xs
xsm
sm
md
lg

“คณิต” เตือนสติอัยการทำคดีเพื่อชาติแทนช่วยเหลือคนผิด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

อดีตอัยการสูงสุด “คณิต ณ นคร” แจงที่มาองค์กรอัยการ ทนายแผ่นดิน เตือนสติอัยการ ทำคดีเพื่อชาติ ไม่ช่วยเหลือผู้กระทำความผิด แนะทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำงาน ยอมรับ คตส.ฟ้องคดีเองน่าห่วง ส่วนคดีปกปิดผู้ถือหุ้นเอสซีแอทเสท จะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ต้องไปถามใจ “ชัยเกษม นิติสิริ” อัยการสูงสุด

คำต่อคำ “คณิต ณ นคร” อดีตอัยการสูงสุด

ถาม... หน้าที่ของทนายแผ่นดินต้องทำอะไรบ้าง ควรวางตัวเช่นไร จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอย่างไร
ตอบ... สื่อมีหน้าที่ทำความเข้าใจให้ถูกต้องที่มาของอัยการ อัยการมีที่มาเช่นไร เดิมการดำเนินคดีในประเทศไทยเหมือนระบบไต่สวนเปรียบเหมือนเปาบุ้นจิ้น แต่ปัจจุบันมีระบบการตรวจสอบความจริง 2 ชั้น คือ ชั้นเจ้าพนักงาน สำนวนของอัยการตรวจสอบความจริงแท้ ถ้าได้ความจริงว่าผิดจริง ถึงนำไปสู่ศาลเข้าขบวนการพิจารณา ความจริงที่ได้น่าจะถูกต้องที่สุด ขณะเดียวกันก็ได้ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา หรือจำเลย สังคมเดิม อำนาจตุลาการทางอาญารวมเบ็ดเสร็จอันเดียวกัน ต่อมาแยกส่วนพิจารณาพิพากษาศาล หลังจากมีการยื่นฟ้อง โดยภาวะวิสัยให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบ อัยการเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ เมื่อมีอำนาจอิสระ ความอิสระของศาล ไม่มีอิทธิพลภายนอกมาบีบบังคับให้อัยการปฏิบัติตามหน้าที่นั้นไม่ได้

