6.7% เมื่อปีที่แล้ว ต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เชื่อว่า การฟื้นตัวจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากปีที่ผ่านมาตลาดรถแดนมังกรขยายตัวถึง 21.8%

ที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดรถเก๋งใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ มีการคาดหมายว่ายอดขายรถปีนี้จะลดลง 12.4% หลังจากขยายตัว 12.5% เมื่อปีที่แล้ว

สำหรับไทย ยอดขายภายในประเทศมีแนวโน้มดิ่งลงกว่า 15% ในปีนี้ และ 26.6% สำหรับยอดส่งออก ทั้งนี้ โตโยต้า, ฮอนด้า และจีเอ็ม ต่างมีโรงงานผลิตในเมืองไทย และอุตสาหกรรมนี้ครองส่วนแบ่ง 16% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

**ปีหน้าเริ่มฟื้น**

อย่างไรก็ตาม โชไต เชื่อว่า วิกฤตในอุตสาหกรรมยานยนต์เอเชียจะจบลงภายในปลายปีนี้ และผู้ที่อยู่รอดได้จะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากจำนวนผู้ที่มีรถในตลาดเกิดใหม่ของย่านนี้ยังถือว่าต่ำมาก จึงมีโอกาสเติบโตต่อไปในปีหน้าด้วยอัตรา 5.3%

เวทยา ขานรับว่า ผู้ผลิตต้นทุนต่ำแต่มีคุณภาพการผลิตที่ดีขึ้นในจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้อานิสงส์จากการที่การผลิตรถผละจากศูนย์การผลิตที่มีต้นทุนสูง ทว่า ในทางกลับกัน แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปยิ่งซบเซา เนื่องจากบริษัทท้องถิ่นถูกบีบให้ปิดโรงงานในประเทศ และโยกย้ายการผลิตสู่ต่างแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น