อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
เป็นข่าวตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตกลง “อัยการ” จะรับแก้ต่างคดีให้จำเลยในคดีหวยบนดินอย่าง “ครม.ทักษิณกับพวก” หรือไม่? หลัง รมต.ที่เป็นมือกฎหมายของพรรค พปช.ออกมาชี้ช่องว่า อดีต ครม.ดังกล่าวสามารถให้อัยการแก้ต่างคดีนี้ในชั้นศาลได้ ขณะที่สุ้มเสียงของอัยการสูงสุดที่ตอนแรกบอก เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะทั้งโจทก์-จำเลยต่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่พอพูดซ้ำอีกที กลับส่งสัญญาณว่าอัยการคงรับแก้ต่างให้ ถ้าเห็นว่าจำเลยคดีนี้ไม่ผิด พูดอย่างนี้ให้น่าสงสัยว่าที่อัยการไม่สั่งฟ้องจำเลยคดีนี้ตามที่ คตส.เสนอ แต่กลับให้สอบเพิ่ม เป็นเพราะอยากมาเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้น อัยการคงต้องถามตัวเองอีกครั้งว่า ยังเป็น “ทนายของแผ่นดิน” อยู่หรือไม่? หรืออยากเป็น “ทนายของจำเลยแผ่นดิน” มากกว่า
คงยังไม่ลืมกันใช่มั้ยว่า เหตุที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ต้องออกโรงยื่นฟ้องคดี “หวยบนดิน” ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง (เมื่อ 10 มี.ค.) เพราะอัยการไม่ยอมสั่งฟ้องให้ ซึ่ง คตส.เสนอให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลฯ เพื่อเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ ครม.ทักษิณ รวมทั้งคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรวม 47 คน ฐานร่วมกันดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควร และไม่เคยมีการนำส่งรายได้จากการดำเนินโครงการดังกล่าวเข้าคลังตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาหลายมาตรา (มาตรา 147, 152 ,153, 154,157 ประกอบมาตรา 83, 84, 86, 90, 91) ทั้งยังผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 (มาตรา 3, 4, 8, 9, 10, 11) ด้วย
แต่อัยการกลับทำเหมือนไม่อยากสั่งฟ้องและ “ประวิงเวลา” โดยอ้างว่า สำนวนสอบของ คตส.ยังไม่สมบูรณ์ จึงเสนอให้ คตส.ไปสอบเพิ่ม 5 ประเด็น เช่น ให้ คตส.นำพยานที่ให้ถ้อยคำในชั้นพนักงานสอบสวนมาให้การกับ คตส.อีกครั้ง ทั้งที่โดยระเบียบของ ป.ป.ช.(คตส.ทำงานและมีอำนาจเหมือน ป.ป.ช.) ก็ระบุชัดว่า สามารถนำสำนวนของพนักงานสอบสวนมาใช้เป็นสำนวนในชั้นการไต่สวนได้ หรือกรณีที่อัยการต้องการให้ คตส.นำผู้ชำนาญการพิเศษมายืนยันว่า การออกสลากหวยบนดินเป็นสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบกันแน่ ซึ่ง คตส.ก็ชี้แจงแล้วว่าจะให้ไปหาผู้เชี่ยวชาญจากที่ไหน เพราะไม่เคยมีการจดทะเบียนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไว้ และการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่า หวยบนดินเป็นสลากกินรวบ ก็น่าจะเป็นหลักฐานเพียงพอแล้ว ไม่แค่นั้น อัยการยังจะให้ คตส.ไปตรวจสอบมาให้ได้ว่า รายได้จากโครงการหวยบนดินถูกนำไปใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง ใครได้รับเงินไปบ้าง ทั้งที่ความผิดในคดีนี้ แค่ผู้เกี่ยวข้องไม่นำเงินรายได้จากการออกหวยบนดินส่งเข้าคลังหรือเข้ารัฐ ก็เป็นความผิดแล้ว แต่อัยการยังจะให้ คตส.ไปหารายละเอียดปลีกย่อยว่าเงินรายได้ดังกล่าวไปอยู่ที่ไหน อย่างไร และใครได้ไปบ้าง!?!
