(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
US, Pakistan mission on target
By Syed Saleem Shahzad
28/10/2008
การเสียชีวิตของ คอลิด ฮาบิบ หัวหน้าอัลกออิดะห์ในปากีสถาน จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธซึ่งยิงจากเครื่องบินไร้คนขับรุ่น “เพรเดเตอร์” ของสหรัฐฯ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของสหรัฐฯและปากีสถาน ในการเพิ่มระดับความเข้มข้นทางยุทธวิธีของพวกเขาเพื่อเล่นงานเหล่าผู้นำหัวรุนแรงสุดโต่ง ทั้งนี้ยังมีบุคคลสำคัญอื่นๆ อีกที่ถูกเขม้นเล็งไว้แล้วว่าจะถูกสังหารเป็นรายต่อๆ ไป ในแผนการริเริ่มซึ่งบางคนตั้งความหวังไว้ว่า จะสามารถเป็นตัวช่วยแผ้วถางทางไปสู่การเจรจาสันติภาพได้
การาจี – ก่อนที่พวกเขาจะพบปะหารือกันเป็นครั้งปฐมฤกษ์ ณ กรุงวอชิงตันสัปดาห์นี้ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ไมเคิล เฮย์เดน และ เจ้ากรมข่าวกรองทหารของปากีสถาน (ไอเอสไอ) พล.ท.อาเหม็ด ชูจา ปาชา ย่อมจะรู้สึกได้กำลังใจจากการที่สามารถสังหารผู้นำอัลกออิดะห์คนหนึ่งได้ในปากีสถาน
แหล่งข่าวพวกหัวรุนแรงหลายรายยืนยันกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า คอลิด ฮาบิบ ชาวโมร็อกโกที่เป็นหัวหน้าของอัลกออิดะห์ในปากีสถาน ถูกสังหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธโดยเครื่องบินไร้คนขับรุ่น “เพรเดเตอร์” ของสหรัฐฯ ในเขตเซาท์ วาซิริสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ชนเผ่า การเสียชีวิตของเขายังไม่มีการประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการไม่ว่าโดยทางการอิสลามาบัดหรือทางการวอชิงตัน
การพบปะระหว่างเฮย์เดนกับปาชาถือได้ว่าเป็นการหารือครั้งสำคัญ เนื่องจากภายใต้กฎเกณฑ์ที่อดีตประธานาธิบดี พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ วางเอาไว้และใช้กันจวบจนกระทั่งถึงสิ้นปีที่ผ่านมานั้น ไอเอสไอซึ่งมักถูกกล่าวหาอยู่บ่อยครั้งว่าโน้มเอียงไปทางฝักใฝ่พวกหัวรุนแรงสุดโต่ง จะถูกกันเอาไว้ไม่ให้มีการเจอะเจอกับฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯโดยเฉพาะในระดับเจ้าหน้าที่ชั้นสูง โดยที่ตัวมูชาร์รัฟจะเป็นผู้ดูแลในเรื่องยุทธวิธีต่างๆ ทั้งหมดเสียเอง
คาดหมายกันว่า ในการหารือคราวนี้ หัวหน้าสายลับใหญ่ระดับสูงทั้งสองคนจะพูดคุยกันเกี่ยวกับนโยบายซึ่งปากีสถานและสหรัฐฯจะดำเนินการอย่างแข็งขันต่อเนื่อง เพื่อไล่ล่าพวกผู้นำระดับสูงของตอลิบาน และ อัลกออิดะห์ ภายใต้แผนการที่จะพยายามกำจัดพวกหัวแข็งกร้าวออกจากขบวนการต่อต้านระดับชาติของอัฟกานิสถาน และแผ้วถางทางให้แก่การติดต่อสื่อสารกับ “พวกหัวไม่รุนแรง” ที่ยังหลงเหลืออยู่ การสังหารคอลิดย่อมถือเป็นความสำเร็จอันเด่นชัดภายใต้แผนการดังกล่าวนี้
ในปีนี้จวบจนถึงขณะปัจจุบัน สหรัฐฯได้เปิดการโจมตีข้ามพรมแดนจากอัฟกานิสถานเข้าไปยังปากีสถานแล้ว 25 ครั้ง เปรียบเทียบกับเมื่อปี 2006 และ 2007 รวมกันก็ยังมีเพียง 10 ครั้งเท่านั้น การโจมตีเหล่านี้ 18 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่กระทำโดยเครื่องบินไร้คนขับ บังเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมเป็นต้นมา
