xs
xsm
sm
md
lg

แผนอุ้ม"ซิตี้กรุ๊ป"ทำรัฐบาลสหรัฐฯถูกวิจารณ์เละเทะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซี - แผนอุ้ม "ซิตี้กรุ๊ป"ที่ประกาศออกมาเมื่อคืนวันอาทิตย์(23) ทำให้กิจการธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งนี้รอดพ้นจากภาวะล่มสลายได้อย่างฉิวเฉียด รวมทั้งส่งผลผลักดันตลาดการเงินสหรัฐฯให้คึกคักขึ้นอย่างมหาศาล แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็กำลังสร้างความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเคลื่อนไหวคาดการณ์ล่วงหน้าได้ก่อนการขยับตัวของวิกฤตสินเชื่อ

การประกาศอุ้มซิตี้กรุ๊ปคราวนี้ ออกมาก่อนจะถึงเวลาเที่ยงคืนเพียงเล็กน้อย ภายหลังเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงกับธนาคารที่ยังคงใหญ่เป็นอันดับสองของอเมริกาหากคำนวณจากจำนวนสินทรัพย์แห่งนี้ ซึ่งราคาหุ้นได้ลดต่ำตกฮวบอย่างมหาศาลในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

ตามข้อตกลงนี้ กระทรวงการคลังจะอัดฉีดเม็ดเงินทุน 20,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปในซิตี้กรุ๊ป แลกกับการได้ถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้คิดเป็นจำนวน 8% นอกจากนั้นรัฐบาลยังจะเข้าค้ำประกันการขาดทุนในตราสารหนี้ที่อิงอยู่กับสินเชื่อเคหะและสินทรัพย์อื่น ๆเป็นเงินสูงถึง 306,000 ล้านดอลลาร์

ซิตี้กรุ๊ปจะออกหุ้นบุริมสิทธ์มูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่กระทรวงการคลัง และบรรษัทรับประกันเงินฝากสหรัฐฯ(เอฟดีไอซี) โดยถือเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ทางการที่เข้ามาค้ำประกันการขาดทุนในพอร์ตสินทรัพย์ให้

นอกจากนั้น หากเกิดการขาดทุนขึ้นมาจริงๆ เงื่อนไขของข้อตกลงคราวนี้ระบุว่า ซิตี้จะต้องเป็นผู้แบกรับก่อนในวงเงิน 29,000 ล้านดอลลาร์ แต่การขาดทุนใด ๆที่พ้นจากจำนวนดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯจะรับภาระ พูดอย่างคร่าวๆ ก็คือ ซิตี้จะเข้ารับการขาดทุนใน 10% แรก และอีก 90% จะเป็นหน้าที่ของทางการ

ภายหลังข่าวเรื่องข้อตกลงนี้แพร่ออกมา ราคาหุ้นของซิตี้ที่ร่วงลงทุกทีๆ จนสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็กลับสามารถพุ่งขึ้น 57.8% มาปิดวันจันทร์(24)ที่หุ้นละ 5.95 ดอลลาร์ นอกจากนั้นข่าวนี้ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้นวอลสตรีทและตลาดอื่น ๆทะยานขึ้นไปด้วย

ไบรอัน เบธูน นักเศรษฐศาสตร์ที่ไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ ให้ความเห็นว่า แผนอุ้มซิตี้คราวนี้ ถือเป็นการขยายขอบเขตใหม่ โดยเป็นการเพิ่มระดับขึ้นไปจากเดิมมาก ในเรื่องความช่วยเหลือจากรัฐบาลในแบบอิงอยู่กับการพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

เบธูนเห็นว่าแม้แผนนี้จะทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดแง่มุมใหม่ที่ต้องพิจารณาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