กฎหมายเรามีเขียนไว้ในมาตรา 18 “รมต.ยุติธรรมการเมืองมีอำนาจทำคำสั่ง ตามประมวล ก.ม.อื่นได้คำสั่งนั้นๆ เป็นคำสั่งเฉพาะเรื่องเว้นแต่คำสั่งนั้นหรืออาจทำให้งานในหน้าที่การเมืองจะเข้ามายุ่งไม่ได้เลย” อัยการต้องรักษาความห่างกับการเมืองให้พอเหมาะ ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่าใกล้ชิดมาก ร้อนมาก ห่างมาก หนาวมาก ในมาตรา 17 บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญความเป็นอิสระไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอัยการเนื้อหาเหมือนเดิม คือ “นายกรัฐมนตรีมีอำนาจทำคำสั่งหรือวางระเบียบให้พนักงานอัยการทำหน้าที่อื่นใดนอกจากหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นได้คำสั่งนั้นๆ จะเป็นคำสั่งเฉพาะเรื่องหรือจะวางเป็นระเบียบไว้ให้พนักงานอัยการทำหน้าที่อย่างใดก็ได้ เว้นแต่คำสั่งหรือระเบียบนั้นๆ จะขัดต่องานในหน้าที่หรืออาจทำให้งานในหน้าที่เสื่อมทรามได้” แต่ว่าบ้านเมืองเรา ระบบของการบริหารงานบุคคลของเรา อาจจะยังไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ ถ้าสมบูรณ์พอระบบการบริหารงานบุคคลต้องเป็นระบบคุณธรรมต้องให้คนดีขึ้นสูง คนไม่ดีต้องขจัดออก ระบบของอัยการและของศาลก็เช่นเดียวกัน มักจะยึดหลักอาวุโส คนอาวุโส ความจริงอาจไม่ใช่ดีก็ได้ ก็ต้องย่อมเอาออกได้เหมือนกัน ผมเปรียบเทียบว่า สวะที่ลงที่นครสวรรค์มันไม่จำเป็นต้องลงทะเล ผักตบชวานี่นะต้องมีการเขี่ยขึ้น คนที่ลงทะเลได้ต้องคนดี คนดีเท่านั้น พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พูดอยู่แล้วไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่จะต้องให้คนดีปกครองบ้านเมือง เพื่อกำราบคนไม่ดี ถ้าระบบของเรามันฟังก์ชั่นจริงๆ ซึ่งระบบอัยการดีอยู่แล้วไม่ได้ขึ้นกับการเมืองเลย หรือว่าการเมืองมีอิทธิพลน้อย ก็มีคณะกรรมการข้าราชการอัยการ หรือ ก.อ. และถ้าเป็นศาลก็มีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.ดูแล แต่ดูแลแล้วต้องดูแลให้จริงจัง ให้คนที่ดี ขึ้นไปใช้อำนาจ ซึ่งอำนาจนี้เป็นอำนาจที่สำคัญ ซึ่งถ้าคนที่ใช้อำนาจไม่ดี ผลเกิดขึ้นคือกระทบต่อประชาชนทุกคน คนที่ไม่ผิดจะถูกฟ้อง หรือคนไม่ผิดเอาออกไป ไม่ถูกต้อง การทำงานของอัยการต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องรับผิดชอบในความถูกต้องชอบด้วยก.ม. หมายถึงว่าขบวนการในการทำงานจะทำเองหรือให้พนักงานสอบสวนทำให้ตั้งแต่ต้นก็ตามต้องดูแลว่าถูกต้องชอบด้วยก.ม.หรือไม่ เช่น แจ้งข้อหาถูกหรือไม่ ดำเนินการจัดการเรื่องทนายสมบูรณ์หรือยัง นอกจากชอบด้วย ก.ม.แล้ว ก.ม.ไม่สามารถวางรายละเอียดเองได้ เพราะเค้ามีระเบียบออกมาใช้ เราต้องมาดูแลให้ถูกต้องชอบด้วย รับผิดชอบในความละเอียดรอบคอบ พนักงานอัยการไม่ใช่ฟ้องมาฟ้องไป ด่วนมา ด่วนไป ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ แต่ต้องดูว่าสิ่งที่ดำเนินมาในชั้นการตรวจสอบความจริง มันถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าไม่สมบูรณ์ต้องสั่งสอบเพิ่ม หรือถ้าส่งพยานมาซักถามเพิ่มเติม ถือว่าเป็นภารกิจของเค้ารับผิดชอบในความเชื่อถือได้ของขบวนการ ซึ่งที่กล่าวมาไม่ใช่ง่ายที่จะยึดกันถ้าอัยการทำงานแบบโยนไป คดีสู่ศาลก็เดือดร้อนมนุษย์เราไม่ใช่สัตว์ทดลองที่ต้องทำอย่างนั้น

นายคณิต กล่าวยกตัวอย่างข้อความที่มาของอัยการในบทความอัยการเยอรมันและการดำเนินคดีอาญาของอัยการเยอรมันก่อนฟ้องว่า การดำเนินคดีอาญาในเยอรมันเป็นหน้าที่ของรัฐเอกชนผู้เสียหายฟ้องคดีได้อย่างจำกัด พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาคืออัยการ การเลิกใช้การดำเนินคดีอาญาระบบไต่สวนแล้วมาใช้การดำเนินคดีอาญาระบบกล่าวหาแทนเป็นเหตุให้มีอัยการขึ้น กล่าวคือว่า ในการดำเนินคดีอาญาระบบไต่สวนไม่มีการแยก “หน้าที่สอบสวนฟ้องร้อง” และ “หน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี” ออกจากกัน ให้องค์กรในการดำเนินคดีอาญาที่ต่างหากจากกันเป็นผู้ทำหน้าทั้งสองนั้น หากแต่ผู้ไต่สวน(ศาลหรือผู้พิพากษา) เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งสิ้น ตั้งแต่เริ่มคดี คือเมื่อทราบว่ามีการกระทำความผิดอาญาจนกระทั่งถึงตัดสินคดีอาญานั้นในที่สุด การดำเนินคดีอาญาตามระบบนี้จึงไม่มีโจทก์และจำเลย หากแต่มีผู้ไต่สวน(ซึ่งเป็นทั้งโจทก์และผู้ตัดสินในคนคนเดียวกัน) และผู้ถูกไต่สวนเฉพาะผู้ถูกไต่สวนนั้นก็มีสภาพเป็นเพียงวัตถุแห่งการซักฟอกในคดีนั้นเท่านั้น สภาพการณ์เช่นนี้เห็นกันในเวลาต่อมาว่าไม่ถูกต้องการที่อำนาจสอบสวนฟ้องร้องและอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีรวมอยู่ในองค์กรเดียวกันนั้นทำให้หาความเป็นกลางจากผู้ไต่สวนยาก และการที่ผู้ถูกไต่สวนมีสภาพเป็นเพียงวัตถุแห่งการซักฟอกนั้น ทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกไต่สวน เพราะเขาไม่มีโอกาสเพียงพอที่จะแก้ข้อหาหรือต่อสู้คดีได้ ยิ่งกว่านั้น ข้อบกพร่องของระบบไต่สวนนั้นเองได้เป็นเหตุชักนำให้เกิดวิธีการค้นหาความจริงโดยการทรมานร่างกายของผู้ถูกไต่สวนให้กล่าวความสัตย์

