เอเอฟพี - นายกฯญี่ปุ่นออกมายอมรับวันพฤหัสบดี(5)ว่า เศรษฐกิจของประเทศยังจะดิ่งลงต่อไปโดยไม่เห็นว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ขณะที่ตัวเลขการลงทุนทางด้านธุรกิจที่ออกมาล่าสุด ก็อยู่ในระดับตกต่ำหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ จึงยิ่งเพิ่มความกังวลที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ จะเป็นครั้งที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
ตามตัวเลขของกระทรวงการคลัง บริษัทในญี่ปุ่นต่างลดการลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆลง 17.3% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 อันเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลนี้กันมาตั้งแต่ปี 2002
"เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะสาหัส" นายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะ กล่าวในรัฐสภา "เรายังไม่รู้เลยจะร่วงลงไปถึงไหน"
รัฐบาลกำหนดเผยแพร่รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นประจำไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วในสัปดาห์หน้า โดยเวลานี้กำลังเกิดความกลัวกันว่า ตัวเลขที่ออกมาคราวนี้ จะยิ่งเลวร้ายกว่าการประมาณการขั้นต้น ซึ่งอยู่ที่ -12.7% เมื่อคำนวณเป็นรายปี
นักเศรษฐศาสตร์จากยูบีเอส ชื่อ อากิระ มาเอกาวา ให้ความเห็นว่าการหดตัวในไตรมาส4ปี 2008 อาจจะมากถึง 14.8% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มากกว่าอัตรา 13.1% ในช่วงต้นปี 1974 อันเป็นช่วงที่เกิดภาวะช็อกจากราคาน้ำมันทะยานลิ่วครั้งแรกเสียอีก
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นประเทศที่น่าจะทนทานต่อแรงสะเทือนของวิกฤตการเงินโลกได้มากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่เมื่อภาวะส่งออกก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เพราะตลาดหลัก ๆของญี่ปุ่นอย่างเช่นสหรัฐฯและยุโรปไม่สั่งซื้อสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯอีกต่อไป จึงทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทรุดลงอย่างฮวบฮาบ
ยอดการส่งออกของญี่ปุ่นลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในเดือนมกราคมเมื่อเทียบกันจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนผลผลิตจากโรงงานในเดือนมกราคม ก็ลดลง 10% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม
ก่อนที่เศรษฐกิจจะทรุดตัวเช่นนี้ ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นได้เคยเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากภาวะชะลอตัวยาวนานในช่วงทศวรรษ 1990 โดยบริษัทของญี่ปุ่น มีการปรับเปลี่ยนไปเน้นการลงทุนผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
แต่ตอนนี้บริษัทเหล่านั้นกลับต้องปิดโรงงาน ปลดพนักงานนับหมื่นคน ซึ่งส่งผลให้การจับจ่ายให้สอยของประชาชนลดน้อยลงไปด้วย
นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ชื่อ ทาเคฮิโร ซาโตะ คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะหดตัวราว 13.8% ในช่วงไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ซึ่งก็มากกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ เขายังบอกอีกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยคราวนี้น่าจะนานกว่าช่วงหลังสงครามโลกเสียอีก และความรุนแรงก็จะมากกว่าการตกต่ำเพราะฟองสบู่แตกในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ซึ่งตอนนั้นยอดขายและกำไรของบริษัทต่าง ๆตกติดต่อกันถึง 7 ไตรมาส
การสำรวจของกระทรวงการคลังแสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ยอดขายสินค้าของบริษัทต่าง ๆตกลง 11.6% ส่วนกำไรก่อนหักภาษีก็ดิ่งลงไป 64% และนับเป็นดิ่งลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่หกแล้ว
พวกโรงงานอุตสาหกรรมเป็นพวกที่ได้รับผลกระทบแรงที่สุด จากรายได้ที่หดหายไปถึง 94%
บริษัทที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของภาคธุรกิจญี่ปุ่นอย่าง โซนี่ และโตโยต้าต่างก็พากันประกาศว่าปีการเงินนี้ (เม.ย.08-มี.ค.09) น่าจะขาดทุนครั้งใหญ่ เพราะการส่งออกที่ลดลงอย่างมาก
นายกรัฐมนตรีอาโซะกล่าวว่า "เป็นการยากอย่างที่สุด" ที่จะทำนายว่าตลาดแรงงานจะเป็นอย่างไรบ้างนับจากนี้ไป แต่ก็แสดงความหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้นในช่วงสิ้นปี
เมื่อวันพุธ(4) รัฐสภาได้ผ่านกฏหมายที่จะอัดฉีดเม็ดเงินสองล้านล้านเยนกลับไปให้ภาคประชาชนโดยการจ่ายให้เงินสด ถึงแม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้คนส่วนใหญ่ว่าเป็นการสูญเงินเปล่า แต่รัฐบาลก็จะเริ่มแจกเงินในวันพฤหัสบดี(5)เป็นต้นไป โดยเริ่มจากหมู่บ้านทางตอนเหนือของประเทศ