เขาชี้ว่าคำถามฉกาจฉกรรจ์ที่สุดก็คือ ทำไมรัฐบาลจึงไม่ซื้อซิตี้กรุ๊ปไปทั้งหมดเสียเลย ซึ่งถ้าเข้าซื้อตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ก็จะใช้เงินเพียง 25,000 ล้านดอลลาร์ แต่นี่กลับใช้วิธีอัดฉีดเงินทุนเข้ามาอีก 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อรวมกับ 25,000 ล้านดอลลาร์ ที่ได้ให้แก่ซิตี้กรุ๊ปพร้อมๆ กับที่ได้จัดสรรให้แก่ธนาคารยักษ์ใหญ่อื่นๆ เมื่อไม่นานมานี้ ก็หมายความว่า รัฐบาลอัดฉีดฐานเงินทุนให้ซิตี้กรุ๊ป 45,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกหลายคนก็เห็นว่าแม้การออกหุ้นใหม่ให้ทางการ ซึ่งเท่ากับจะทำให้หุ้นที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องมีมูลค่าลดลงไปตามส่วน แต่ข้อตกลงคราวนี้ก็ยังคงรักษาซิตี้เอาไว้ได้และถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนอยู่บ้าง

"หากปล่อยให้ซิตี้ซึ่งงบดุลบัญชีมีตัวเลขสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ล้มครืนไปเลย จะยิ่งทำให้เกิดความหายนะขึ้นในระบบการธนาคารทั่วโลก" เฟด ดิคสัน จาก ดีเอ เดวิดสัน แอนด์ โคกล่าว

"รัฐบาลต้องการทำให้แน่ใจว่าซิตี้จะไม่ล้มครืนลงมา ราคาที่ผู้ถือหุ้นของซิตี้ต้องจ่ายนั้นยังถือว่าสูงมาก แม้ว่าจะเสียหายน้อยกว่าผู้ถือหุ้นของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ก็ตามที เพราะผู้ถือหุ้นของสถาบันสินเชื่อการเคหะทั้งสองถูกรัฐบาลริบเอาบริษัทไปเป็นของรัฐทั้งหมด และทำให้ราคาหุ้นหายวับไปกับตา" ดิคสันแจกแจง

แต่นักวิเคราะห์อีกหลายคนก็มองว่า นี่คือการสร้างตัวอย่างสร้างมาตรฐานใหม่ที่เป็นอันตรายระยะยาว และก็อาจยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ระบบการธนาคารที่กำลังย่ำแย่ให้พลิกฟื้นขึ้นมาได้

"การเข้าอุ้มซิตี้มีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐบาลขาดทุนถึง 277,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว เนื่องจากซิตี้สามารถที่จะดำเนินการเพียงแค่ "พลิกฟื้น" มูลค่าของสินทรัพย์เน่าสักเพียง 10% เท่านั้นก็พอแล้ว และนั่นย่อมจะทำให้การขาดทุนของรัฐบาลทบทวีขึ้น" ปีเตอร์ โคฮัน ศาสตราจารย์จากแบ็บสัน คอลเลจ กล่าว

"ระบบทุนนิยมโดยไม่มีการล้มละลายแบบนี้ มันก็มากเกินไปหน่อย" แบร์รี ริซโฮลท์ซจากบริษัทวิจัย ฟิวชั่นไอคิว ให้ความเห็น

"แล้วแนวคิดเรื่องคุ้มครองผู้เสียภาษีล่ะหายไปที่ไหนแล้ว และแนวคิดเรื่องการปรับฐานสร้างสิ่งใหม่จากสิ่งที่แตกสลายไปแล้วเพื่อความแข็งแกร่งล่ะไปไหนกันหมด มันก็เหมือนกับพวกปัญญาอ่อนที่ซื้อขยะมูลค่าสามแสนล้านดอลลาร์มา แล้วทางการก็ไล่ตามเอาเงินไปช่วยจ่ายให้เป็นส่วนใหญ่ อย่างนี้ความยุติธรรมมันอยู่ที่ไหนกันล่ะ" ริซโฮลท์ซ วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน

แน่นอนว่ายังมีนักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ที่เห็นว่า แผนอุ้มของรัฐบาลนั้นคุ้มค่าเพราะว่านอกจากจะปกป้องภาคการเงินสหรัฐฯที่ยังเปราะบางอยู่แล้ว ก็ยังทำให้ในไม่ช้าซิตี้จะเข้มแข็งขึ้นเพราะว่าเอาพวกสินทรัพย์เน่าออกไปหมดแล้ว และวิธีการนี้ก็น่าจะนำไปใช้กับธนาคารอื่นๆที่เจอกับการขาดทุนมหาศาลอยู่ในเวลานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น