ถาม...เมื่อแต่ละคดีขึ้นสู่ศาล แต่พยานหลักฐานไม่พอ ทำให้เอาผิดไม่ได้ ตรงนี้ท่านมองเช่นไร
ตอบ...ในบ้านเรามีหลายคดีที่ศาลยกฟ้อง เพราะทำสำนวนไม่รอบคอบ ของเรามีเยอะแยะ อย่างที่ผมบอกไงว่าทำงานชุ่ยๆ ไง ของเราไปสู่ศาลแล้วจะสังเกตเห็นได้ถ้าจำเลยปฏิเสธสถิติยกฟ้องสูงมาก แสดงว่าเราไม่สนใจเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ อย่างเรื่องนี้เหมือนกัน ผมไม่เข้าใจอยู่ดียิงกันในผับดังต่อหน้าคนเยอะแยะเค้ายังยกฟ้องแสดงว่าต้องมีจุดบกพร่องตรงไหนไม่ควรเป็นงั้น หรือว่าใครไม่ทำผิดก็ควรสั่งไม่ฟ้อง กระบวนการยุติธรรมเราประสิทธิภาพค่อนข้างแย่ อย่างของญี่ปุ่นบอกว่า รมว.เกษตรฯ ถูกกล่าวหารับสินบนยิงตัวตาย ตนวิเคราะห์เพราะคนญี่ปุ่นเค้าถือเรื่องเกียรติถ้าอยู่อย่างไร้เกียรติตายดีกว่า ถ้าเปรียบเทียบคือคนญี่ปุ่นหน้าบาง คนไทยอย่างหนาตราช้าง ของเราผิดยังต่อล้อต่อเถียง รมต.คนนี้ถ้าไม่ตายผมว่าติดคุก เพราะอย่างอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถูกข้อหาเกี่ยวข้องคดีสินบน ผลที่สุดก็ยุบสภา เมื่อไปลงเลือกตั้งเขตเค้ายังได้รับเลือกเข้ามาอีก คิดดูว่า อดีตนายกฯคนนั้นเก่งขนาดไหน คล้ายบ้านเราแต่ผลที่สุดอดีตนายกฯ ถูกฟ้องและพวกหลายคนศาลพิพากษาจำคุกรวดเดียว ตัวอดีตนายกฯญี่ปุ่นโชคดีตายก่อนติดคุก ลูกน้อง ลิ่วล้อติดคุกระนาว แต่ของเรามีคดีที่ทำให้อดีต รมต.ติดคุกเพียง 2 คน ก็รู้กันอยู่ รมต.เกี่ยวกับยา ถามว่าทางการเมืองมีแค่นี้เหรอ เพราะว่ากระบวนการยุติธรรมใช้ไม่ได้ต้องปรับแต่งกันใหม่ มิเช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมต้องปรับการทำงานต้องกระฉับกระเฉงมุ่งมั่นเพื่อส่วนรวม

