เอเอฟพี - ซิตี้กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ธนาคารสหรัฐฯที่เป็นบริษัทแม่ของ "ซิตี้แบงก์" ออกมายืนยันวันอังคาร(18)ว่า ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าธุรกิจในย่านเอเชีย-แปซิฟิกต่อไป แม้ว่าจะเพิ่งประกาศลดตำแหน่งงานมากกว่า 50,000 ตำแหน่งในทั่วโลก เพื่อเพิ่มความรัดกุมในการรับมือกับวิกฤตทางการเงิน ตลอดจนผลประกอบการที่ขาดทุนหนักหนาสาหัส
ตามแผนการลดพนักงานจำนวนมหึมาที่ประกาศเมื่อวันจันทร์(17)คราวนี้ ตำแหน่งงานในย่านเอเชีย-แปซิฟิกก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ริชาร์ด เทสวิช โฆษกของซิตี้บอก แต่มิได้ให้รายละเอียดว่าเป็นจำนวนเท่าใด
เขากล่าวแต่เพียงว่า "เรากำลังปรับให้ธุรกิจของเราให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างผลิตผลให้มากขึ้นในภาวะตลาดที่ยากลำบากในปัจจุบัน ผลก็คือทำให้ตำแหน่งงานบางอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป และบางตำแหน่งก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องมี"
"เราคาดว่าจำนวนพนักงานในภูมิภาคนี้โดยรวมจะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกต่อไป รวมทั้งจะมีการจ้างงานเพิ่มในบางตำแหน่งโดยเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น" เทสวิชชี้
บรรดานักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการเงินคาดการณ์ว่า การลดการจ้างงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกน่าจะไม่มากนัก เพราะเป็นเขตที่ยังมีความสามารถในการทำกำไรให้แก่ซิตี้กรุ๊ปสูงกว่าเขตอื่น ๆ
เมื่อวันจันทร์ ซิตี้กรุ๊ปออกมาแถลงว่าจะลดตำแหน่งงานลง 50,000 ตำแหน่งทั่วโลก เพราะว่าบริษัทต้องรัดเข็มขัดเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินที่กำลังดำเนินไปขณะนี้ ตลอดจนผลประกอบการที่ขาดทุนสาหัส
แหล่งข่าวในบริษัทกล่าวว่าการลดตำแหน่งงานคราวนี้ จะอยู่ในหลายรูปแบบ เช่นการขายธุรกิจออกไป ปล่อยให้พนักงานลาออกหรือเกษียณอายุโดยไม่จ้างเพิ่ม บวกกับการปลดพนักงานโดยตรงด้วย
ในคำแถลงต่อพนักงานของบริษัท วิกรัม บัณฑิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของซิตี้บอกว่า จากนโยบายลดตำแหน่งงานคราวนี้ คาดหมายว่าจะทำให้จำนวนพนักงานของซิตี้ลดลงราว 20% เมื่อเทียบกับช่วงที่มีการว่าจ้างงานสูงสุดในไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว ที่มีจำนวนพนักงานทั่วโลกเท่ากับ 375,000 คน
ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวนตำแหน่งงานของธนาคารยักษ์ใหญ่สหรัฐฯแห่งนี้ก็ลดลงแล้ว โดยเหลือ 352,000 ตำแหน่ง และการลดตำแหน่งงานครั้งใหม่จะทำให้บริษัทเหลือพนักงานทั่วโลกราว 300,000 คน
การประกาศของซิตี้กรุ๊ปคราวนี้ นับเป็นการลดจำนวนพนักงานมากสุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ จากข้อมูลของ แชลเลนเจอร์, เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเรื่องการว่าจ้างระบุว่า การลดจำนวนพนักงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นั้นทำโดยไอบีเอ็มในปี 1993 โดยมีการลอยแพคนงานไปถึง 60,000 ตำแหน่ง
ซิตี้กรุ๊ปนั้นเผชิญหน้ากับการขาดทุนมหาศาลในปีนี้ โดยในช่วงไตรมาสสามได้ขาดทุนเพิ่มอีก 2,800 ล้านดอลลาร์ และยังถูกซ้ำเติมจากราคาหุ้นที่ดิ่งลงตลอดมา ซึ่งทำให้บริษัทต้องเดินหน้า "ปรับความแข็งแกร่งให้รวดเร็วที่สุด" โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ลง และจะสามารถลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆลงได้ราว 20% ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้รายจ่ายทั้งหมดลดลงมาเป็น 50,000-52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2009
อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ที่ซิตี้ทำมาอย่างต่อเนื่องยังไม่สามารถทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในธนาคารเพิ่มขึ้น ในวันจันทร์ ราคาหุ้นดิ่งลงอีก 6.62% ลงมาปิดที่ 8.89 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น หลังจากที่ร่วงลงมาแล้วถึง 24% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ราคาหุ้นที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ซิตี้กรุ๊ปซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯหล่นจากบัลลังก์ลงมา และนักลงทุนก็เริ่มสงสัยว่าซิตี้จะจะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับธนาคารวาโคเวีย ตลอดจนเอไอจีหรือไม่
กระนั้นก็ดี นักวิเคราะห์เห็นว่าซิตี้นั้นเข้าข่าย "ใหญ่เกินกว่าที่จะถูกปล่อยให้ล้ม" เพราะหากล้มลงจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ และดังนั้นก็จะทำให้ทางการต้องรีบเข้ามาช่วยเหลือ อย่างเช่นอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้ามาเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของหุ้นส่วนใหญ่ของธนาคารแห่งนี้
นอกจากนี้ธนาคารก็น่าจะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงทีมบริหารจัดการใหม่ ตลอดจนน่าจะมีการขายสินทรัพย์ออกไปเพื่อทำให้สถานะการเงินของบริษัทมั่นคงขึ้น
เมื่อวันศุกร์(14)ที่ผ่านมา ซิตี้กรุ๊ปประกาศว่าบัณฑิตและผู้บริหารระดับสูงอื่น ๆของธนาคารได้ซื้อหุ้นของซิตี้กรุ๊ปเพิ่มอีก 1.3 ล้านหุ้น เพื่อแสดงความเชื่อมั่นต่ออนาคตของทางธนาคาร รวมทั้งซิตี้กรุ๊ปยังได้ออกมากล่าวว่า สถานะด้านเงินทุนของซิตี้ยังคงแข็งแกร่งมาก และเท่าที่ผ่านมาได้ลดปริมาณ "สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไปเป็นจำนวนมาก"แล้ว
ซิตี้เป็น 1 ใน 9 ธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ตกลงจะให้รัฐบาลสหรัฐฯเข้าถือหุ้นเพื่อแลกกับเม็ดเงินอัดฉีดทั้งหมด 125,000 ล้านดอลลาร์ ที่มาจากโครงการกอบกู้ช่วยชีวิตภาคการเงินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้ซิตี้ได้เม็ดเงินราว 25,000 ล้านดอลลาร์