xs
xsm
sm
md
lg

จนท.USยันGMยื่นล้มละลายแล้ว นักวิเคราะห์กังขาจะกลับฟื้นได้ไหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายบอกทางเข้าศาลล้มละลายสหรัฐฯ ศาลที่ทางจีเอ็มต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
เอเจนซี/เอเอฟพี - เจนเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม) บริษัทที่เคยใหญ่ที่สุดในโลกอยู่หลายปี อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ความเจริญรุ่งเรืองของสหรัฐฯ ต้องประกาศเข้าสู่ภาวะล้มละลายในวันจันทร์(1) ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างที่ได้รับการช่วยเหลืออุ้มชูจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายยังตั้งข้อกังขาว่า ท่ามกลางกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งมโหฬารคราวนี้ จีเอ็มจะประสบความสำเร็จกลับฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่

พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสขอวงสสหรัฐฯแจกแจงรายละเอียดแก่บรรดานักข่าวเมื่อวันอาทิตย์(31พ.ค.) เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาหวังว่าจะเป็นกระบวนการอันดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา 60 ถึง 90 วัน เพื่อให้จีเอ็มสามารถหลุดออกจากการคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย และกลับผงาดขึ้นเป็นบริษัทใหม่ที่ผอมเรียวลงแต่แข็งแรงขึ้น

จีเอ็มจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯมาหนุนหลัง รวมทั้งยังได้บรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน ตลอดจนผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ สภาพเช่นนี้น่าจะเอื้ออำนวยให้จีเอ็มพรักพร้อม สำหรับการพลิกฟื้นจากการล้มละลายครั้งประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยเลยกลับคาดการณ์ในทางลบ ตั้งแต่ขั้นแย่ไปจนถึงขั้นหายนะ เนื่องจากกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงตัวเองของจีเอ็มคราวนี้ จะต้องฟันฝ่าเผชิญหน้าความเสี่ยงจำนวนมาก ตั้งแต่ยอดขายของจีเอ็มอาจไม่กระเตื้อง, การดำเนินงานในขั้นตอนล้มละลายไม่ราบรื่น, ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูพุ่งขึ้น, รวมถึงการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลักของบริษัทได้ ซึ่งก็คือ การสร้างรถที่ดีขึ้น และเจาะตลาดได้กว้างขวางกว่าเดิม

หลายคนเรียกจีเอ็มอย่างเสียดสีว่า บัดนี้ไม่ใช่ "เจนเนอรัลมอเตอร์ส" เสียแล้ว หากแต่เป็น "กัฟเวิร์นเมนต์มอเตอร์ส" เพราะเมื่อมองกันจริง ๆแล้วบริษัทแห่งนี้ก็เป็นของรัฐบาลไปแล้วจริง ๆ ด้วยเงินช่วยเหลือถึง 60,000 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา

การขอเข้าสู่ภาวะล้มละลาย จะทำให้จีเอ็มสามารถลดหนี้และลดต้นทุนค่าแรงลงได้ รวมทั้งจะยกเลิกการผลิตรถแบรนด์ ฮัมเมอร์, ซาป, และแซตเทิร์น ตลอดจนลดตัวแทนขายรถในสหรัฐฯ ลงไป 40% ซึ่งจะทำให้บริษัทเล็กลงและแข็งแกร่งขึ้นในขณะที่มีต้นทุนต่ำลงอย่างมาก

แต่กระทั่งเมื่อบรรลุเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ จีเอ็มซึ่งก่อตั้งยืนยงมา 100 ปีแล้ว ก็ยังคงห่างไกลจากการสร้างตัวเองขึ้นใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ

"หากว่าพวกเขาต้องการจะเห็นผลกำไรในงบดุลล่ะก็ มีทางเดียวก็คือ ต้องผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ" เบอร์นี แม็คกิน ประธานของแมคกินน์ อินเวสเมนท์ แมเนจเมนท์ และผู้ถือหุ้นร่วมคนหนึ่งของฟอร์ด มอเตอร์ กล่าวให้ความเห็น

สถานการณ์ของจีเอ็มไม่ชวนให้เล็งการณ์ในแง่สดใสว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเลย แม้กระทั่งว่าสามารถที่จะอยู่ในภาวะล้มละลายได้เพียงช่วงสั้นๆ ตามแผนการของรัฐบาล

ยอดขายของจีเอ็มในสหรัฐฯดิ่งลงไป 45% เมื่อเดือนเมษายน โดยที่เรื่องโอกาสอยู่รอดของบริษัทคือตัวการที่ทำให้การขายย่ำแย่ลง ยิ่งกว่านั้นยอดขายยังน่าจะดิ่งลงอีกเมื่อเข้าสู่ภาวะล้มละลายไปแล้ว

"ทุกคนก็เดากันไปต่าง ๆว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปมากเพียงใด" รองประธานของจีเอ็ม บ๊อบ ลุตซ์กล่าว

"แต่เรารู้จากการทำวิจัยและดูประสบการณ์ของไครสเลอร์ว่าบริษัทรถยนต์ที่อยู่ใต้ภาวะล้มละลายนั้นจะมียอดขายที่ต่ำลง นั้นเป็นความจริง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องการเข้าไปแล้วรีบออกมาอีกครั้ง" ลุตซ์กล่าว

แผนการล้มละลายสำหรับจีเอ็มนั้นคล้ายคลึงกับของไครสเลอร์ นั่นคือขายสินทรัพย์ที่ดีที่สุดของบริษัท รวมทั้งแบรนด์รถยนต์อย่าง เชฟวี่ และคาดิลแล็ค ไปให้แก่บริษัทใหม่ภายในเวลา 90 วัน

ไครสเลอร์ยื่นขอเข้าสู่ภาวะล้มละลายเมื่อวันที่ 30 เมษายน และก็กำลังรอคำสั่งศาลที่จะออกมาในวันจันทร์(1)ตามเวลาสหรัฐฯว่าจะสามารถขายสินทรัพย์ให้แก่บริษัทใหม่ที่ดำเนินงานโดยเฟียตแห่งอิตาลีหรือไม่

แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า การปรับโครงสร้างของจีเอ็มอาจจะยากเย็นกว่าไครสเลอร์หลายเท่านัก เนื่องจากจีเอ็มเป็นบริษัทที่ใหญ่กว่ามาก มีบริษัทลูกอยู่ทั่วโลก รวมทั้งมีนักลงทุนและซัปพลายเออร์อยู่เป็นจำนวนมาก

"มันจะไม่เหมือนใส่ตะกร้าล้างน้ำ 30 วันที่ไครสเลอร์ทำ" แมรีแอนน์ เคลเลอร์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์กล่าว "ฉันคิดว่าหกเดือนน่าจะดีกว่าห้วงเวลา 30 หรือ 60 วันที่คาดกันไว้ เพราะว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นซับซ้อนกว่ากันมาก"
กำลังโหลดความคิดเห็น