ถาม...ที่ผ่านมา คตส.ขัดแย้งกับอัยการ ทำให้ คตส.ต้องฟ้องเอง เช่น คดีหวยบนดิน คดีกล้ายาง และอีกหลายคดีที่จะตามมา ท่านคิดเห็นอย่างไร
ตอบ...ขณะนี้หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็น คตส. ป.ป.ช. ทะเลาะกับอัยการ เพราะว่า คตส. ป.ป.ช.และ อัยการฝ่ายรัฐพูดกันไม่รู้เรื่อง ต่างคนต่างมองว่าตนเองถูก อัยการก็บอกถ้าจะนำเรื่องสู่ศาลต้องสมบูรณ์ แต่หน่วยงานรัฐก็บอกตัวกูของกู ซึ่งผมมองว่าการทะเลาะกันไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ถูกทั้ง คตส. และอัยการ ซึ่งทั้ง 2 ท่านต้องทำให้เห็นชัดเจนไปทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำงาน ถ้าหน่วยงานรัฐฟ้องเองน่าห่วง ไม่มั่นใจ เพราะต้องจ้างทนายและทนายก็เป็นเอกชน ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ต้องโทษใคร ต้องนั่งคุยกันให้ลงตัว อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คุณแย่ไม่ทำตามผม อีกฝ่ายคุณก็แย่ไม่ทำตาม

ถาม...ในส่วนของคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นของตระกูลชินวัตร ของ บ.เอสซีแอทเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่
ตอบ...อันนี้ก็ต้องไปถามใจ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดดู

ถาม...จะฝากอะไรถึงรุ่นน้อง นายชัยเกษม นิติสิริ หรือไม่
ตอบ...ไม่ฝากอะไรเค้าแล้ว แล้วแต่เค้าคนละยุคคนละสมัย

ถาม...เป็นสิทธิที่จะทำได้หรือไม่หากอัยการจะไปเป็นพยานหรือทนายให้ผู้ถูกฟ้อง อย่างเช่นที่มีกระแสข่าวในคดีหวยบนดิน
ตอบ...
คิดว่าต้องย้อนไปในคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีกรรมการ ป.ป.ช.ท่านหนึ่งอาสาเข้าไปทำหน้าที่เป็นพยานถือว่าผิดมารยาท ไม่ถูกต้อง เพราะคุณทำหน้าที่ตรวจข้อเท็จจริงจะไปเป็นพยานได้ไง ซึ่งในกรณีกระแสข่าวอัยการจะเป็นทนายหรือพยานคดีหวยบนดินนั้นตนไม่รู้เรื่องมีอย่างนี้ด้วยเหรอ อัยการมีหน้าที่ดูสำนวน ซึ่งต้องไปถามนายชัยเกษม แต่โดยทั่วไปการที่จะให้บุคคลผู้ใดก็ตาม หรือจะเป็นคดีใดของประชาชนทั่วไปที่จะต้องไปเป็นพยานศาลจะไม่เชิญใครไปเป็นพยาน แต่ศาลจะออกหมายเรียก เป็นหมายศาล ถ้าศาลเรียกมาก็ต้องไป ใครจะไปโน้มน้าวศาลได้ เพราะศาลมีเอกภาพ

ถาม...ในอดีตกระบวนการยุติธรรมน่ายกย่อง น่าเชื่อถือ ศรัทธา แต่ขณะนี้คนส่วนใหญ่มองและมีเสียงสะท้อนในภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้าม หรือกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนไปหรือไม่
ตอบ...ต้องมองระบบบริหารงานบุคคลเป็นสำคัญ ถ้าเลือกสรรคนดีขึ้นไปไม่มีปัญหา ซึ่งผมก็ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นคนดี แต่อย่างน้อยสุด ผมก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจาก ก.อ. ถ้าจะมีเรื่องเกี่ยวกับความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของอัยการ คนที่จะต้องอธิบายได้ต้องคือ ก.อ. นะ ไม่ใช่ตัวผม ทำไมเลือกคนนี้ซึ่งต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่งควรไปสัมภาษณ์ ก.อ.ดูเลือกคนนี้ขึ้นไป เพราะอะไร ถ้าบอกไว้ง่าย ๆ คือ อาวุโส ก็ไม่ว่ากัน อาวุโสก็ไม่แน่นะ ต้องดูว่าอย่าลืมว่าคนที่ขึ้นไปสูงสุดมันกุมอำนาจ กุมภาระกิจไว้เยอะ ถ้าหากได้คนไม่เหมาะสมเท่าที่ควรก็ยุ่งสังคมก็แย่

