เอเจนซี - แม้ว่า นาจิบ ราซัค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังของมาเลเซีย จะได้รับการปูทางขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของพรรคอัมโนในการเลือกตั้งเดือนมีนาคมปีหน้าแล้ว แต่การยื้อแย่งชิงอำนาจที่รายล้อมตัวเขาอยู่นั้น อาจทำลายความพยายามของเขาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ลงได้
หลังจากที่อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้แถลงอย่างเป็นทางการในวันพุธ (8) ว่าจะลงตำแหน่งหัวหน้าพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ในเดือนมีนาคมปีหน้า เพื่อเปิดทางให้ในนาจิบขึ้นสู่ตำแหน่งต่อจากเขา และเป็นการยุติข้อขัดแย้งเกี่ยวกับตำแหน่งผู้นำพรรค แต่ทว่าการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคและตำแหน่งสำคัญอื่นๆ คงจะยุ่งเหยิงต่อไปอีก
ขณะที่การต่อรองและ การเมืองแบบใช้เงินซื้อตำแหน่งและอำนาจ จะยิ่งทำให้พรรคการเมืองที่ปกครองมาเลเซียมานานถึง 51 ปี ต้องเสียภาพลักษณ์มากขึ้น
"ตอนนี้การจับกลุ่มกันของฝ่ายสนับสนุนและพันธมิตร รวมทั้งการแข่งขันกันเพื่อให้ได้ตำแหน่งและอำนาจกำลังเริ่มขึ้นแล้ว" ไซนัล อัซนาม ยูโซฟ นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทมส์
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการทำลายโอกาสของมาเลเซียในการที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ และรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินโลก
ทั้งนี้ในช่วงหลายสิบปีที่ครองอำนาจ พรรคอัมโนพร้อมกับพรรคพันธมิตรที่รวมตัวกันเป็น "บาริซาน เนชันแนล" (แนวร่วมแห่งชาติ) ได้ปรากฏรอยด่างพร้อยจำนวนมากจากการทุจริตคอร์รัปชั่นและการเล่นพรรคเล่นพวก สภาพเช่นนี้มีส่วนสำคัญทำให้ประชาชนซึ่งรู้สึกว่าตนแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรในขณะที่พวกผู้นำมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ หันไปเทคะแนนให้อับดุลเลาะห์ จนเขาสามารถนำพาอัมโนและพันธมิตรประสบชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2004 เนื่องจากมีความหวังกันว่าเขาจะขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นได้
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป โดยความหวังดังกล่าวไม่ได้ปรากฏเป็นจริง ฝ่ายรัฐบาลจึงตกที่นั่งเลวร้ายที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และนำมาซึ่งการกดดันให้เขาลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในที่สุด
ขณะเดียวกัน แม้นาจิบถูกมองว่ามีความเป็นผู้นำเข้มแข็งกว่าอับดุลเลาะห์ แต่ก็ยังถือว่าอ่อนแอกว่าฝ่ายค้านที่กำลังมีคะแนนนิยมดีวันดีคืนภายใต้การนำของอันวาร์ อิบรอฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี
อันวาร์วิจารณ์นาจิบว่า "เขาไม่เคยที่จะพูดถึงการปฏิรูประบบตุลาการ เรื่องสื่อเสรี หรือกระบวนการประชาธิปไตย เขาไม่เคยแม้แต่จะเผยท่าทีว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ไม่เคยเลยสักครั้ง" ทั้งนี้ยังไม่นับกรณีที่บล็อกเกอร์ชื่อดังรายหนึ่งกล่าวหาว่านาจิบพัวพันกับกรณีฆาตกรรมนางแบบสาวชาวมองโกเลียผู้หนึ่ง แม้ว่าเขาจะปฏิเสธและระบุว่าเป็นการให้ร้ายเขาก็ตาม
**มหาธีร์กลับมาคุมเกม**
ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ออกมากล่าววิจารณ์อับดุลเลาะห์เป็นคนแรกๆ คนหนึ่งก็คือนายแพทย์มหาเธร์ โมฮาหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งนานถึง 22 ปี ซึ่งอยู่ในสภาพผิดหวังและโกรธกริ้ว ภายหลังอับดุลเลาะห์ผู้เป็นทายาทที่เขาปั้นมากับมือ ตัดสินใจยุติโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาลของเขา กระทั่งทำให้มหาเธร์ตัดสินใจลาออกจากพรรคอัมโนและคอยวิจารณ์อับดุลเลาะห์อย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์เทอเรนซ์ โกเมซ แห่งมหาวิทยาลัยมลายา เห็นว่า เมื่ออับดุลเลาะห์ลงจากตำแหน่งแล้ว มหาธีร์จะกลับเข้าพรรคอัมโน เขาบอกว่า "มันจะไม่ใช่นาจิกกำลังจะขึ้นมาปกครองพรรคเลย แต่เป็นมหาเธร์ต่างหากที่จะคุมเกมทั้งหมดอยู่หลังฉากนับจากนี้ไป"
นั่นย่อมหมายความว่ามาเลเซียภายใต้การบริหารของนาจิบจะไม่ได้มีการปฏิรูปอะไรมากมายนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่จะให้ความมั่นใจกับนักลงทุนมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องความโปร่งใสในระบบตุลาการ
ขณะเดียวกัน การสอบสวนบล็อกเกอร์และผู้ที่คัดค้านรัฐบาลก็จะมีมากขึ้นภายใต้การนำของนาจิบ