xs
xsm
sm
md
lg

2008ปีแห่งความปั่นป่วนที่สุดของอุตฯรถยนต์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ปี 2008 คือปีแห่งความปั่นป่วนผันผวนอย่างที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์โลกโดยแท้ ทั้งจากภาวะยอดขายดำดิ่งรุนแรง และแบรนด์ยี่ห้อดังจำนวนมากต้องเปลี่ยนเจ้าของไปยังผู้ที่มีเม็ดเงินหนากว่า แถมปิดท้ายช่วงสิ้นปีด้วยการที่ "บิ๊กทรีแห่งดีทรอยต์" ทำท่าจะเฉียดใกล้ภาวะล้มละลาย

เจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และ ไครสเลอร์ ประสบความสำเร็จได้เงินช่วยชีวิตฉุกเฉิน 17,400 ล้านดอลลาร์ ในชั่วโมงสุดท้าย หลังจากมีการงัดข้อกันหลายสัปดาห์ในกรุงวอชิงตัน

แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่าเงินกู้ฉุกเฉินนี้ไม่น่าจะทำให้ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่รถยนต์อเมริกัน หรือที่เรียกกันว่า "บิ๊กทรี"แห่งดีทรอยต์ ทานทนต่อวิกฤตสินเชื่อที่แผ่ขยายออกไปทั่วโลกได้ รวมทั้งความต้องการซื้อรถยนต์ที่ดิ่งลงและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

"การประกาศให้เงินกู้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามิได้หมายความว่าบิ๊กทรีแห่งดีทรอยท์จะสามารถหลีกเลี่ยงการล้มละลายได้ทุกราย" ไฮมานชู พาเทล นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน เชส เขียนไว้ในรายงานที่ส่งถึงลูกค้าเมื่อเร็วๆ นี้

ในขณะที่ฟอร์ด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบิ๊กทรีที่เหลือ ระบุว่าตนเองมีเงินสดเพียงพอในมือที่จะผ่านพ้นภาวะชะลอตัวปานกลางไปได้โดยไม่ต้องให้รัฐบาลเข้ามาอุ้ม แต่นักวิเคราะห์ก็ยังมองว่าไม่ว่าจีเอ็ม, ฟอร์ด, หรือไครสเลอร์ ล้วนยังคงมีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย หากว่ายอดขายไม่กระเตื้องขึ้น โดยที่ไครสเลอร์ ซึ่งเล็กที่สุดในสามยักษ์ และเป็นหนึ่งเดียวที่อยู่นอกตลาดหุ้น มีความเสี่ยงมากที่สุด

ความล้มเหลวของบริษัทใดในสามแห่งนี้จะส่งแรงสะเทือนรุนแรงไปยังอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีเครือข่ายโยงใยระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ผลิตรถยนต์อย่างเหนียวแน่น และในสหรัฐฯจัดเป็นอุตสาหกรรมที่ว่าจ้างพนักงานถึงหนึ่งในสิบของแรงงานชาวอเมริกัน ซึ่งสามารถจะผลักให้เศรษฐกิจสหรัฐฯอันเปราะบางเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงได้ง่ายดาย

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงในสหรัฐฯเท่านั้น ผู้ผลิตรถยนต์ของยุโรปและเอเชียต่างก็ร้องขอให้รัฐบาลของตนเองให้ความช่วยเหลือเช่นกัน ในระหว่างที่ยอดขายควงสว่านลงเกิน 10% ทั่วทั้งโลก

ความร้ายแรงของยอดขายที่ดิ่งลง ทำให้ โตโยต้า มอเตอร์ ซึ่งได้กำไรมายาวนานกว่า 70 ปี ต้องประกาศคาดการณ์ว่า ปีการเงินนี้ (เม.ย.2008-มี.ค.2009) จะเป็นปีแรกที่บริษัทดิ่งลงสู่ภาวะขาดทุนจากการดำเนินงาน

บรรดาผู้ผลิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะของยุโรป เอเชียและอเมริกา ต่างก็พากันปิดโรงงาน ลอยแพคนงาน เพื่อรับมือกับวิกฤตรุนแรงที่ทำให้ยอดขายเดือนท้ายๆ ของปีนี้ ดิ่งลงถึง 37 - 50% เลยทีเดียวในหลายๆ ประเทศ

ตลาดที่เคยบูมอย่างบราซิล ยังกำลังเฉาลง แม้แต่ในจีน ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่นั่นชะลอลงมากหลังจากที่เติบโตในอัตรา 20-30% ต่อปี

"ไม่มีที่ใดในอุตสาหกรรมรถยนต์โลกที่ไม่ได้รับผลกระทบ" เกร็ก เลมอส สไตน์ส นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส กล่าว

บริษัทวิจัย โกลบอล อินไซท์ ก็รายงานว่าหลังจากยอดขายลดลง 2.6 ล้านคันในปี 2008 ในปี 2009 ก็จะลดลงไปอีก 3.5 ล้านคัน ไปอยู่ในระดับราว 63.5 ล้านคัน

"เรายังลงไปไม่ถึงก้นบึ้งแห่งความย่ำแย่ และนับจากนี้ไปก็จะมีข่าวร้ายออกมาเรื่อย ๆ" รีเบคกา ลินด์แลนด์ จากโกลบอล อินไซท์กล่าว เธอบอกด้วยว่าอุตสาหกรรมรถยนต์โลกจะไม่ฟื้นตันจนกว่าจะปี 2010 เป็นอย่างเร็ว

"ในยุโรป ภาวะเศรษฐกิจจะดิ่งลงสู่การถดถอย ส่วนพวกประเทศตลาดเฟื่องฟูใหม่ก็จะเติบโตช้าลง และเราก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะหยุดชะลอตัว" ลินด์แลนด์กล่าว

ปัญหาหนักหนาสาหัสของบิ๊กทรี ทำให้พวกคู่แข่งได้โอกาส คาดหมายกันว่าโตโยต้าจะแซงจีเอ็มขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกได้อย่างชัดเจนไร้ข้อกังขากันอีก และโฟล์คสวาเกนก็เขี่ยฟอร์ดลงจากอันดับสาม

นอกจากนี้ ในปี 2008 ยี่ห้อรถหรูหราหรือที่มีเอกลักษณ์ของตนเองก็เปลี่ยนมือเจ้าของไปหลายราย อาทิ ฟอร์ดขายจากัวร์ และแลนด์โรเวอร์ รถยนต์หรูหราแบรนด์อังกฤษให้กับ ทาทา มอเตอร์ส แห่งอินเดีย ส่วน แอสตัน มาร์ตินก็กลับมาผลิตในอังกฤษอีกครั้งแต่ภายใต้การบริหารของบริษัทจีน

และตอนนี้ฟอร์ดก็กำลังมองหาลู่ทางในการขายแบรนด์ วอลโว่ ออกไป ส่วนจีเอ็มนั้นก็เสนอขาย ซาบ ออกมาแล้ว ในขณะที่เดมเลอร์ได้ยื่นเรื่องให้ทางการรัสเซียเข้าซื้อหุ้นของคามาซ บริษัทผลิตรถบรรทุก แต่เดมเลอร์ก็บอกด้วยว่าคิดจะสร้างแบรนด์รัสเซียของตนเองอยู่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสินเชื่อตึงตัวและสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงรวดเร็วก็ทำให้การซื้อขายบางสัญญาต้องล้มไป อย่างเช่นการเจรจาระหว่างจีเอ็มกับไครสเลอร์เพื่อควบรวมบริษัทกัน หรือการที่ ปอร์เช คิดจะเทคโอเวอร์ โฟล์คสวาเกน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น