ถาม...มีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในองค์กรอิสระ DSI และ งานด้านกระบวนการยุติธรรมบ่อยครั้ง จะทำให้มีผลต่อการดูแลเรื่องคดีหรือไม่ และหลายฝ่ายมองมีการเมืองแทรกแซง
ตอบ...การโยกย้ายผมตอบได้เฉพาะส่วนของอัยการ สมัยผมไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่ง แต่ผมก็เกือบเอาตัวไม่รอดการเมืองจะให้ผมสั่งฟ้องคดีสปก. 4-01 เพราะมีการเล่นทางการเมือง จนมีการเลือกตั้งใหม่ ผมรู้สึกไม่มีทางเลือกการเมืองบีบให้รีบสั่ง ผมเห็นว่าเค้าไม่ผิด ผมเลยสั่งไม่ฟ้อง ผมเกือบโดนปลด แต่ผมก็ไม่มายนะ เพราะผมไม่ได้ทำงานเพื่อใคร ผมทำงานเพื่อประเทศชาติส่วนรวม กระบวนการยุติธรรมคนที่จะเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษาเป็นง่ายจบ ม. 6 สอบไล่ ก.ม.ให้ได้ได้เนติบัญฑิต นิติศาสตร์บัญฑิต แล้วไปสอบใบทนาย สอบให้ได้ แต่จะเป็นพนักงานอัยการที่ดี และผู้พิพากษาที่ดีได้มันคนละเรื่องกัน อย่างไรก็ตาม สมัยผมเป็นอัยการสูงสุดผมย้ายใครผมจะมีข้อมูลและมีคำตอบ ตอบได้ชัดเจนผิดจริงต้องย้าย ถ้าผมทำไม่ถูกต้องผมพร้อมถอนคำสั่งแต่ที่ผ่านมาก็ยกมือไหว้ทุกคนยอมรับในสิ่งที่ผมทำถูกต้อง

ถาม...กระบวนการยุติธรรมการเมืองเข้าแทรกแซงได้ง่ายหรือไม่ จะมีการรับสินบนหรือเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อล้มคดีได้หรือไม่
ตอบ...ผมไม่รู้ เกิดได้ไง ถ้าเป็นอย่างนั้นทุจริตแล้ว แต่ ก.ม.เรามีกรอบป้องกันการเมืองอยู่แล้วเพียงแต่ว่าคนต่างหาก คนอิสระอยู่แล้ว ต้องโทษคนให้การเมืองวิ่งมา หรือเราวิ่งหาการเมือง อย่างไรก็ตาม สมัยผม ผมแสดงให้เห็นว่า เราทำในสิ่งที่ต้องอยู่ได้แต่อยู่ยากเหมือนกัน สังคมเรา แล้วผมนี่ ผมรอดปากเหยี่ยวปากกาไปได้เพราะเป็นครูบาอาจารย์สอนหนังสือ ลูกศิษย์ผมมีเยอะผมมีฐานช่วยเหลือผมได้ ไม่ใช่ทำตามเค้าทุกเรื่อง ต้องระมัดระวังจริงแล้วการที่เราจะทำงานได้ดีเราต้องไม่สนใจอะไร อย่างในศาลต่างประเทศ ประเทศที่เจริญแล้วกระบวนการยุติธรรมต้องดี

ถาม...พูดได้หรือไม่กระบวนการยุติธรรมยุคนี้ถึงจุดเสื่อมถอย
ตอบ...
ระบบความยุติธรรมก็อยู่ดีเป็นปกติ แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารงานบุคคล การจัดสรรบุคคลที่ดูแล อย่างสมัยก่อนคดีซื้อเสียงที่ จ.บุรีรัมย์ ผมสั่งฟ้องฐานพยายามตระเตรียม ซึ่งเป็นที่ฮือฮา แต่ทางตำรวจกลับมองว่าคดีนี้ไม่มีความผิด ซึ่งท้ายที่สุดคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ทุกอย่างจบศาลตัดสินให้คนผิดต้องติดคุก ซึ่งในคดีตระเตรียมที่ตำรวจมองว่าไม่ผิดส่วนใหญ่จะเป็นคดีการวางเพลิง หรืออื่น ๆ
นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด
นายชัยเกษม  นิติสิริ อัยการสูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น