xs
xsm
sm
md
lg

หลุมดำแห่งตลาดการเงิน

เผยแพร่:   โดย: เดวิด พี โกลด์แมน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The black hole in financial markets
David P Goldman
21/11/2008

คนอเมริกันเริ่มเข้าใจแล้วว่า ระบบเศรษฐกิจของพวกตนพึ่งพิงมากเพียงใดกับสภาวะฟองสบู่ของราคาบ้านที่อยู่อาศัย การล่มสลายของระดับราคาบ้านได้นำไปสู่การล่มสลายของศักยภาพการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มผู้บริโภค พร้อมกับนำไปสู่ภาวะการว่างงานขยายตัว ซึ่งขณะเดียวกัน ยังส่งผลเป็นการบั่นทอนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ทั้งหลาย ตลอดจนทำลายมูลค่าความมั่งคั่งที่เคยทวีตัวขึ้นมาด้วย ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่า บารัค โอบามา จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกายุคสันติภาพ ผู้ซึ่งทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน เพราะเขาจะเป็นบุคคลเดียวที่ยังมีสมุดเช็คพร้อมใช้อยู่ในมือ

ปัญหาในตลาดการเงินจากสินเชื่อจดจำนองกลุ่มซับไพรม์นั้น เป็นจุดเริ่มต้น มิใช่จุดจบ ของวิกฤตการเงินโลก และด้วยตระหนักในข้อเท็จจริงดังกล่าว ตลาดทุนทั้งหลายจึงพากันพังยับเยิน เหตุใกล้ของการที่ตลาดทุนทรุดฮวบซวนเซ ดัชนีหุ้นดิ่งแตะจุดต่ำสุดนับจากทศวรรษ 1990 นั้น เป็นเรื่องของการล่มสลายในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนไปถึงการล่มสลายในพวกบริษัทประกันและพวกกองทุนเงินบำนาญ ในเวลาเดียวกัน คนอเมริกันที่ต้องพึ่งพิงกองทุนเงินบำนาญภาคเอกชน ซึ่งอาจจะถูกบริหารการลงทุนโดยฝ่ายนายจ้างหรืออาจเป็นในรูปเงินออมในบริษัทประกัน เงินบำนาญของพวกเขาล้วนต้องสูญสลายไปถ้าไม่ใช่ว่าวูบหายไปบางส่วนก็คือละลายไปทั้งหมด

นี้คือเหตุผลว่าทำไมมันจึงยากเย็นนักหนาที่จะช่วยประคองบริษัทยักษ์อย่างเยนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าพวกตนอาจอยู่ไม่รอดพ้นปีนี้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการ ปรากฏการณ์หายนะที่ระบาดทั่วตลาดการเงินจึงไม่ใช่แต่เรื่องราคาหุ้นหดหายยับเยิน หากยังมีความเสียหายย่อยยับในมูลค่าของหลักทรัพย์จำพวกพันธบัตรหุ้นกู้และอื่นๆ ที่เป็นแบบมีอัตราผลตอบแทนแน่นอน ซึ่งอยู่ในพอร์ตของพวกบริษัทประกัน ทั้งนี้ มูลค่าราคาสินทรัพย์พวกนี้พากันเหือดหายไปครึ่งต่อครึ่งในปี 2008 นอกจากนั้น มูลค่าของหลักทรัพย์ที่รองรับอยู่ด้วยสินเชื่อจดจำนองอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ กับหลักทรัพย์ทุนของแบงก์พาณิชย์หลายๆ แห่ง ก็ได้รับความเสียหายรุนแรงทั่วหน้า เช่น หุ้นบุริมสิทธิของซิตี้กรุ๊ปที่ออกมาเมื่อมีนาคม ปรากฏว่ามีราคาลดเหลือแค่ครึ่งเดียว ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ปัญหาในขณะนี้กลายเป็นวัฏจักรแห่งหายนะ การล่มสลายในมูลค่าของหุ้นและสินเชื่อได้ทำลายมูลค่าในกองทุนเงินบำนาญของภาคเอกชน พร้อมกับบีบบริษัทธุรกิจต่างๆ ที่มีแผนสวัสดิการและผลตอบแทนพนักงานจำนวนรวมกว่า 20 ล้านคน ให้ต้องผันผลกำไรไปยังกองทุนเงินบำนาญของบริษัท ในทางกลับกัน ความเสียหายในด้านสินเชื่อของบริษัทประกัน ก็เป็นหารทำลายแหล่งที่มาหลักของสินเชื่อระยะยาว