เมื่อคณะทำงานร่วมทั้งฝ่าย คตส.และอัยการ ประชุมกันถึง 2 ครั้ง แล้วยังตกลงกันไม่ได้ เพราะอัยการยังยืนยันให้ คตส.สอบเพิ่ม ขณะที่ คตส.ก็ยืนยันว่า สำนวนคดีนี้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องสอบเพิ่ม คตส.จึงใช้สิทธิที่มีตามกฎหมาย ป.ป.ช.ส่งฟ้องคดีหวยบนดินต่อศาลฯ เอง โดยสำนวนพยานหลักฐานที่ คตส.รวบรวมส่งศาลมีมากถึง 45 ลัง ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งคดีว่าจะรับฟ้องหรือไม่วันที่ 14 พ.ค.นี้
คดีหวยบนดิน ไม่เพียงสังคมจะได้เห็นท่าทีแปลกๆ ของสำนักงานอัยการสูงสุดทั้งก่อนและหลัง คตส.ส่งฟ้องคดีต่อศาล โดยก่อนที่ คตส.จะส่งฟ้องคดีต่อศาลนั้น นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานอัยการที่พิจารณาคดีหวยบนดินที่เสนอความเห็นต่ออัยการสูงสุด (ชัยเกษม นิติสิริ) ว่า สำนวนคดีหวยบนดินของ คตส.ยังไม่สมบูรณ์ จึงควรให้ คตส.สอบเพิ่ม 5 ประเด็น ซึ่งน่าสังเกตว่า หลังมีข่าวว่า คตส.จะส่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลเอง นายวัยวุฒิและคณะทำงานอัยการ ได้เปิดแถลง (12 ก.พ.) โดยพูดทำนองว่า คตส.อาจจะยังส่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลเองไม่ได้ เพราะ คตส.จะส่งฟ้องคดีเองได้ก็ต่อเมื่ออัยการมีความเห็นต่างจาก คตส. ซึ่งนายวัยวุฒิอ้างว่าการที่อัยการเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์และเสนอให้ คตส.สอบเพิ่ม ไม่ใช่ความเห็นที่แตกต่าง!?!
ไม่เท่านั้น นายวัยวุฒิยังพยายามปกป้องภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ให้ถูกมองว่าเข้าข้างจำเลยอย่าง ครม.ทักษิณที่ถูกฟ้องคดีหวยบนดิน โดยอ้างว่าการที่อัยการสูงสุดมีความเห็นให้ คตส.สอบเพิ่มในคดีนี้ มีขึ้นก่อนที่อัยการจะทราบว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล พูดง่ายๆ ก็คือ นายวัยวุฒิกำลังบอกว่า การตัดสินใจของอัยการมีขึ้นโดยไม่ทราบว่าพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณจะได้เป็นรัฐบาลนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นการ “โกหกคำโต” ต่อสาธารณชน เพราะคณะทำงานอัยการได้สรุปความเห็นเสนออัยการสูงสุดให้ คตส.สอบเพิ่มเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ซึ่งขณะนั้นสังคมต่างทราบแล้วว่า รัฐบาลคือพรรคพลังประชาชน เพราะพรรคพลังประชาชนได้ประกาศจับมือพรรคเล็ก 3 พรรค(พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา-พรรคมัชฌิมาธิปไตย-พรรคประราช) จัดตั้งรัฐบาล 254 เสียงตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.50 แล้ว ก่อนจะมีอีก 2 พรรค(พรรคชาติไทย-พรรคเพื่อแผ่นดิน) มาสมทบเพิ่มในภายหลัง!