ไม่นานนักหลังการหารือระหว่างเฮย์เดนกับปาชา ทาง พล.อ.เดวิด เพเทรอัส ผู้บัญชาการคนใหม่ของกองบัญชาการยุทธศาสตร์ที่ควบคุมดูแลทั้งสงครามในอิรักและในอัฟกานิสถาน ก็จะไปเยือนปากีสถาน เพื่อตกลงเกี่ยวกับแผนการทางทหารขั้นสุดท้าย โดยที่จะอาศัยข่าวกรองที่ได้มีการแลกเปลี่ยนกันไประหว่างหัวหน้าสายลับใหญ่ทั้งสองที่วอชิงตัน
คอลิดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าของอัลกออิดะห์ในปากีสถาน จากอุซามะห์ บิน ลาดิน ภายหลังการเสียชีวิตในเดือนมกราคมของ อาบู อูไบดา อัล-มิสรี (อับดุล ฮามีด) ด้วยโรคตับอักเสบ อาบู อูไบดา ได้รับการประกาศให้เป็น “อามีร์-ไอ-คุรุจ” (ผู้บัญชาการเพื่อการก่อกบฎของมวลชน) หลังจากการปฏิบัติการ ลัล มัสยิด (สุเหร่าแดง) ในกรุงอิสลามาบัดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งมัสยิดสำคัญแห่งนี้ที่มีสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับพวกหัวรุนแรง ได้ถูกกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลเข้าถล่มปราบปราม
ภารกิจของคอลิดก็คือ การหาทางร่วมไม้ร่วมมือต่อไปกับกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ เพื่อการทำสงครามต่อต้านผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ตลอดจนต่อต้านรัฐบาลนิยมสหรัฐฯในปากีสถาน ความริเริ่มเช่นนี้เองที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรี เบนาซีร์ บุตโต ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
คอลิดซึ่งในบัญชีรายชื่อของซีไอเอระบุว่า เป็นบุคคลสำคัญหมายเลข 4 ในการจัดลำดับชั้นของอัลกออิดะห์ ประสบความสำเร็จเป็นอันดีในการผนึกความผูกพันในระดับภูมิภาค ระหว่างพวกอัลกออิดะห์, กลุ่มตอลิบานอัฟกัน, และพวกหัวรุนแรงชาวปากีสถาน ซึ่งกลุ่มหลังนี้ได้ผงาดขึ้นมากลายเป็นพวกตอลิบานใหม่ (neo-Taliban) พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้ดูดซับเอาอุดมการณ์เรื่องการต่อสู้ในระดับโลกของอัลกออิดะห์ ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นต่อสู้กับการเข้าโจมตีปราบปรามของฝ่ายทหาร เพื่อปกปักรักษาฐานต่างๆ ของอัลกออิดะห์และตอลิบานในปากีสถาน แยกต่างหากจากการเข้าร่วมการก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถาน
เวลานี้ยังไม่มีข่าวระแคะระคายว่าใครจะขึ้นมาแทนที่คอลิด ผู้ซึ่งต่อต้านอย่างหัวชนฝาไม่ยอมรับความคิดใดๆ ที่จะให้มีการสนทนาระหว่างตอลิบานกับพวกพันธมิตรตะวันตก
เมื่อคอลิดเสียชีวิตไปแล้วเช่นนี้ เป้าหมายสำคัญที่สุดรายต่อไปที่น่าจะถูกเล่นงานจากสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็น จาลาลุดดีน ฮักกอนี ผู้บัญชาการที่ผ่านศึกโชกโชนของตอลิบาน โดยอันที่จริงสถานที่สงสัยกันว่าเป็นที่ตั้งฐานของเขาในเขตนอร์ทวาซิริสถาน ก็ได้ตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีมาหลายครั้งแล้ว จาลาลุดดีนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของเครือข่ายฮักกอนี และเป็นบุคคลระดับตำนานของนักรบมุญาฮีดีนอัฟกันที่ต่อสู้ต้านทานพวกโซเวียตในยุคทศวรรษ 1980 สมาชิกหลายคนในครอบครัวของเขาตลอดจนผู้ช่วยของเขาถูกสังหารเสียชีวิตจากการโจมตีดังกล่าวเหล่านี้ ทว่าทั้งจาลาลุดดีน และ ซิรอจุดดีน บุตรชายของเขา ยังคงอยู่รอดปลอดภัยดี โดยเป็นไปได้ว่าอาจจะอยู่ในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ในปากีสถานด้วยซ้ำไป
