เอเอฟพี - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนแปลงยกเครื่องใหญ่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จากยุค จอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยเมื่อวันจันทร์ (26) ได้ลงนามในมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดน้ำมัน พร้อมประกาศเป็นผู้นำโลกในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน
นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้เอง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังดึงมือดีที่เคยรับผิดชอบเรื่องพิธีสารเกียวโตในยุค บิล คลินตัน กลับมาเป็นทูตดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เราจะทำให้โลกเห็นชัดเจนว่า อเมริกาพร้อมที่จะเป็นผู้นำ และโลกทั้งโลกจะต้องพร้อมใจกันอย่างแท้จริง เพื่อปกป้องสภาพอากาศและความมั่นคงร่วมกัน” โอบามา กล่าวที่ทำเนียบขาว
หลังจากที่ โอบามา เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ในวันอังคาร(20) ที่แล้ว เขาก็ได้เริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งต่างจากรัฐบาลชุดก่อนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง การต่างประเทศ หรือด้านสังคม และล่าสุดนี้ เขาก็ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ซึ่งมีเป้าหมายกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ออกแบบรถรุ่นใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานหลายๆ แห่ง ที่ โอบามา บอกว่า เป็นแหล่งหาเงินทองของพวกผู้เผด็จการ
นอกจากนั้น โอบามา ยังสั่งให้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมพิจารณาทบทวนว่า จะอนุญาตให้มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถออกข้อกำหนดเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ได้เองหรือไม่ หลังจากที่รัฐบาลบุชเคยขัดขวางไม่ให้มลรัฐต่างๆ ทางแถบตะวันตก ออกข้อกำหนดเรื่องการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตนเอง ซึ่งเข้มงวดยิ่งกว่าของรัฐบาลกลาง
ทางด้าน อาร์โนลด์ ชวาร์เซนเนกเกอร์ ผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ขานรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของโอบามาอย่างเต็มที่ เขาระบุในคำแถลงว่า “การประกาศเรื่องนี้ของประธานาธิบดีโอบามา ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ทำให้มลรัฐแคลิฟอร์เนียและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมมองเห็นชัดเจน ว่า ขณะนี้เรามีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอยู่ในทำเนียบขาวแล้ว”
โอบามา ยังได้สั่งการให้กระทรวงการขนส่งจัดทำแผนเสนอแนะ เพื่อทำให้รถยนต์ในสหรัฐฯสามารถประหยัดการใช้น้ำมัน โดยให้มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ไมล์ต่อแกลลอนภายในปี 2020
ส่วนปฏิกิริยาโดยรวมจากค่ายผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ “บิ๊กทรี” ก็เป็นไปในทางบวกเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อเอาตัวให้รอดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ระบุว่า ขณะนี้บริษัท “กำลังเร่งคิดหาทางผลิตรถยนต์ชนิดดังกล่าว รวมทั้งคิดค้นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางทั้งของรัฐบาลและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง”
นอกจากจีเอ็มแล้ว พันธมิตรในอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ ทั้ง 11 ราย ซึ่งรวมทั้งฟอร์ด และ ไครส์เลอร์ ด้วย ก็ประกาศว่าพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลและคองเกรสด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โอบามา ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาแต่ภายในประเทศเท่านั้น เขายังระบุด้วยว่า จะขอความร่วมมือจากประเทศกำลังพัฒนารายใหญ่ให้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“เพราะนี่คือวิธีการซึ่งเราจะไม่ต้องไปทุ่มเงินให้กับพวกเผด็จการและพวกผู้ก่อการร้าย (ที่เป็นพวกผู้ผลิตน้ำมัน) และเป็นวิธีการเพื่อให้มั่นใจว่าจีนและอินเดียก็จะลงมือทำในส่วนของตน เช่นเดียวกับที่เรากำลังทำในส่วนของเรานั่นเอง” เขาบอก
พวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่างกล่าวชมโอบามาในเรื่องนี้ และเห็นว่า รัฐบาลใหม่กำลังเริ่มต้นได้อย่างดีเยี่ยม หลังจากที่พวกเขาต้องเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลชุดก่อน
ด้าน รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ก็ได้เปลี่ยนแนวนโยบายเรื่องนี้ในระดับกระทรวงเช่นกัน โดยเธอแต่งตั้งให้ ทอดด์ สเทิร์น ขึ้นมาเป็นผู้แทนทางการทูตดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย สเทิร์น นั้น เคยเป็นเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวในยุครัฐบาลบิล คลินตัน มาก่อน และมีประสบการณ์ทั้งในเรื่องพิธีสารเกียวโต และการเจรจาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงบัวโนสไอเรสด้วย แต่เมื่อถึงยุคของบุช รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธพิธีสารโตเกียว ปี 2001 โดยอ้างว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียหาย