xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาหนักที่นายกฯใหม่ญี่ปุ่นต้องรับมือ

เผยแพร่:   โดย: แคเธอรีน มาคิโนะ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Aso has dragons to stay
By Catherine Makino
25/09/2008

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ทาโร อาโซะ จำเป็นต้องมีอะไรมากกว่ารอยยิ้มที่ช่วยลดความเป็นปรปักษ์ จึงจะสามารถเอาชนะมรดกความเป็นมาอันชวนให้แคลงใจของบรรพบุรุษของเขา และนำพาพรรคแกนนำรัฐบาลของเขาฝ่าฟันการเลือกตั้ง แม้กระทั่งการเลือกตั้งที่กล่าวถึงนี้ อาโซะก็ไม่เพียงแค่ต้องชนะเท่านั้น หากยังต้องชนะโดยได้รับที่นั่ง ส.ส.มากเพียงพอที่จะหลีกให้พ้นภาวะชะงักงันทางการเมือง, สมานความสัมพันธ์ที่มีกับจีน, และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ลง --โดยที่ต้องกระทำทั้งหมดเหล่านี้ในขณะเดียวกับที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึงอดีตแห่งยุคสงครามของตระกูลของเขา

โตเกียว– นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ทาโร อาโซะ ไม่ค่อยจะมีอาวุธอยู่ในมืออะไรมากไปกว่าอิทธิพลบารมีส่วนตัวของเขาเอง ในขณะที่เขาต้องนำพาพรรคลิเบอรัล เดโมแครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) ของเขาซึ่งเป็นแกนนำคณะรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ เข้าสู่การเลือกตั้งที่จะเป็นการทดสอบครั้งสำคัญยิ่ง สำหรับพรรคการเมืองแนวทางอนุรักษนิยมพรรคนี้ ที่ได้ยึดกุมอำนาจปกครองประเทศอย่างแทบจะต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

“เวลานี้ดูจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า อาโซะจะยุบสภา(สภาล่างของรัฐสภา)โดยเร็ว และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป” ศาสตราจารย์ โทโมฮิโกะ ทานิกูชิ แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ อธิบายต่อสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส “ผลสำรวจความคิดเห็นสำนักแล้วสำนักเล่า ต่างแสดงให้เห็นว่าเขากำลังเป็นนักการเมืองพรรคแอลดีพีที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุด คุณสามารถพูดได้ว่าเขาแบกรับความรับผิดชอบในการใช้ความนิยมชมชื่นดังกล่าวนี้ มาทำให้กลายเป็นความสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนให้ได้มากที่สุด”

การคัดเลือกอาโซะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ตัดสินเด็ดขาดกันไป ในทันทีที่สภาล่างโหวตรับรองเขาอย่างท่วมท้นเมื่อวันพุธ(24)ที่ผ่านมา ถึงแม้สภาสูงที่มีอำนาจน้อยกว่าจะออกเสียงให้แก่ อิชิโร โอซาวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน เดโมแครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (ดีพีเจ)

อาโซะซึ่งเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมที่พูดจาโผงผาง ไม่ได้ปิดบังความรังเกียจลัทธิคอมมิวนิสต์ของเขา รวมทั้งประกาศสนับสนุนความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯอย่างมั่นคง ทว่าสิ่งที่แบ่งแยกเขาออกมาจากพวกเหยี่ยวคนอื่นๆ ในแอลดีพี ก็คือวิธีการของเขาที่อยู่ในลักษณะเน้นสิ่งที่ปฏิบัติได้มากกว่าแนวคิดอุดมการณ์ ตลอดจนรอยยิ้มอันช่วยลดความเป็นปรปักษ์ของเขา

การที่อาโซะจะต้องยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง ก็เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องเอาชนะฝ่าฟันสภาพการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่มาระยะหนึ่งแล้ว และทำให้เขาอยู่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนที่สามในชั่วระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี ทั้งนี้หลังจากที่พวกฝ่ายค้านนำโดยดีพีเจ สามารถครองเสียงข้างมากในสภาสูง และคอยสกัดขัดขวางร่างกฎหมายสำคัญๆ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการก่อการร้าย ได้ทำให้ ชินโซ อาเบะ และ ยาสุโอะ ฟุคุดะ ผู้นั่งเก้าอี้ตัวนี้มาก่อนหน้าเขาเกิดความผิดหวังเบื่อหน่าย จนพากันโยนผ้าถอนตัวออกมา