สเปรดของหลักทรัพย์ที่รองรับด้วยสินเชื่อจดจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เกรด AAA

สินเชื่อจดจำนองอสังหาฯ มูลค่าประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ ถูกจัดแพ็กเก็จลงเป็นพันธบัตร ซึ่งมีบริษัทประกันและกองทุนเงินบำนาญเป็นเจ้าของหลัก ขณะที่มูลค่าของอสังหาฯ ย่อยยับหายไป ราคาหุ้นของบริษัทอสังหาฯ ก็ทรุดฮวบสาหัสลงไปมากกว่าสองในสามในช่วงระหว่างวันที่ 20 กันยายน ถึง 20 พฤศจิกายน ส่วนราคาหุ้นแบงก์ก็ดิ่งไปร่วมๆ ครึ่งต่อครึ่ง

ดัชนีกลุ่มประกันชีวิตและประกันสุขภาพบนกระดาน S&P 500

สิ่งที่น่าวิตกและต้องจับตาใกล้ชิดมากกว่าเรื่องราคาหุ้นที่ดิ่งนรก ก็คือการทรุดดิ่งในระดับความน่าเชื่อถือของกลุ่มบริษัทประกันรายใหญ่ยักษ์ระดับแถวหน้าที่สุดของสหรัฐฯ เช่น ที่ผ่านมาต้นทุนในการซื้อความคุ้มครองสินเชื่อระยะ 5 ปีของกลุ่มฮาร์ทฟอร์ด อยู่ที่ระดับสูงกว่า 10% เหนืออัตราอ้างอิงลอนดอนอินเตอร์แบงก์เรททีเดียว

ต้นทุนการซื้อความคุ้มครองระยะ 5 ปี ของฮาร์ทฟอร์ด ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส (เบซิสพอยท์เหนืออัตราลอนดอนอินเตอร์แบงก์เรต)

เช่นเดียวกัน ในกรณีของสินเชื่อตลาดซับไพรม์ มากกว่าหนึ่งในสามถูกจัดเกรดไว้ในกลุ่มล้มละลาย ทั้งนี้ ข่าวจากบลูมเบิร์กรายงานถึงผลการวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตและโอกาสการเพิ่มมูลค่าในสินทรัพย์ของสินเชื่อกลุ่มอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ ว่าการวิเคราะห์ชี้ออกมาในกลุ่ม “มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง” นอกจากนั้น บลูมเบิร์กรายงานข่าวด้วยว่าเงินกู้มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์จำนวน 2 ดีลที่ให้แก่บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในอริโซนาและแคลิฟอร์เนีย ถูกจัดชั้นไว้ที่ระดับใกล้ล้มละลาย ข่าวเหล่านี้จุดชนวนให้เกิดการเทขายหลักทรัพย์ที่หนุนหลังโดยสินเชื่อจดจำนองกลุ่มอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์กันแบบระลอกใหญ่ สินเชื่อเหล่านี้ (ตลอดจนอื่นๆ อีกมากมาย) ให้ตัวเลขประมาณการการขยายตัวของรายได้ผู้กู้ไว้สูงถึงระดับเลขสองหลัก จนทำให้สินเชื่อพวกนี้น่าเคลือบแคลงใจพอๆ กับพวกสินเชื่อเน่าในตลาดสินเชื่อจดจำนองกลุ่มที่อยู่อาศัย

