xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กทรี” ยื่นแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ วอนรัฐสภาช่วยอุตฯรถยนต์นับ $หมื่น ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซี – “บิ๊กทรี” ยักษ์ใหญ่รถยนต์สหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (2) เผย แผนปรับโครงสร้างและปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่ ในกระบวนการร้องขอเงินกู้นับหมื่นล้านดอลลาร์จากรัฐสภาอเมริกัน เพื่อช่วยชีวิตพวกเขามิให้ต้องประสบภาวะล้มละลาย

ฟอร์ด, ไครสเลอร์ และ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เปิดเผยข้อเสนอของพวกตนออกมา ก่อนหน้ากำหนดนัดหมายพิจารณาของทางรัฐสภาในวันพฤหัสบดี (4) และศุกร์ (5) นี้ โดย “บิ๊กทรี” แห่งดีทรอยต์ ต่างให้คำมั่นผ่านแผนว่า จะลดความเทอะทะรวมทั้งปรับปรุงบริษัทให้เข้มแข็งกว่าเดิมเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ฟอร์ด มอเตอร์ โค เสนอขอเงินกู้จากทางการจำนวน 9,000 ล้านดอลลาร์ มาใช้เป็นเงินทุนฉุกเฉิน โดยจะปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ซึ่งจะทำให้บริษัทกลับมาทำกำไรอีกครั้งในปี 2011

ส่วน จีเอ็ม ร้องขอเงินกู้ 18,000 ล้านดอลลาร์ และให้สัญญาว่าจะจ่ายคืน 12,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2012 รวมทั้งจะทบทวนนโยบายการผลิตรถแบรนด์ “ซาบ” และ “แซทเทิร์น” เสียใหม่ และหันมาเน้นยี่ห้อรถที่เป็นสินค้าหลักมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ในแผนปรับโครงสร้างก็ยังกล่าวว่าจะปลดคนงาน 31,500 ตำแหน่งด้วย

ไครสเลอร์ กล่าวกับบรรดาสมาชิกรัฐสภาทั้งหลายว่าต้องการเงินช่วยเหลือ 7,000 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะทำให้บริษัทได้อยู่รอดจากวิกฤตสินเชื่อที่ลากให้เศรษฐกิโลกตกต่ำลงในขณะนี้ และทำให้ความต้องการรถขนาดใหญ่ทั่วโลกมลายหายไป

รัฐสภาสหรัฐฯกำหนดเส้นตายสำหรับผู้นำบิ๊กทรีให้ส่งแผนฟื้นฟูธุรกิจของตนเองแลกกับการได้เงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 25,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันมิให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯต้องประสบภาวะล้มละลาย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คนงานราวสามล้านคนในอุตสาหกรรมนี้จะต้องตกงานทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตรถยนต์ทั้งหลาย

แผนของฟอร์ดนั้นจะประกอบด้วยการเจรจากับสหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนคนงานของตนเอง เพื่อจะได้ตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงอีก และจะลงทุน 14,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 7 ปีข้างหน้าเพื่อปรับปรุงสมรรถนะในการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

หากว่าแผนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟอร์ด อลัน มูลัลลี จะได้รับค่าตอบแทนหนึ่งดอลลาร์ต่อปี “ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของเขาต่อแผนปรับเปลี่ยนความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและอนาคตของบริษัท”

นอกจากนี้ ฟอร์ดก็ยังเสนอขายเครื่องบินของบริษัท 5 ลำออกไปด้วย “ฟอร์ดร้องขอเม็ดเงิน 9,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นเงินหมุนชั่วคราว และฟอร์ดก็เคยเน้นเสมอมาว่าจะปรับปรุงโครงสร้างองค์กรมาก่อนหน้าที่จะขอเงินกู้แล้ว แต่ตอนนี้บริษัทต้องการให้รัฐสภาช่วยอนุมัติเงินกู้เพื่อประคองการดำเนินงานเอาไว้” บริษัทรถยนต์อันดับสองของสหรัฐฯกล่าว

นอกจากนี้ ฟอร์ด ก็ยังชี้ว่า สถานการณ์ของตนเองไม่เหมือนจีเอ็มหรือไครสเลอร์ เพราะบริษัทไม่คาดว่าจะขาดแคลนเงินทุนในปีหน้า แต่จำเป็นต้องได้เม็ดเงินมาในกรณีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายลงไปอีก

“เราเข้าใจถึงความกังวลของรัฐสภาเกี่ยวกับความสามารถที่จะดำเนินงานในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้” มูลัลลี กล่าว

ส่วน เจนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งเตือนก่อนหน้านี้ว่าอาจจะประสบภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงในราวเดือนมกราคม ก็ได้นำเสนอว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มการทำตลาดในสหรัฐฯในยี่ห้อรถหลักของบริษัท ซึ่งได้แก่ เชฟโรเลต, คาดิลแล็ค, บูอิค และ จีเอ็มซี

จีเอ็มร้องขอเงิน 12,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อครอบคลุมรายจ่ายด้านการดำเงินตลอดทั้งปี 2009 รวมทั้งร้องขอสินเชื่อพิเศษอีก 6,000 ล้านดอลลาร์ “ไว้เป็นสภาพคล่องต่อไปหากว่าตลาดยังคงย่ำแย่ต่อไปอีก”

จีเอ็ม กล่าวว่า จะให้จ่ายเงินคืน 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯได้ภายในปี 2012 หากว่ายอดขายรถรวมของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 12 ล้านคันต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนลดคนงานให้เหลือ 65,000-75,000 คนในสหรัฐฯภายในปี 2012 จากที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน 96,537 คน และลดโรงงานในสหรัฐฯลงเหลือ 38 ในปี 2012 แห่ง จาก 47 ในปีนี้

ส่วน ไครสเลอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เล็กที่สุดในบิ๊กทรีร้องขอเงินสดฉุกเฉิน 2,500 ล้านดอลลาร์ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ หากว่าไม่เงินจำนวนนี้ สภาพคล่องของไครสเลอร์จะลดลงต่ำเสียจนทำให้บริษัทอาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในไตรมาสที่หนึ่งของปีหน้า และบริษัทก็ต้องการเงินกู้ 7,000 ล้านดอลลาร์ก่อนสิ้นปีนี้เช่นกันเพื่อที่บริษัทจะได้ปรับโครงสร้างเดินหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤตอันร้ายแรง

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน “บิ๊กทรี” แห่งดีทรอยต์ ได้พยายามมาแล้วครั้งหนึ่งขอให้รัฐสภาอนุมัติแผนการช่วยชีวิตอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ แต่ปรากฏว่าทางรัฐสภาโดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นพรรครีพับลิกัน แสดงท่าทีเย็นชา รวมทั้งสาธารณชนอเมริกันก็ไม่พอใจกันมาก หลังสื่อรายงานว่าพวกผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แม้มุ่งมาขอเงินภาษีอากรของประชาชน แต่ก็เดินทางมาที่กรุงวอชิงตันด้วยเครื่องบินไอพ่นอันหรูหราของบริษัท

พวกพรรคเดโมแครตซึ่งอยากจะให้ช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ โดยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือพวกคนงานและสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค จึงหาทางออกด้วยการให้พวก “บิ๊กทรี” กลับไปจัดทำข้อเสนอให้ชัดเจนว่า พวกตนจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้อย่างไร หลังได้รับความช่วยเหลือจากทางการแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น