อดีตนายกรัฐมนตรีอัฟกานิสถาน กุลบุดดีน เฮกมัตยาร์ ก็อาจจะมีชื่ออยู่ในบัญชีที่จะต้องถูกสังหารด้วยเช่นกัน เขาเคยเป็นเพื่อนของ ฮามิด คาร์ไซ ประธานาธิบดีอัฟกันคนปัจจุบัน อีกทั้งเคยได้รับการติดต่อจากกรุงคาบุลผ่านตัวกลางหลายๆ คน ในเรื่องความเป็นไปได้ที่จะริเริ่มจัดให้รัฐบาลอัฟกันได้สนทนากับฝ่ายตอลิบาน
อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องในการเจรจาเพื่อสันติภาพแบบช่องทางลับๆ ใดๆ ยกเว้นแต่เมื่อกองทหารต่างชาติทั้งหลายถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานแล้วเท่านั้น ถึงแม้เขาเคยให้ความมั่นใจกับคาร์ไซว่า ทันทีที่ต่างชาติถอยไปแล้ว เขาก็จะทำงานกับคณะรัฐบาลของคาร์ไซในแวดวงการเมืองกระแสหลัก
ยิ่งกว่านั้น จากการที่เขามีความเชื่อมโยงในอดีตอยู่กับฝ่ายครองอำนาจปากีสถาน เฮกมัตยาร์จึงได้รับการติดต่อทาบทามจากปากีสถานด้วย ทว่าเขาปฏิเสธอย่างโผงผางไม่ยอมเจรจากับคณะรัฐบาลของประธานาธิบดี อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถานในปัจจุบัน โดยตราหน้าซาร์ดารี ตลอดจนพวกกุมอำนาจในกองทัพปากีสถานเวลานี้ว่า เป็นสายของพวกอเมริกัน
ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com
US, Pakistan mission on target
By Syed Saleem Shahzad
28/10/2008
การเสียชีวิตของ คอลิด ฮาบิบ หัวหน้าอัลกออิดะห์ในปากีสถาน จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธซึ่งยิงจากเครื่องบินไร้คนขับรุ่น “เพรเดเตอร์” ของสหรัฐฯ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของสหรัฐฯและปากีสถาน ในการเพิ่มระดับความเข้มข้นทางยุทธวิธีของพวกเขาเพื่อเล่นงานเหล่าผู้นำหัวรุนแรงสุดโต่ง ทั้งนี้ยังมีบุคคลสำคัญอื่นๆ อีกที่ถูกเขม้นเล็งไว้แล้วว่าจะถูกสังหารเป็นรายต่อๆ ไป ในแผนการริเริ่มซึ่งบางคนตั้งความหวังไว้ว่า จะสามารถเป็นตัวช่วยแผ้วถางทางไปสู่การเจรจาสันติภาพได้
การาจี – ก่อนที่พวกเขาจะพบปะหารือกันเป็นครั้งปฐมฤกษ์ ณ กรุงวอชิงตันสัปดาห์นี้ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ไมเคิล เฮย์เดน และ เจ้ากรมข่าวกรองทหารของปากีสถาน (ไอเอสไอ) พล.ท.อาเหม็ด ชูจา ปาชา ย่อมจะรู้สึกได้กำลังใจจากการที่สามารถสังหารผู้นำอัลกออิดะห์คนหนึ่งได้ในปากีสถาน
แหล่งข่าวพวกหัวรุนแรงหลายรายยืนยันกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า คอลิด ฮาบิบ ชาวโมร็อกโกที่เป็นหัวหน้าของอัลกออิดะห์ในปากีสถาน ถูกสังหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธโดยเครื่องบินไร้คนขับรุ่น “เพรเดเตอร์” ของสหรัฐฯ ในเขตเซาท์ วาซิริสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ชนเผ่า การเสียชีวิตของเขายังไม่มีการประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการไม่ว่าโดยทางการอิสลามาบัดหรือทางการวอชิงตัน