นอกจากคำพูดแปร่งๆ ของอัยการจะปรากฏให้เห็นก่อนที่ คตส.จะส่งฟ้องคดีหวยบนดินต่อศาลแล้ว ยังมีท่าทีที่ดูไม่ค่อยน่าไว้วางใจของสำนักงานอัยการสูงสุดเกิดขึ้นหลังจาก คตส.ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลด้วย เพราะหลังจากคดีหวยบนดินผ่านจากมือ คตส.ขึ้นสู่ศาลได้เพียง 1 สัปดาห์ มือกฎหมายของพรรคพลังประชาชนอย่างนายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่มีดีกรีเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้ออกมาชี้ช่อง(18 มี.ค.)ให้ ครม.ทักษิณที่ตกเป็นจำเลยในคดีหวยบนดินว่า มีสิทธิขอให้อัยการแก้ต่างให้ได้ โดยอ้างว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ไม่พูดให้ชัดว่า การที่ คตส.เคยให้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแทน คตส. แต่อัยการกลับต้องมาเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยแทนนั้น จะสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนหรือไม่? โดยบอกเพียงว่า รัฐบาลสามารถยื่นให้อัยการสูงสุดแก้ต่างให้ได้ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด พูดถึงกรณีที่ ครม.ทักษิณในฐานะจำเลยในคดีหวยบนดินที่ถูก คตส.ส่งฟ้องต่อศาลฯ อาจยื่นเรื่องขอให้อัยการแก้ต่างคดีให้ในชั้นศาล (19 มี.ค.) ว่า ถ้าพิจารณาในแง่กฎหมาย อัยการมีอำนาจเป็นผู้ว่าความแก้ต่างคดีให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่คดีนี้มี คตส.ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ส่วนผู้เสียหายในคดีไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง ฯลฯ ก็เป็นหน่วยงานของรัฐ การจะตัดสินใจว่าอัยการจะแก้ต่างให้ผู้ถูกฟ้องคดีหวยบนดินหรือไม่ อัยการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง โดยตนจะหารือกับผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุด หากผู้ถูกฟ้องมีการยื่นเรื่องมาจริง
นายชัยเกษม ยังพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง (21 มี.ค.) โดยบอกว่า อัยการยังไม่ได้ดูรายละเอียดของคดีหวยบนดิน ที่ผ่านมาเพียงแต่ให้ คตส.กลับไปสอบเพิ่ม เพราะหลักฐานยังไม่ครบถ้วน ซึ่งหากอัยการมีความเห็นว่าผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ไม่ผิดตั้งแต่แรก ก็อาจจะเป็นไปได้ที่อัยการจะเข้าไปเป็นทนายแก้ต่างคดีให้!?!
ด้านนายสัก กอแสงเรือง กรรมการและโฆษก คตส.พูดถึงกรณีที่ ครม.ทักษิณอาจขอให้อัยการเป็นทนายแก้ต่างคดีหวยบนดินให้ว่า ไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่ฝากข้อคิดไว้ว่า คดีหวยบนดินเป็นคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อรัฐและทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ อีกทั้งอัยการก็เห็นสำนวนการไต่สวนทั้งหมดของ คตส.แล้ว สมควรเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยหรือไม่?
เห็นท่าทีของอัยการสูงสุดและแกนนำพรรคพลังประชาชนที่ชี้ช่องให้ ครม.ทักษิณใช้บริการอัยการให้แก้ต่างคดีหวยบนดินให้แล้ว ลองไปฟังความเห็นของฝ่ายอื่นๆ ดูบ้างว่า การกระทำดังกล่าวจะเหมาะสมหรือไม่?
ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่ตนเป็นอัยการสูงสุด ไม่เคยมีคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน แต่คดีแพ่งเคยมี ซึ่งอัยการเคยเป็นทั้งโจทก์ยื่นฟ้องและเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยในคดีเดียวกัน แต่ตนเห็นว่าการให้อัยการรับทำหน้าที่ทั้งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องและเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จึงเสนอทางแก้ปัญหาไปแล้ว ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกประชาชนทั่วไปฟ้องนั้น อัยการก็จะใช้ดุลพินิจแก้ต่างให้เป็นกรณีๆ ไป
