xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันกลับดิ่งลงมาที่$40หลังโอเปกลดผลิต2.2ล.บาร์เรล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – บรรดารัฐมนตรีขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (เอเปก) ตกลงกันภายหลังการประชุมอันยืดเยื้อเมื่อวันพุธ(17) ให้ลดเพดานการผลิตโดยรวมของทั้งกลุ่มลงมา 2.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการหั่นลงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทว่าความเคลื่อนไหวคราวนี้ก็ไม่สามารถสกัดไมให้ราคาน้ำมันลดต่ำลงมาได้ โดยที่วานนี้(18) ยังคงวนเวียนอยู่แถวๆ ระดับ 40 ถึง 41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
รัฐมนตรีจาก 12 ประเทศสมาชิกโอเปก ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องหามาตรการเพื่อสร้างฐานราคาให้กับน้ำมันดิบให้ได้ หลังจากที่ราคาควงสว่านลงมาจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 147 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเมื่อเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา
การลดกำลังการผลิตคราวนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป โดยเป็นการเพิ่มเติมจากการลดกำลังการผลิตไปแล้ว 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมสองครั้งก่อนหน้า ซึ่งทำให้กำลังการผลิตเป้าหมายของกลุ่มลงมาเหลือ 24.845 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แต่การประกาศนี้ยังไม่ช่วยให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเลย ในทางตรงกันข้าม ราคาน้ำมันดิบในตลาดสหรัฐฯกลับร่วงลงมากกว่า 3 เหรียญมาอยู่ที่ใกล้กับระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะนักลงทุนให้ความสนใจกับการประกาศตัวเลขปริมาณน้ำมันตามคลังเก็บทั่วสหรัฐฯประจำสัปดาห์ที่แล้ว ที่ปรากฏว่าน้ำมันดิบมีสูงเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คิดเอาไว้
ทางการวอชิงตันก็ออกมากล่าวตำหนิการตัดสินใจของโอเปกที่จะทำให้น้ำมันราคาแพงขึ้น เพราะการลดกำลังผลิตครั้งที่สามนี้ได้ทำให้น้ำมันหายไปจากตลาดราว 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเกือบ 5%ของปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในโลกนี้
“โอเปกนั้นมีภาระผูกพันที่จะทำให้ตลาดมีน้ำมันใช้อย่างเพียงพอ และเมื่อพิจารณาประเด็นความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้แล้ว ความพยายามที่จะจำกัดข้อดีของราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเศรษฐกิจโลกเป็นการกระทำที่ไร้วิสัยทัศน์อันยาวไกล” โฆษกทำเนียบขาว โทนี แฟรตโต กล่าว
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกระทั่งถึงขั้นถดถอย ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น, และกระทั่ง จีน กับ อินเดีย อาจทำให้ความต้องการสินค้าของโลกลดลงไปในช่วงสองปีข้างหน้า เพราะบริษัทต่างกำลังลดการผลิตลงเนื่องจากสินค้าค้างสต๊อกเพิ่มจำนวนขึ้นมหาศาล เมื่อลดกำลังการผลิตลงความจำเป็นจะต้องใช้พลังงานก็ลดลงด้วย ทำให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงถึงสองในสามในช่วงเวลาไม่กี่เดือน และนักวิเคราะห์ก็เห็นว่าตลาดน้ำมันจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิกฤตการเงินโลกไปตลอด
“อัตรการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นกลไกขับเคลื่อนราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่โอเปกไม่สามารถจะทำอะไรได้” เป็นความเห็นของ แกรี กรอส ประธานฝ่ายบริหารของไพรา เอ็นเนอร์จี บริษัทที่ปรึกษาด้วยพลังงาน “การลดกำลังการผลิตไม่น่าจะช่วยอะไรได้ หากว่าเศรษฐกิจโลกยังคงดิ่งลงอยู่เช่นนี้”
ขณะที่ประธานโอเปกกล่าวหลังการประชุมเมื่อวันพุธว่า ทางกลุ่มจะพยายามทุกวิธีทางเพื่อให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตใหม่นี้ เพราะสมาชิกโอเปกนั้นขึ้นชื่อมากว่าแอบผลิตเกินโควตาเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ
ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ได้ลงมือทำเพื่อเป็นตัวอย่างให้เพื่อนสมาชิกอื่น ๆโดยการลดปริมาณการส่งมอบน้ำมันให้แก่ลูกค้าแม้แต่ก่อนหน้าการประกาศลดกำลังการผลิตแล้ว เพื่อดันให้ราคาน้ำมันขึ้นมาอยู่ที่75 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบาร์เรล อันเป็นระดับที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบียทรงชี้ว่ายุติธรรม
ประเทศสมาชิกโอเปกต่างไม่ต้องการเห็นราคาน้ำมันอยู่ต่ำว่า 50 ดอลลาร์ โดยเฉพาะสมาชิกอย่างอิหร่าน และเวเนซุเอลา ที่ใช้รายได้จากน้ำมันมาอัดฉีดโครงการพัฒนาประเทศที่มีราคาแพงมากมาย
ทางโอเปกเองก็เชื่อว่าการลดกำลังการผลิตนี้จะทำให้ราคากลับไปอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ได้อีกครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดีอาระเบียกล่าวว่าบรรดาผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถจะอยู่ได้หากราคาอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ในวันที่โอเปกประกาศลดเพดานการผลิตอีก 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในคราวนี้ ปรากฏว่าราคาในตลาดโลกกลับไหลรูดต่อ โดยตอนปิดตลาดวันนั้น น้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ ต่ำลงมา 3.54 ดอลลาร์ อยู่ที่ 40.06 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ของลอนดอน ก็รูดลง 1.12 ดอลลาร์ อยู่ที่ 45.53 ดอลลาร์
ต่อมาเมื่อวานนี้ ไลต์สวีตครูดมีอยู่ช่วงหนึ่งถอยมาถึง 39.19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทีเดียว จากนั้นจึงกระเตื้องขึ้น ในเวลา 12.02 น.เวลาจีเอ็มที (ตรงกับ 19.02 น.เวลาเมืองไทย) อยู่ที่ 40.71 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตอนปิดวันพุธ 65 เซ็นต์ ส่วนเบรนต์อยู่ที่ 46.38 ดอลลาร์ สูงขึ้นจากตอนปิดวันพุธ 85 เซ็นต์
กำลังโหลดความคิดเห็น