การพบปะระหว่างเฮย์เดนกับปาชาถือได้ว่าเป็นการหารือครั้งสำคัญ เนื่องจากภายใต้กฎเกณฑ์ที่อดีตประธานาธิบดี พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ วางเอาไว้และใช้กันจวบจนกระทั่งถึงสิ้นปีที่ผ่านมานั้น ไอเอสไอซึ่งมักถูกกล่าวหาอยู่บ่อยครั้งว่าโน้มเอียงไปทางฝักใฝ่พวกหัวรุนแรงสุดโต่ง จะถูกกันเอาไว้ไม่ให้มีการเจอะเจอกับฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯโดยเฉพาะในระดับเจ้าหน้าที่ชั้นสูง โดยที่ตัวมูชาร์รัฟจะเป็นผู้ดูแลในเรื่องยุทธวิธีต่างๆ ทั้งหมดเสียเอง
คาดหมายกันว่า ในการหารือคราวนี้ หัวหน้าสายลับใหญ่ระดับสูงทั้งสองคนจะพูดคุยกันเกี่ยวกับนโยบายซึ่งปากีสถานและสหรัฐฯจะดำเนินการอย่างแข็งขันต่อเนื่อง เพื่อไล่ล่าพวกผู้นำระดับสูงของตอลิบาน และ อัลกออิดะห์ ภายใต้แผนการที่จะพยายามกำจัดพวกหัวแข็งกร้าวออกจากขบวนการต่อต้านระดับชาติของอัฟกานิสถาน และแผ้วถางทางให้แก่การติดต่อสื่อสารกับ “พวกหัวไม่รุนแรง” ที่ยังหลงเหลืออยู่ การสังหารคอลิดย่อมถือเป็นความสำเร็จอันเด่นชัดภายใต้แผนการดังกล่าวนี้
ในปีนี้จวบจนถึงขณะปัจจุบัน สหรัฐฯได้เปิดการโจมตีข้ามพรมแดนจากอัฟกานิสถานเข้าไปยังปากีสถานแล้ว 25 ครั้ง เปรียบเทียบกับเมื่อปี 2006 และ 2007 รวมกันก็ยังมีเพียง 10 ครั้งเท่านั้น การโจมตีเหล่านี้ 18 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่กระทำโดยเครื่องบินไร้คนขับ บังเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมเป็นต้นมา
ไม่นานนักหลังการหารือระหว่างเฮย์เดนกับปาชา ทาง พล.อ.เดวิด เพเทรอัส ผู้บัญชาการคนใหม่ของกองบัญชาการยุทธศาสตร์ที่ควบคุมดูแลทั้งสงครามในอิรักและในอัฟกานิสถาน ก็จะไปเยือนปากีสถาน เพื่อตกลงเกี่ยวกับแผนการทางทหารขั้นสุดท้าย โดยที่จะอาศัยข่าวกรองที่ได้มีการแลกเปลี่ยนกันไประหว่างหัวหน้าสายลับใหญ่ทั้งสองที่วอชิงตัน
คอลิดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าของอัลกออิดะห์ในปากีสถาน จากอุซามะห์ บิน ลาดิน ภายหลังการเสียชีวิตในเดือนมกราคมของ อาบู อูไบดา อัล-มิสรี (อับดุล ฮามีด) ด้วยโรคตับอักเสบ อาบู อูไบดา ได้รับการประกาศให้เป็น “อามีร์-ไอ-คุรุจ” (ผู้บัญชาการเพื่อการก่อกบฎของมวลชน) หลังจากการปฏิบัติการ ลัล มัสยิด (สุเหร่าแดง) ในกรุงอิสลามาบัดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งมัสยิดสำคัญแห่งนี้ที่มีสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับพวกหัวรุนแรง ได้ถูกกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลเข้าถล่มปราบปราม
ภารกิจของคอลิดก็คือ การหาทางร่วมไม้ร่วมมือต่อไปกับกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ เพื่อการทำสงครามต่อต้านผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ตลอดจนต่อต้านรัฐบาลนิยมสหรัฐฯในปากีสถาน ความริเริ่มเช่นนี้เองที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรี เบนาซีร์ บุตโต ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