คนอเมริกันเริ่มเข้าใจแล้วว่าระบบเศรษฐกิจของพวกตนพึ่งพิงเพียงใดกับภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัย ศูนย์สรรพสินค้าต่างๆ ทำรายได้มหาศาลจากการขายสินค้าแก่ผู้บริโภคที่มีภาระหนี้มากขึ้นเพราะการที่ราคาที่อยู่อาศัยเฟื่องเฟ้อทำให้พวกผู้บริโภคเหล่านี้รู้สึกว่าตนมีทรัพย์สินมั่งคั่งมากขึ้นนั่นเอง อาคารสำนักงานทั้งหลายต่างเต็มไปด้วยพนักงานที่นำอสังหาฯ ไปขาย / นำสินเชื่อจดจำนองไปทำรีไฟแนนซ์ / หารายได้จากการเทรดหลักทรัพย์ที่หนุนอยู่ด้วยสินเชื่อจดจำนอง ในการนี้ ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ เฟื่องฟูอยู่ด้วยการซื้อสินค้าราคาถูกจากจีน และกู้ยืมเงินกลับมาจากจีนผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาล พร้อมกับใช้เงินนั้นซื้อบ้านไว้เก็งกำไรโดยที่ราคาบ้านก็ไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการนี้เป็นการเร่งขยายความรุนแรงของปัญหา

การล่มสลายของราคาบ้านที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ นำไปสู่การล่มสลายในอำนาจซื้อที่ผู้บริโภคเคยมีมหาศาล ซึ่งในเวลาไม่นานนี้ย่อมจะนำไปสู่ภาวะการว่างงานพุ่งสูง พร้อมกับส่งผลไปสู่การบั่นทอนมูลค่าของอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ และอื่นๆ ต่อเนื่องอีกมากมาย

ในเมื่อขณะนี้ราคาของสินทรัพย์ในสหรัฐฯ ได้ถดถอยลงสู่ระดับต่ำสุดๆ อย่างที่ไม่เคยได้เห็นกันมาตั้งแต่เมื่อปี 1997 คำถามที่เหมาะสมในยามนี้คือความสามารถในการสร้างกำไรของภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจอเมริกันยังแข็งแกร่งดั่งที่ตลาดเสมือนว่าจะคิดอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ในช่วงบูมของหุ้นไฮเทคเมื่อปลายทศวรรษ 1990 ตลาดเคยเต็มใจที่จะซื้อหุ้นที่ไม่มีประวัติการทำกำไรมาก่อนได้ แต่พอมาในทศวรรษ 2000 นักลงทุนหันมาคุ้นชินกับการลงทุนในหุ้นที่โอ้อวดถึงศักยภาพการทำกำไรสูงลิ่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำไรจากธุรกิจการเงินซึ่งอ้างกันว่ามีสัดส่วนมากถึงประมาณ 40% ของผลกำไรทั้งหมดในภาคเอกชน แต่แล้วตัวเลขจริงกลับปรากฏออกมาว่ามันเป็นภาพลวงตาอย่างมหาศาล

ผลตอบแทนหุ้นในตลาดอเมริกันในช่วงระยะยาวมากๆ นั้นดูเหมือนว่าจะน่าผิดหวัง นักลงทุนที่ซื้อหุ้นในกลุ่ม S&P 500 เมื่อปี 1950 แล้วขายออกไป ณ วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีแท้จริงที่ระดับเพียง 2% หลังหักภาษีกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์ (ไม่นับรายได้เงินปันผล) ส่วนนักลงทุนที่ซื้อในช่วงหุ้นบูมสูงสุด ณ ทศวรรษ 1960 และขายออกไปเมื่อ 20 พฤศจิกายน จะทำได้แค่คุ้มทุน (ตัวเลขหล้งหักส่วนต่างเงินเฟ้อและภาษีแล้ว)

ชาร์ตข้างล่างนี้แสดงให้เห็นผลตอบแทนต่อปีแบบผสมผสานที่นักลงทุนจะได้รับจากการซื้อหุ้นกลุ่ม S&P 500 ในแต่ละวันที่ที่แสดงไว้ในชาร์ต และขายออกไป ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน

โดยสรุปแล้ว คนอเมริกันได้ค้นพบความจริงแล้วว่า สิ่งที่พวกตนคิดว่าเป็นมูลค่าสุทธิที่มีความมั่นคง (สินทรัพย์อสังหาฯ และพอร์ตหุ้น) แท้จริงแล้วกลับไม่มีสิ่งนั้นอยู่เลย พร้อมกับยังค้นพบความจริงด้วยว่าหลักประกันอย่างเงินบำนาญ และการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพนั้น มีความมั่นคงน้อยกว่าที่เคยคิดไว้มาก แรงความตกใจได้บีบคั้นให้เกิดการพลิกพฤติกรรมของคนอเมริกันได้อย่างปุบปับ โดยเป็นการพลิกไปสู่รูปแบบของการออมที่เน้นการป้องกันความเสี่ยงแบบสุดสุด ซึ่งนั่นเป็นคำอธิบายว่าทำไมระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงวูบเหมือนดิ่งตกหน้าผาเมื่อเดือนตุลาคม

พันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เป็นทรัพย์ประเภทเดียวในสหรัฐฯ ที่ยังมีศักยภาพดึงดูดเงินลงทุนได้อย่างที่ตราสารอื่นๆ ไม่อาจแข่งได้ ดังนั้น การที่ผู้คนแห่ไปสู่การออมแบบเน้นการป้องกันความเสี่ยงอย่างสุดขั้ว จึงขับเคลื่อนให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลพุ่งขึ้นสูงด้วยอัตราเพิ่มมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์อเมริกัน คือมากกว่า 8 จุดสำหรับพันธบัตรประเภท 30 ปี แนวโน้มนี้น่าจะขยายตัวไปเป็นกลยุทธ์ในทางระหว่างประเทศด้วย ซึ่งจะทำให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างเหลือล้น จนยีลด์จากพันธบัตรลดต่ำได้แม้กระทั่งว่าฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลอเมริกันอยู่ในภาวะติดลบรุนแรงแบบทำลายทุกสถิติในประวัติศาสตร์ โดยมีแนวโน้มจะแตะยอดขาดดุลงบประมาณมหาศาลถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงปีปฏิทิน 2009 นี้

การขายสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงเพื่อไปหาที่พักพิงในสินทรัพย์กลุ่มปลอดภัย ตลอดจนการโยกย้ายจากการบริโภคสู่การออม จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าคนอเมริกันจะสามารถฟื้นฟูทรัพย์ที่สูญหายกลับมาได้บ้าง หากวิเคราะห์บนสมมุติฐานที่ว่ารายได้ของผู้คนจะตกต่ำลง (ผ่านอัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นและการปรับลดอัตราค่าตอบแทนแรงงาน) คนอเมริกันจะต้องว่ายทวนน้ำเพื่อซ่อมแซมปัญหาในงบดุลของครัวเรือน นั่นหมายถึงว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยอย่างปวดร้าวกันนานทีเดียว โดยอาจร้ายกาจยิ่งกว่าเมื่อวิกฤตช่วงปี 1979-1982 ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคปฏิรูปของโรนัลด์ เรแกน

ว่าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นบุคคลเดียวในเมืองที่ยังมีสมุดเช็ค กับมีความจุดแข็งจากการที่กระทรวงการคลังยังมีอำนาจทางการเงินที่เกือบจะผูกขาดเจ้าเดียว โอบามาจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในฐานะของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกายุคสันติภาพ ผู้ซึ่งทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน ขณะที่ต้องเผชิญกับความล่มสลายในจุดต่างๆ ตั้งแต่กองทุนเงินบำนาญภาคเอกชน ไปจนถึงระบบการเงิน และระบบเงินออมกับระบบประกันสุขภาพ โอบามาจะอยู่ในฐานะที่สมเหตุสมผลที่สุดที่จะใช้อำนาจในมือเพื่อสร้างระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล การจัดการเงินบำนาญ และแง่มุมอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ระบบเศรษฐกิจอเมริกันในกาลข้างหน้าอาจพลิกโฉมไปจนแทบจะจำหน้ากันไม่ได้เลยเชียว

เดวิด พี โกลด์แมน เป็นหัวหน้าทีมวิจัยตราสารประเภทกำหนดผลตอบแทนตายตัว โกลด์แมนดูแลการวิจัยตลาดโลกให้แก่บริษัทหลักทรัพย์แบงก์ออฟอเมริกาซีเคียวริตีส์ และเป็นหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์สินเชื่อดูแลการวิจัยตลาดโลกให้แก่เครดิต สวิส
กำลังโหลดความคิดเห็น