xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติไขก๊อกตีจากผู้บริโภคอเมริกัน

เผยแพร่:   โดย: แม็กซ์ ฟราด วูลฟ์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Foreign spigot off for US consumers
By Max Fraad Wolff
27/08/2008

นักลงทุนต่างชาติซึ่งได้เผชิญกับสถานการณ์ตกต่ำต่างๆ นานาในระบบเศรษฐกิจอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เงินดอลลาร์ทรุดต่ำ และมูลค่าของแฟนนี่ เม กับ เฟรดดี้ แมค พากันเสื่อมถอย จะไม่ยอมให้เงินกู้แก่สหรัฐฯ ในสัดส่วนที่มหาศาลอย่างที่เคยเป็นมา คือ มากกว่า 50% ของเงินออมที่มีอยู่ทั่วโลก บทบาทของแฟนนี่และเฟรดดี้ซึ่งเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อผู้คนได้อย่างยาวนาน แม้กระทั่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว หายนะเรื่องนี้ก็จะยังไม่จบ

ขณะที่ความสนใจของคนอเมริกันเคลื่อนออกจากกีฬาโอลิมปิก มันก็ถึงเวลาที่จะต้องตระหนักกันจริงจังว่า โครงสร้างภายใต้ระบบเศรษฐกิจของตนนั้น ผุกร่อนดั่งถูกปลวกแทะไท้ไปแล้วเพียงใด

ในยามที่ต้องเผชิญอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ระดับราคาบ้านที่อยู่อาศัยตกต่ำ อัตราดอกเบี้ยจดจำนองอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง เงื่อนไขการขอสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนจะต้องใส่ใจ คือการที่โครงสร้างซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนความพยายามมีบ้านเป็นของตนเองในหมู่คนอเมริกัน กำลังถูกทำร้ายโดยปรากฏการณ์ของมูลค่าตลาด สถานการณ์ของแฟนนี่ เม และเฟรดดี้ แมคกำลังดำดิ่งสู่หายนะ

แฟนนี่ เมย์ เป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นในช่วงวิกฤตรุนแรงของยุคเศรษฐกิจตกต่ำสาหัส ซึ่งถูกจดจำในชื่อของ The Great Depression การจัดตั้งดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณการล้มละลาย พร้อมกับเพิ่มจำนวนของผู้ที่จะมีบ้านเป็นของตนเอง ในปี 1968 มีการออกกฎหมายที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพของแฟนนี่ เม จากการเป็นหน่วยงานในสังกัดของภาครัฐ ไปเป็นบริษัทมหาชน ส่วนเฟรดดี้ แมค ซึ่งเริ่มงานรับใช้ประชาชนมาตั้งแต่ปี 1970 ได้อนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนไปแล้วทั้งสิ้นราว 50 ล้านครัวเรือน

บทบาทหน้าที่ของแฟนนี่ และเฟรดดี้ถูกระบุไว้ชัดเจนว่า มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนสามารถเป็นเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัยได้อย่างง่ายดายขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง การดำเนินงานของทั้งสองปรากฏในรูปแบบของการเป็นตัวกลางระหว่างตลาดทุนนานาชาติกับผู้คนที่ต้องการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ทั้งสององค์กรได้รับเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยถูกโดยมีรัฐบาลอเมริกันเป็นผู้ค้ำประกัน เงินที่ได้มาจะนำไปซื้อพวกสินเชื่อจดจำนองที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินต่างๆ แล้วนำสินเชื่อดังกล่าวมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อการกระจายความเสี่ยง แล้วนำออกจำหน่ายให้แก่นักลงทุนอีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้ การรับซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จะช่วยแบงก์ลดการแบกภาระความเสี่ยง พร้อมกับอัดฉีดเม็ดเงินเข้าให้แบงก์ โดยที่แบงก์ก็มีเม็ดเงินต้นทุนต่ำไปปล่อยกู้เพิ่ม

ดังนั้น แฟนนี่และเฟรดดี้จึงมีบทบาทที่ช่วยเอื้อให้แบงก์ปล่อยกู้แก่การซื้อบ้านที่อยู่อาศัยได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน ทั้งสององค์กรนี้ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระหว่างสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อกับนักลงทุนด้วย การดำเนินงานเช่นนี้เป็นการแปลงสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนที่นักลงทุนประเภทต่างๆ ทั่วโลกสามารถเข้าไปร่วมเทรดได้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนประเภทสถาบันการเงิน นักลงทุนประเภทองค์กรธุรกิจ หรือนักลงทุนจากภาครัฐ

