xs
xsm
sm
md
lg

UNจี้ปท.เอเชียจับมือฝ่าวิกฤตศก.อย่ามองเพื่อนบ้านเป็นศัตรูคู่แข่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/เอเจนซี - บรรดาเศรษฐกิจในเอเชียจะต้องหันมาร่วมมือทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยไม่ถือว่าประเทศอื่นๆ เป็นปรปักษ์คู่แข่งขัน ถ้าหากหวังที่จะฟันฝ่าให้ผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจทรุดฮวบที่กำลังบังเกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของสหประชาชาติกล่าวที่กรุงเทพฯเมื่อวันพฤหัสบดี(15)

ระหว่างการเสนอรายงานประจำปีว่าด้วยเศรษฐกิจโลกของยูเอ็นต่อสื่อมวลชนในกรุงเทพฯ ราช กุมาร ที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กล่าวว่า เอเชียจะต้องเลิกนิสัยที่มุ่งแต่จะพึ่งพาการค้ากับพวกประเทศอุตสาหกรรม และหันมาร่วมมือกันโดยนำเอาทรัพยากรต่างๆ มากองรวมใช้ด้วยกัน

"นี่เป็นเวลาที่จะต้องลงมือกระทำการอย่างจริงจังแล้ว ... ถ้าภูมิภาคแถบนี้ได้รับประโยชน์ ทุกๆ คนก็จะได้รับประโยชน์ด้วย" กุมารกล่าว

"พวกคุณจำเป็นจะต้องลดทอนการที่มุ่งพึ่งพาแต่การทำการค้ากับโลกตะวันตกเท่านั้น พวกคุณจำเป็นจะต้องทำการค้าระหว่างกันเองให้มากขึ้น -- ยกเลิกกำแพงกีดขวางแบบนักลัทธิกีดกันการค้าออกไปเสีย อย่าได้ใช้เพื่อนบ้านของคุณเหมือนกับว่าเป็นปรปักษ์คู่แข่งขันรายหนึ่ง" เขาบอก

ในรายงานของยูเอ็นที่ใช้ชื่อว่า "สถานการณ์และลู่ทางโอกาสทางเศรษฐกิจโลกปี 2009" (World Economic Situation and Prospects 2009) ฉบับนี้บอกว่า พวกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังพวกประเทศอุตสาหกรรมอย่างหนัก ได้แก่ กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, และสิงคโปร์ กำลังเห็นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกตนลดลงราว 3% ในปี 2008 เมื่อเทียบกับปี 2007

แต่ในทางตรงกันข้าม การที่สินค้าโภคภัณฑ์อย่างพวก ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, และพลังงาน มีราคาสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ในครึ่งแรกของปี 2008 ได้ทำให้พวกประเทศอย่างอาทิ ไทย, อินโดนีเซีย, และมาเลเซียในระดับที่ลดหลั่นลงมา สามารถประคับประคองอัตราการเติบโตในปี 2008 ให้อยู่ระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2007 อย่างไรก็ตาม รายงานเตือนว่า เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พวกนี้ก็ได้ลดฮวบลงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2008 ดังนั้น ประเทศเหล่านี้จะต้องได้รับผลกระทบหนักหน่วงมากขึ้น

"ความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ยังต้องถือว่าอยู่ในระดับที่สำคัญ เนื่องจากวิกฤตคราวนี้อาจจะยังดำดิ่งลงไปไม่ถึงก้นเหว ดังนั้น จึงอาจจะมีอะไรที่เลวร้ายกว่านี้ปรากฏออกมา" ติเซียนา โบนาปาเซ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของยูเอ็นเอสแคป ชี้

"ราคาข้าวยังลดลงมาน้อยกว่าในกรณีของข้าวสาลีและข้าวโพด แต่เรื่องนี้เห็นชัดเจนว่าก็กลับเป็นสาเหตุให้ต้องห่วงใยกัน เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคแถบนี้" เธอบอก

เธอชี้ด้วยว่า ประเทศในเอเชียควรต้องนำเอาเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วยจัดการรับมือกับวิกฤตคราวนี้ เป็นต้นว่า การมีระเบียบกฎเกณฑ์ร่วมกันอย่างเป็นระบบของภูมิภาค, การนำเอาทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมารวมกัน

ในเรื่องนี้ กุมารก็เสนอแนะให้ การประชุมระดับผู้นำของ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน บวก 3 ชาติหุ้นส่วนสำคัญในเอเชีย อันได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ (อาเซียน+3) ที่กำหนดจัดขึ้นในประเทศไทยเดือนเมษายนนี้ เร่งผลักดัน "แผนการริเริ่มเชียงใหม่" ที่มีอยู่แล้ว ให้กลายเป็นกองทุนการเงินของเอเชีย ทำนองเดียวกับไอเอ็มเอฟ

รายงานของยูเอ็นฉบับนี้ ซึ่งร่วมกันจัดทำโดย ฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและสังคมของยูเอ็น, องค์การที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด), ตลอดจนคณะกรรมการระดับภูมิภาคทั้ง 5 ภูมิภาคของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ทำนายอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกประจำปี 2009 ไว้ว่าจะโตเพียงแค่ 1%

ขณะที่เอเชียตะวันออกจะขยายตัวลดลงเหลือ 6.0% จากที่ทำได้ 6.9% ในปี 2008 และ 9.0% ในปี 2007 แต่ถ้าหากยึดถือภาพจำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้ อัตราเติบโตก็อาจจะลงมาเหลือ 4.6%

รายงานของยูเอ็นระบุว่า จีนคือหัวรถจักรสำคัญที่สุดแห่งการเติบโตของภูมิภาคแถบนี้ โดยที่กุมารกล่าวเสริมว่า แดนมังกรจะทำหน้าที่นี้ได้ดีเมื่อจัดการกับปัญหาของตัวเองได้แล้ว

"จีนกำลังมีปัญหาการปรับตัวบางประการ ในการพยายามลดการพึ่งพาการส่งออกให้น้อยลง และการหันไปสู่การเติบโตที่อาศัยการขยายตัวภายในประเทศของจีนเองนั้น จำเป็นที่จีนจะต้องฟันฝ่าพาตัวเองออกมาให้ได้" กุมารบอก
กำลังโหลดความคิดเห็น