xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลสหรัฐฯ ปรับแผนช่วยชีวิต AIG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โลโก้เอไอจี
เอเจนซี - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงวานนี้ (10) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะเข้าซื้อหุ้นเป็นจำนวน 40,000 ล้านดอลลาร์ ในอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) ที่เคยมีฐานะเป็นกลุ่มบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งเป็นบริษัทแม่ของเอไอเอ ในประเทศไทย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแพกเกจช่วยชีวิตฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ล่าสุด

แพกเกจใหม่จะทำให้เฟดสามารถตัดลดเงินอัดฉีดช่วยเหลือที่ปล่อยให้แก่เอไอจีลงเหลือ 60,000 ล้านดอลลาร์ จากที่เดิมให้ไว้ทั้งสิ้น 85,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อครั้งที่จัดทำแผนการกู้ชีพยักษ์ใหญ่ประกันภัยแห่งนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากนั้น คำแถลงของเฟดเมื่อวานนี้ยังระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ตกลงที่จะลดอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ที่ให้เอไอจีลงมา อีกทั้งจะจัดตั้งเครื่องมือทางการเงิน 2 ตัว เพื่อเข้าซื้อตราสารสินเชื่ออิงอยู่กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากไอเอจี และตราสารหนี้ CDOs ซึ่งเอไอจีใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการทำสัญญาสวอปเครดิตดีฟอลต์กับพวกลูกค้า

"กระทรวงการคลังสหรัฐฯ...จะซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ที่เอไอจีจะออกมาใหม่เป็นจำนวน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้โครงการช่วยเหลือลดทอนสินทรัพย์ที่ประสบปัญหา (Trobled Asset Relief Program)" เฟดระบุ

"การซื้อคราวนี้จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถลดยอดรวมของเงินกู้ที่อาจนำมาใช้ได้ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยธนาคารกลางสหรัฐฯสาขานิวยอร์กเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2008 จากจำนวน 85,000 ล้านดอลลาร์ เหลือ 60,000 ล้านดอลลาร์"

ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้เงินกู้มูลค่า 85,000 ล้านดอลลาร์แก่เอไอจี ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องและขาดทุนอย่างรุนแรงจนราคาหุ้นร่วงลงมาอย่างหนักและหลุดจากตำแหน่งบริษัทประกันใหญ่ที่สุดในโลกไปเมื่อ 2-3 เดือนก่อน นอกจากนี้การถูกลดอันดับความน่าเชื่อลงก็ทำให้บริษัทต้องนำเอาเงินเม็ดมหาศาลไปอุดการขาดทุนในตราสารอนุพันธ์สินเชื่อต่างๆ ซึ่งซ้ำเติมสถานการณ์ของบริษัทเพิ่มขึ้นไปอีก

ภายหลังรัฐบาลก็ได้ให้เม็ดเงินแก่เอไอจีเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้เม็ดเงินที่บริษัทได้รับสูงถึง 123,000 ล้านดอลลาร์

สำหรับมาตรการเงินกู้ใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยมิให้เงินสดไหลออกจากบริษัท และทำให้เอไอจีหายใจได้สะดวกมากกว่าเดิมในขณะที่กำลังจะขายทรัพย์สินเพื่อนำเอาเงินมาใช้รัฐบาล แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่าง ๆในการกู้ยืมแล้ว รัฐบาลก็ดูจะยังคงถือหุ้นเกือบ 80% ของเอไอจีอยู่ดี

ทั้งนี้เงินกู้ฉุกเฉิน 85,000 ล้านดอลลาร์ที่มีอายุ 2 ปี ซึ่งเฟดให้แก่เอไอจีเมื่อวันที่ 16 กันยายน จะถูกแทนที่ด้วยเงินกู้ 60,000 ล้าน และยืดอายุสินเชื่อให้เป็น 5 ปี พร้อมกันนั้นเงินกู้ใหม่จะคิดอัตราดอกเบี้ย LIBOR +3 จากเดิมที่เท่ากับ 8.5% เหนือ LIBOR ส่วนหุ้นบุริมสิทธิ์ออกใหม่ของเอไอจีที่รัฐบาลถือ กำหนดว่าจะต้องได้รับเงินปันผลปีละ 10%

ในส่วนของเครื่องมือการเงินที่จะมาแทนการสวอปเครดิตดีฟอลต์ของเอไอจีนั้น จะมีเม็ดเงินสำหรับอัดฉีดเข้ามาในเอไอจีราว 30,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 5,000 ล้านจากเอไอจีเอง เพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงดังกล่าวที่มีราคาหน้าตั๋วที่ 70,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากว่าราคาในตลาดดีขึ้นในอนาคตทั้งเอไอจีและรัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะได้กำไรเพิ่ม แต่ทางการสหรัฐฯ จะได้มากกว่า

ส่วนเครื่องมือด้านเงินตัวที่ 2 สำหรับการกู้ยืมหลักทรัพย์นั้นจะได้รับเงินอัดฉีดจากรัฐบาล 20,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 1,000 ล้านจากเอไอจี เพื่อซื้อตราสารสินเชื่ออิงอยู่กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยในราคา 50 เซนต์ต่อมูลค่าจริง 1 ดอลลาร์ และทางการจะปิดหน้าต่างเงินกู้มูลค่า 37,800 ล้านดอลลาร์ที่เปิดขึ้นเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่บริษัทเมื่อเดือนที่แล้ว

ข้อตกลงเครดิตดีฟอลต์สวอปที่เอไอจีทำกับลูกค้า ส่งผลให้บริษัทต้องประกาศผลขาดทุนถึง 18,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้เอไอจีต้องนำเอาเม็ดเงินเข้าไปอุดผลขาดทุนครั้งนี้ จนบริษัทขาดแคลนสภาพคล่องจนเกือบจะล้มละลาย
คลังมะกันจับมือเฟด “อุ้ม”แฟนนี-เฟรดดี
กระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จับมือกันประกาศเมื่อคืนวันอาทิตย์(13) แผนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่ “แฟนนี เม” และ “เฟรดดี แมค” 2 ยักษ์ใหญ่สถาบันการเงินด้านสินเชื่อเคหะที่กำลังประสบปัญหาหนัก สืบเนื่องจากพิษวิกฤตซับไพรม์ซึ่งทำให้ภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯยังทรุดต่ำลงเรื่อยๆ ทางด้านญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่ต่างก็เป็นผู้ถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯรายบิ๊กเบิ้มของโลก แม้ยินดีต่อความเคลื่อนไหวของทางการอเมริกันคราวนี้ แต่ก็แสดงความวิตกหวาดหวั่นเกี่ยวกับภาวะของระบบการเงินโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น