ภาพรวมที่ปรากฏผ่านมาดูลงตัว เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ประชาชนได้รับอนุมัติสินเชื่อไปซื้อบ้านที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สถาบันการเงินขายสินเชื่อให้แก่แฟนนี่และเฟรดดี้ องค์กรทั้งสองเอาสินเชื่อมาจัดกลุ่มก้อนเพื่อกระจายความเสี่ยงและแปลงรูปเป็นหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในการค้ำประกันของทั้งสององค์กร ในขณะที่เม็ดเงินจากนักลงทุนทั่วโลกก็ไหลเข้าไปสนับสนุนความต้องการซื้อหาบ้านที่อยู่อาศัยของคนอเมริกัน ซึ่งนั่นก็คือการที่กระบวนการซื้อหาบ้านที่อยู่อาศัยของคนอเมริกัน พัฒนาขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานที่อิงอยู่กับเม็ดเงินลงทุนของนานาชาติ

นับถึงบัดนี้ สินเชื่อจดจำนองมูลค่ารวมกันได้มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ถูกขายแก่นักลงทุนต่างชาติ บ้านของนายเออาจสัมพันธ์อยู่กับธนาคารกลางของประเทศเอ็กซ์ซึ่งอยู่ห่างจากสหรัฐฯไปไกลหลายพันไมล์ทีเดียว ทังนี้ อันที่จริงแล้วโครงสร้างดังกล่าวก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี หรือไม่สามารถจะดำเนินไปเรื่อยๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ภายในรูปแบบปัญหาที่กัดเซาะระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน โครงสร้างที่เคยดำเนินอยู่อย่างราบรื่น มีอันจะต้องสั่นคลอน ด้วยปัจจัยแทรกแซงภายนอกระบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการล้มละลายที่ทวีจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าเรื้อรัง ตลอดจนขนาดของหนี้ที่สะสมขึ้นมาจนมหาศาล ดังนั้น ฐานที่รองรับกระบวนการซื้อหาบ้านที่อยู่อาศัยของคนอเมริกันกำลังเคลื่อนตัวตีจากนั่นเอง

สิ่งที่เราประสบพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คือการแตกสลายของข้อต่อระหว่างชนชั้นกลางของสหรัฐฯ กับตลาดการเงินโลกที่เคยเกี่ยวเนื่องกันอย่างยาวนานตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แฟนนี่และเฟรดดี้นับเป็นตัวกลไกสนับสนุนการเชื่อมโยงครัวเรือนไปสู่ตลาดทุนอย่างแท้จริง แต่ในยามที่ครัวเรือนจำนวนมากตกอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ย องค์กรทั้งสองก็พลอยเสียหายไปด้วย ทั้งในแง่ของฐานะการเงินที่ย่ำแย่ งบดุลที่ติดลบมหาศาล และประสบกับหนี้เสียจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ปริมาณของการค้ำประกันหลักทรัพย์ตราสารหนี้ที่แฟนนี่และเฟรดดี้ผูกพันและรับผิดชอบอยู่ในขณะนี้ ต้องใช้คำว่ามหาศาลระดับโลกจริงๆ โดยมีธนาคารกลางของนานาชาติ 66 แห่งที่ซื้อแพ็กเก็จหลักทรัพย์ที่อืงอยู่กับบ้านที่อยู่อาศัย อีกทั้งซื้อตราสารที่สององค์กรนี้ให้การค้ำประกันหรือมีความเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ นับถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2007 นักลงทุนทั้งระดับบุคคลและสถาบันถือหลักทรัพย์ของหน่วยงานอเมริกันแบบแฟนนี่และเฟรดดี้ คิดเป็นมูลค่ารวมกันมากกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์

คำแถลงของแฟนนี่ เม ในเดือนมิถุนายน 2008 ให้ตัวเลขพอร์ตสินเชื่อจดจำนองรวมที่ระดับ 750,000 ล้านดอลลาร์ และตัวเลขการค้ำประกันสินเชื่อและหลักทรัพย์ที่ผูกอยู่กับสินเชื่อจดจำนองอยู่ที่ระดับ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนคำแถลงของเฟรดดี้ แมค ในรอบเดียวกัน ให้ตัวเลขที่ 792,000 ล้านดอลลาร์ กับ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในการนี้ ทั้งสองมีภาระด้านดอกเบี้ยมากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และมีภาระหนี้จดจำนองคงค้างภายในสหรัฐฯ จำนวน 11 ล้านล้านดอลลาร์