“เดิมที่อัยการจะเข้าไปแก้ต่าง(คดี) ให้ (จำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ)เนี่ย ก็คือคดีที่ราษฎรเขาฟ้องเจ้าพนักงาน อย่างคดีนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ท่านก็ถูกราษฎรคนหนึ่งฟ้องท่าน อันนั้นล่ะอัยการก็เข้าไปดูแล แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะไปแก้ต่างให้เจ้าพนักงานที่ถูกประชาชนฟ้องเนี่ย มันเป็นดุลพินิจ ...ผมยกตัวอย่างให้ฟังสักเรื่องหนึ่งละกัน เคยมีคดีแต่ไม่ใช่คดีอาญา เป็นคดีแพ่งเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ เครื่องบินของกองทัพอากาศ บินไปตกบนอาคารของกรมการบินพาณิชย์ กองทัพอากาศก็เป็นหน่วยราชการด้วยกัน ทีนี้ตามที่เราปฏิบัติกันมานานมาก อัยการก็เข้าไปแก้ต่างให้ กรมการบินเขาฟ้องกองทัพอากาศก่อน และอัยการก็ไปดำเนินคดีให้ พอกองทัพอากาศถูกฟ้อง เขาก็ส่งเรื่องมาให้อัยการแก้ต่าง เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าอัยการไปทะเลาะกันเอง สมัยนั้นในเรื่องนี้ ผมก็เสนอรัฐบาลตอนนั้นผมยังอยู่ในตำแหน่ง ผมบอกว่า หน่วยงานของรัฐมาฟ้องกันเองเนี่ยมันไม่ถูก จะต้องตัดสินโดยกระบวนการทางบริหาร ทางรัฐบาลก็เลยตั้งคณะกรรมการชี้ขาดคดีแพ่งขึ้นมา(หากคณะกรรมการชี้ว่าฝ่ายไหนผิด ฝ่ายนั้นก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้อีกฝ่าย)”
ขณะที่อดีตอัยการสูงสุดอีกท่านหนึ่งซึ่งขอสงวนนาม พูดถึงกรณีที่ ครม.ทักษิณอาจขอให้อัยการแก้ต่างคดีหวยบนดินที่ถูก คตส.ฟ้องว่า แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะขอให้อัยการแก้ต่างคดีให้ได้ แต่อัยการก็จะใช้ดุลพินิจเป็นกรณีๆ ไป ถ้าเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดชัดเจนหรือไปข่มเหงรังแกผู้อื่น อัยการก็ไม่รับแก้ต่างคดีให้ หรือถ้าเป็นคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอยู่แล้ว อัยการก็ไม่สามารถรับแก้ต่างคดีให้จำเลยในคดีเดียวกันได้ ส่วนกรณีคดีหวยบนดิน ที่อัยการไม่ได้เป็นโจทก์ เพราะไม่ได้สั่งฟ้องแทน คตส. แล้วอัยการจะรับแก้ต่างให้จำเลยในคดีนี้ได้หรือไม่นั้น อดีตอัยการสูงสุดผู้นี้ บอกว่า กรณีนี้หากอัยการรับแก้ต่างให้จำเลย จะมีประเด็นที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะอัยการเห็นสำนวนคดีของ คตส.หมดแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์ในการแก้ต่างให้จำเลย
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ 1 ใน คตส. มองกรณีที่อัยการไม่สั่งฟ้องคดีหวยบนดินตามที่ คตส.เสนอ แต่อาจรับเป็นทนายแก้ต่างคดีให้ ครม.ทักษิณว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะยังไม่ทราบว่าระเบียบอำนาจหน้าที่ของอัยการเขียนไว้อย่างไร คิดว่า ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกประชาชนทั่วไปฟ้อง อัยการสามารถแก้ต่างคดีให้ได้ แต่ถ้ากรณีนี้อัยการรับแก้ต่างคดีให้ผู้ที่ถูก คตส.ฟ้อง ก็คงมีคำถามว่า แล้วคดีอื่นที่อัยการรับเป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้ คตส. อัยการจะรับแก้ต่างคดีให้จำเลยด้วยหรือไม่ ถ้ารับ แล้วอัยการจะสู้กันเองหรือ?
“ผมยังไม่ได้ไปดูระเบียบดูอำนาจเขา(อัยการ)ก่อน ยังงงๆ อยู่ อำนาจหน้าที่ของเขาเขาทำอะไร เพราะคดีที่ผม(คตส.) ให้อัยการฟ้อง ก็มีอยู่เหมือนกัน คือถ้าอัยการฟ้อง ก็ต้องถามสิ สมมติ(คดีทุจริตบ้าน)เอื้ออาทรเนี่ย อัยการเห็นด้วย(กับ คตส.) ก็ฟ้องเจ้าหน้าที่ไป แล้วแบบนี้คดี(บ้าน)เอื้ออาทร อัยการจะแก้คดีให้(จำเลย)มั้ย สมมติอัยการแก้ให้ ซีกหนึ่งก็อัยการ(สั่งฟ้อง) อีกซีกหนึ่งก็อัยการ(แก้ต่างคดีให้จำเลย) สู้กันเองเหรอ ผมงงๆ มันอะไรกัน (ถาม-ซึ่ง ครม.ทักษิณหมดอำนาจไปแล้วด้วย ยังให้อัยการแก้ต่างได้เหรอ?) เท่าที่ผมเข้าใจ อัยการเขาก็เป็นเรื่อง เราทำงานหน้าที่ แล้วถูกใครเขาฟ้องเนี่ย ตรงนี้อัยการมาช่วย ทีนี้ถ้ารัฐฟ้องเองเนี่ย แล้วอัยการไปช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ก็งงสิแบบนี้”