คอลิดซึ่งในบัญชีรายชื่อของซีไอเอระบุว่า เป็นบุคคลสำคัญหมายเลข 4 ในการจัดลำดับชั้นของอัลกออิดะห์ ประสบความสำเร็จเป็นอันดีในการผนึกความผูกพันในระดับภูมิภาค ระหว่างพวกอัลกออิดะห์, กลุ่มตอลิบานอัฟกัน, และพวกหัวรุนแรงชาวปากีสถาน ซึ่งกลุ่มหลังนี้ได้ผงาดขึ้นมากลายเป็นพวกตอลิบานใหม่ (neo-Taliban) พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้ดูดซับเอาอุดมการณ์เรื่องการต่อสู้ในระดับโลกของอัลกออิดะห์ ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นต่อสู้กับการเข้าโจมตีปราบปรามของฝ่ายทหาร เพื่อปกปักรักษาฐานต่างๆ ของอัลกออิดะห์และตอลิบานในปากีสถาน แยกต่างหากจากการเข้าร่วมการก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถาน
เวลานี้ยังไม่มีข่าวระแคะระคายว่าใครจะขึ้นมาแทนที่คอลิด ผู้ซึ่งต่อต้านอย่างหัวชนฝาไม่ยอมรับความคิดใดๆ ที่จะให้มีการสนทนาระหว่างตอลิบานกับพวกพันธมิตรตะวันตก
เมื่อคอลิดเสียชีวิตไปแล้วเช่นนี้ เป้าหมายสำคัญที่สุดรายต่อไปที่น่าจะถูกเล่นงานจากสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็น จาลาลุดดีน ฮักกอนี ผู้บัญชาการที่ผ่านศึกโชกโชนของตอลิบาน โดยอันที่จริงสถานที่สงสัยกันว่าเป็นที่ตั้งฐานของเขาในเขตนอร์ทวาซิริสถาน ก็ได้ตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีมาหลายครั้งแล้ว จาลาลุดดีนเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของเครือข่ายฮักกอนี และเป็นบุคคลระดับตำนานของนักรบมุญาฮีดีนอัฟกันที่ต่อสู้ต้านทานพวกโซเวียตในยุคทศวรรษ 1980 สมาชิกหลายคนในครอบครัวของเขาตลอดจนผู้ช่วยของเขาถูกสังหารเสียชีวิตจากการโจมตีดังกล่าวเหล่านี้ ทว่าทั้งจาลาลุดดีน และ ซิรอจุดดีน บุตรชายของเขา ยังคงอยู่รอดปลอดภัยดี โดยเป็นไปได้ว่าอาจจะอยู่ในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ในปากีสถานด้วยซ้ำไป
อดีตนายกรัฐมนตรีอัฟกานิสถาน กุลบุดดีน เฮกมัตยาร์ ก็อาจจะมีชื่ออยู่ในบัญชีที่จะต้องถูกสังหารด้วยเช่นกัน เขาเคยเป็นเพื่อนของ ฮามิด คาร์ไซ ประธานาธิบดีอัฟกันคนปัจจุบัน อีกทั้งเคยได้รับการติดต่อจากกรุงคาบุลผ่านตัวกลางหลายๆ คน ในเรื่องความเป็นไปได้ที่จะริเริ่มจัดให้รัฐบาลอัฟกันได้สนทนากับฝ่ายตอลิบาน
อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องในการเจรจาเพื่อสันติภาพแบบช่องทางลับๆ ใดๆ ยกเว้นแต่เมื่อกองทหารต่างชาติทั้งหลายถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานแล้วเท่านั้น ถึงแม้เขาเคยให้ความมั่นใจกับคาร์ไซว่า ทันทีที่ต่างชาติถอยไปแล้ว เขาก็จะทำงานกับคณะรัฐบาลของคาร์ไซในแวดวงการเมืองกระแสหลัก
ยิ่งกว่านั้น จากการที่เขามีความเชื่อมโยงในอดีตอยู่กับฝ่ายครองอำนาจปากีสถาน เฮกมัตยาร์จึงได้รับการติดต่อทาบทามจากปากีสถานด้วย ทว่าเขาปฏิเสธอย่างโผงผางไม่ยอมเจรจากับคณะรัฐบาลของประธานาธิบดี อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถานในปัจจุบัน โดยตราหน้าซาร์ดารี ตลอดจนพวกกุมอำนาจในกองทัพปากีสถานเวลานี้ว่า เป็นสายของพวกอเมริกัน
ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถที่จะติดต่อกับเขาได้ทางอีเมล์ saleem_sharzad2002@yahoo.com