“ฟุคุดะเลือกที่จะก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ เพราะตระหนักอย่างเต็มที่ว่าเขาไม่สามารถนำพาพรรคเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปได้ เนื่องจากคะแนนนิยมในตัวเขา ตลอดจนเรตติ้งความยอมรับผลงานของเขาต่างกำลังตกต่ำลงมาก” ศาสตราจารย์ทานิกูชิกล่าวต่อ “เพื่อให้พรรคแอลดีพียังคงอยู่ในอำนาจได้ต่อไป จำเป็นต้องให้ใครสักคนที่สาธารณชนนิยมชมชื่นมากกว่า เข้ามานำพาพรรค และต่อสู้กับการท้าทายจากพรรคฝ่ายค้าน ดีพีเจ”

ผลการสำรวจหลายๆ ครั้งแสดงให้เห็นว่า มีโอกาสทีเดียวที่แอลดีพี แม้กระทั่งเมื่ออยู่ภายใต้การนำของอาโซะแล้ว ก็ยังอาจพ่ายแพ้ให้แก่ดีพีเจ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าดีพีเจที่อยู่ภายใต้โอซาวะ สามารถนำพาฝ่ายค้านให้ได้ชัยชนะครองเสียงข้างมากในสภาสูงเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่รัฐบาลตกอยู่ในสภาพสับสนเพลี่ยงพล้ำ จากกรณีอื้อฉาวเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลกองทุนบำนาญอย่างบกพร่องผิดพลาด

“เราจะต้องต่อสู้เอาชนะดีพีเจในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าให้ได้” อาโซะบอกกับผู้สื่อข่าวในทันทีหลังจากได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานของพรรคแอลดีพี “ผมจะสามารถทำภารกิจของผมให้สำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อสามารถชนะสงครามครั้งนี้แล้ว”

อันที่จริง อาโซะไม่เพียงต้องชนะเท่านั้น หากยังต้องได้ที่นั่ง ส.ส.มากเพียงพอที่จะสามารถคว่ำการวีโต้ร่างกฎหมายของฝ่ายค้านนำโดยดีพีเจในสภาสูง เพราะต้องทำได้เช่นนี้เท่านั้น จึงจะหลีกเลี่ยงจากภาวะชะงักงัน ที่เป็นตัวทำลายนายกรัฐมนตรี 2 คนก่อนหน้าเขามาแล้ว

นอกจากนั้น อาโซะยังจะต้องสานงานต่อเนื่องในเรื่องการสมานสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับจีน ซึ่งได้เสื่อมทรามลงไปในสมัยที่ จุนอิชิโร โคอิซูมิ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ข้อเท็จจริงที่ว่า ครั้งหนึ่งอาโซะได้เคยพาดพิงถึงเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รายนี้ของญี่ปุ่นว่าเป็น “ภัยคุกคามสำคัญ” ย่อมไม่ช่วยให้เรื่องนี้ง่ายดายขึ้นเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับศาลเจ้ายาสุคุนิ เมื่อตอนที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศนั้น อาโซะเลือกที่จะไม่ไปสักการะศาลเจ้าดังกล่าว ซึ่งเป็นสถานที่เคารพบูชาทหารที่พลีชีพไปของญี่ปุ่น รวมทั้งพวกที่ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหาเป็นอาชญากรสงครามในยุคสงครามโลกครั้งที่สองด้วย ทั้งจีน, เกาหลีใต้, และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของแดนอาทิตย์อุทัย ต่างถือศาลยาสุคุนิ ตลอดจนการไปสักการะศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นพฤติการณ์ยกย่องเลื่อมใสอดีตกาลอันรุ่งเรืองของลัทธิทหารของญี่ปุ่น

เวสตัน โคนิชิ นักวิจัยเฉพาะกาลให้กับมูลนิธิแมนสฟิลด์ มีความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ยังไม่ต้องพูดกันถึงประกาศนียบัตรรับรองความเป็นฝ่ายขวาของอาโซะกันเลยนะ การที่เขาจะไปสักการะศาลยาสุคุนิ ในขณะที่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่เต็มๆ คือความผิดพลาดแน่ๆ การทำเช่นนี้จะสร้างรอยร้าวขึ้นในข้อตกลงอย่างเป็นนัยๆ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอาเบะ (นายกฯญี่ปุ่นคนถัดจากโคอิซูมิ) ที่ไม่ไปสักการะศาลเจ้า เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จีนยินยอมใช้ความอดกลั้นเพิ่มมากขึ้น ผมเดาว่าอาโซะซึ่งเป็นคนที่รู้สึกอะไรได้ไวได้ดี จะไม่ไปสักการะยาสุคุนิ ที่รังแต่จะเป็นชนวนทำให้เกิดความตึงเครียดรอบใหม่กับปักกิ่ง”

พวกสื่อกระแสหลักของญี่ปุ่นก็จะต้องไม่ไปแตะต้องประวัติในยุคสงครามของตระกูลของอาโซะ ซึ่งมีทั้งเรื่องการบังคับใช้แรงงาน การนำเอาเชลยศึกที่เป็นทหารฝ่ายสัมพันธมิตร มาทำงานในเหมืองแร่หลายๆ แห่งของตระกูล ตัวอาโซะเองได้ปฏิเสธเรื่อยมาไม่ยอมกล่าวขอโทษเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยบอกว่าเขาอายุเพียงแค่ 5 ขวบเท่านั้นเมื่อตอนที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง จึงไม่สามารถที่จะรับผิดชอบอะไรได้

“ช่วงตอนการบังคับใช้แรงงานนี้ ถือเป็นช่วงตอนอันน่าอับอายในมรดกตกทอดของตระกูลอาโซะ และเป็นช่วงตอนที่อาโซะตลอดจนผู้สนับสนุนเขาจะไม่นำออกมาเปิดเผยโล่งโจ้งหรอก ถ้าหากพวกเขาสามารถทำได้นะ” โคนิชิบอก “อาโซะย่อมจะต้องการทำให้สายสัมพันธ์ทางการทูตของญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งมากขึ้น และความพยายามในเรื่องนี้ก็คงจะต้องเกิดความยุ่งยาก ถ้าช่วงตอนแห่งการบังคับใช้แรงงานนี้ดังเกรียวกราวขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นผลประโยชน์แก่อาโซะอย่างที่สุดที่จะเก็บประเด็นปัญหานี้ให้เงียบๆ เข้าไว้”

อาโซะจะมีจุดยืนอย่างไรในด้านนโยบายการต่างประเทศนั้น สามารถพิจารณาได้จากการที่เมื่อสองปีก่อน เขาได้เคยเสนอแนะว่า มันถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะต้องเริ่มการถกเถียงอภิปรายกัน ว่าจะมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองหรือไม่

ทว่าการท้าทายที่น่ากลัวที่สุดของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ผู้นี้ หาใช่เรื่องการต่างประเทศไม่ แต่เป็นเรื่องการเข้าฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ และการรับมือกับผลของภาวะปั่นป่วนของภาคการเงินทั่วโลก นักวิชาการบางคนมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นทรุดโทรมลงไปในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถานการณ์ในพื้นที่แถบชนบทซึ่งกำลังเลวร้ายลงทุกที สืบเนื่องจากการปฏิรูปต่างๆ ในยุคโคอิซูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการอันเด็ดขาดเข้มงวดในการตัดทอนโครงการสร้างงานสาธารณะขนาดใหญ่ๆ ซึ่งถึงอย่างไรก็ยังให้ผลในเรื่องการสร้างงาน

“ประเด็นยุ่งยากที่สุดของปัญหานี้ อยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่า เวลานี้คุณกำลังมีอินพุตเข้าสู่เศรษฐกิจลดน้อยตกต่ำลงไป เนื่องจากคุณมีประชากรที่น้อยลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ทางด้านอัตราเติบโตของผลิตภาพ ก็โตไม่ทันที่จะรับมือกับสภาพเช่นนี้” ทานิกูชิกล่าว

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น