เอเอฟพี – ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันอังคาร (16) ระบุเศรษฐกิจกำลังประสบความเสี่ยงทั้งด้านตัวเลขการเจริญเติบโตและเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดหุ้นดีดตัวปิดตลาดเพิ่มขึ้นขานรับมติของเฟด รวมถึงข่าวการเข้าพยุงกิจการของอเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (เอไอจี) บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่าอาจเป็นโดมิโนตัวต่อไปที่จะล้มตามวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อย่างเลห์แมน บราเธอร์ส
ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในครั้งนี้ มีขึ้นภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันอังคาร (16) ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับบรรดานักลงทุนที่คาดว่า เฟดน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ หลังเกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ในตลาดการเงิน สืบเนื่องจากการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้
ขณะที่ เอฟโอเอ็มซี ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ขณะที่ตลาดการเงินมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น แต่ตลาดแรงงานกลับอ่อนแอลงนับตั้งแต่การประชุมครั้งล่าสุดของเฟดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ความเสี่ยงด้านตัวเลขการเจริญเติบโตที่ลดลง และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เป็นประเด็นที่เฟดจะต้องให้ความสำคัญต่อไป
“คณะกรรมการฯ จะจับตาพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างระมัดระวัง และจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเสถียรภาพด้านราคาต่อไป” แถลงการณ์ของเฟดระบุในตอนท้าย
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 141.51 จุด หรือ 1.30 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 11,059.02 จุด หลังการซื้อขายในช่วง 10 นาทีแรกดัชนีร่วงลงถึง 155.92 จุด หรือ 1.41 เปอร์เซ็นต์ ส่วนดัชนีแนสแดกพุ่งขึ้น 27.99 จุด หรือ 1.28 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 2,207.90 จุด ขณะที่ดัชนีสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์สบวก 20.90 จุด หรือ 1.75 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 1,213.60 จุด
ทั้งนี้ การดีดตัวกลับมาปิดตลาดเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เป็นผลสืบเนื่องมาจากรายงานข่าวที่ว่าเฟดได้ขอให้โกลด์แมน แซคส์ และเจพี มอร์แกน เชส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ปล่อยเงินกู้จำนวน 70,000-75,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับเอไอจี รวมถึงกรณีที่ทางการรัฐนิวยอร์กยอมให้เอไอจีกู้ยืมเงินจำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์ด้วยการนำทรัพย์สินของบริษัทมาค้ำประกัน หลังดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดทรุดลงถึง 504.48 จุด หรือ 4.42 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 10,917.51 เมื่อวันจันทร์ (15) ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดใน 1 วันนับตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2001