ขณะที่นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง มองว่า อัยการคงรู้สึกอิหลักอิเหลื่อพอสมควร หากต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในคดีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วไม่แน่ใจว่า คำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่สามารถให้อัยการแก้ต่างคดีให้นี้ จะครอบคลุมเฉพาะข้าราชการที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่และถูก คตส.ฟ้องเท่านั้น หรือจะครอบคลุมถึงอดีตนายกฯ และอดีต ครม.ด้วย ดังนั้นคงต้องดูในแง่กฎหมายว่าเปิดให้หรือไม่ แต่ถ้าในแง่ความชอบธรรมนั้น ตนเห็นว่าไม่ชอบธรรมแน่นอนที่อดีตนายกฯ และ ครม.จะให้อัยการแก้ต่างคดีที่ถูกองค์กรของรัฐอย่าง คตส.ฟ้อง
ด้านนายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยืนยันว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสมแน่นอนที่ ครม.ทักษิณจะให้อัยการแก้ต่างคดีหวยบนดินให้ ส่วนอัยการก็ไม่มีสิทธิที่จะรับเป็นทนายแก้ต่างคดีให้ ครม.ทักษิณ เพราะ ครม.ทักษิณคือ “จำเลยของแผ่นดิน” ส่วนอัยการคือ “ทนายของแผ่นดิน” ไม่ใช่ “ทนายของจำเลยแผ่นดิน” และอัยการก็ไม่สามารถอ้างการที่ตนไม่เป็นโจทก์สั่งฟ้องแทน คตส.ในคดีนี้ เพื่อไปเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยได้
“(อัยการ)ไม่มีสิทธิที่จะไปทำอย่างนั้นหรอก คือ คตส.เป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อตัวเอง(อัยการ) มีความเห็นทางกฎหมายไม่ตรงกัน ไม่รับเป็นทนายให้ คตส.แล้ว ก็ไม่ใช่ไปรับว่าความให้จำเลยของรัฐ ต้องเอาหลักอย่างนี้ ต้องไม่ว่าความให้กับจำเลยของรัฐ (ถาม-ถ้าอัยการตัดสินใจไปอีกทาง โดยช่วยจำเลยล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?) ผมคิดว่าจะถูกจับตามองมาก เพราะวันนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดก็ต้องถูกคนเพ่งเล็งมากแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น คนเขาอึดอัดมากนะ ความยุติธรรมที่ล่าช้า เช่น สอบสวนเพิ่มเติมไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งอันนี้มันจำเป็นหรือไม่จำเป็น คือถ้าหากว่าเป็นการประวิง เพื่อทำให้(คดี)ล่าช้าเนี่ย มันก็เสียหาย ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นเวลาที่ต้องกอบกู้เกียรติภูมิของสำนักงานอัยการสูงสุด (ถาม-อัยการอ้างได้มั้ยว่า จำเลยที่ถูกฟ้องเนี่ย สำนักงานสลากฯ ก็มี กระทรวงการคลังก็มี?) คือ ข้าราชการตกเป็นจำเลยของรัฐได้ ในกรณีนี้อัยการไม่มีสิทธิที่จะไปเป็นทนายจำเลยให้ แต่ถ้าถูกบุคคลภายนอกฟ้องข้าราชการให้ต้องรับผิด เพราะเหตุที่ปฏิบัติหน้าที่ อันนี้ใช่(ให้อัยการแก้ต่างคดีให้ได้) แต่นี่รัฐฟ้อง (ให้อัยการแก้ต่างให้)ไม่ได้ ถ้า(เจ้าหน้าที่รัฐ) ถูกนาย ก.นาย ข.ฟ้อง ก็อีกเรื่องหนึ่ง คือ อัยการเป็น “ทนายความของแผ่นดิน” ไม่ใช่ “ทนายความของจำเลยแผ่นดิน” คือวันนี้พวกนั้น (ครม.ทักษิณ) เป็นจำเลยของแผ่นดิน อัยการไม่มีสิทธิที่จะไปว่าความให้จำเลยแผ่นดิน”
นายไพศาล ยังเตือนสติอัยการด้วยว่า นอกจากอัยการจะไม่มีสิทธิรับแก้ต่างคดีให้จำเลยของแผ่นดินแล้ว สำหรับคดีหวยบนดิน ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะอัยการเห็นสำนวนคดีของ คตส.หมดแล้ว หากอัยการรับแก้ต่างให้จำเลย ย่อมสร้างความเสียหายแก่รัฐและแผ่นดินอย่างมาก ดังนั้นหากอัยการไม่ตระหนักในหน้าที่ของตนและไม่รักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิของสถาบันสำนักงานอัยการสูงสุด วันหนึ่งอาจมีประชาชนออกมาบอกก็ได้ว่า “องค์กรนี้ไม่มีประโยชน์แล้ว ควรยุบทิ้งซะดีกว่า”!!