หายนะของแฟนนี่และเฟรดดี้เกี่ยวพันโดยตรงกับหายนะของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ในช่วง 7 ปีนับจาก 2001 ถึงปลาย 2007 มูลค่าของบ้านและที่อยู่อาศัยทะยานขึ้นมาทั้งสิ้น 8.873 ล้านล้านดอลลาร์โดยไปแตะได้ถึงระดับ 22.495 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว หลังจากนั้นจึงดิ่งลงมาแล้ว 426,000 ล้านดอลลาร์ หลายฝ่ายบอกว่าการร่วงดิ่งนี้ใกล้จะถึงจุดต่ำสุดและจะได้เวลาดีดตัวกลับขึ้นไปแล้ว กระนั้นก็ตาม การวิเคราะห์ทำนองนี้ต้องนำมาดูอย่างระมัดระวังให้มาก

เมื่อตรวจสอบประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกาแล้ว ไม่สู้จะมีกรณีใดใกล้เคียงกับชะตากรรมในขณะนี้ กรณีหนึ่งที่อาจนับว่าใกล้เคียงที่สุดคือช่วงปี 1905-1920 เมื่อปริมาณการเป็นเจ้าของบ้านที่อยู่อาศัยลดฮวบ แล้วจึงทะยานกลับขึ้นไปอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1920 ตามด้วยการทรุดดิ่งตลอดทศวรรษ 1930 และแฟนนี่ เม ถูกตั้งขึ้นในช่วงนี้ในฐานะเครื่องมือแทรกแซงตลาดโดยรัฐ เพื่อเร่งช่วยเหลือให้คนอเมริกันได้มีบ้านเป็นของตนเองอย่างกว้างขวาง ความริเริ่มนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดตั้งแต่ปี 1938 ถึงปี 2007 แต่กลับต้องมาสะดุดใกล้คว่ำคะมำในปี 2008 ตามสถานการณ์ย่ำแย่ของระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ ในปี 1940 สัดส่วนความเป็นเจ้าของบ้านที่อยู่ในสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 44% พอถึงต้นปี 2008 สัดส่วนตรงนี้ขยายสู่ระดับ 68% ในการนี้ การดำเนินงานของแฟนนี่และเฟรดดี้มีการปรับกระบวนเป็นระยะๆ ขณะที่ชั้นกลางอเมริกันก็มีความคลี่คลาย และสภาพการณ์ของตลาดการเงินโลกก็ประสบความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานามาตลอดหลายทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดนวัตกรรมการเงินเรื่องซีเคียวริไทเซชั่น และการผนวกรวมตลาดการเงินโลกในจุดต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

ซีเคียวริไทเซชั่นเกี่ยวเนื่องอยู่กับการแปลงสินทรัพย์ และตราสารสัญญาการชำระเงินให้ในอนาคต ไปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อจำหน่ายแก่นักลงทุน ขณะที่การผนวกตัวของตลาดการเงินต่างๆ ทั่วโลก ได้ทะลายพรมแดนขวางกั้นระบบการเงินการธนาคารในแต่ละประเทศ พร้อมกับเปิดทางให้การชำระหนี้ การออม และการกู้ยืม ต่อถึงกันและโอนไปมาระหว่างกันได้โดยปราศจากพรมแดน

ความมั่งคั่งของโลกหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ผ่านระบบซีเคียวริไทเซชั่นและผ่านนโยบายผ่อนปรนกฎระเบียบทางการเงิน การดำเนินงานของแฟนนี่และเฟรดดี้เป็นตัวสร้างช่องทางรองรับกระแสอันหลั่งไหลนี้ ดังนั้น ความเสื่อมถอยขององค์กรทั้งสองนี้จะส่งผลอย่างมากมายและเนิ่นนานต่อสถานการณ์สินเชื่อจดจำนองบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งจะหมายถึงผลกระทบต่อระดับราคาบ้าน ตลอดจนต้นทุนและความง่ายดายในการกู้ยืมเงินเพื่อบรรลุฝันแห่งการได้มีบ้านเป็นของตนเอง

ระดับราคาบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ในทิศทางขาลงชนิดที่ไม่เห็นแววหยุดยั้ง ขณะที่เงินออมของโลกก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ยอมไหลเข้าไปให้ผู้บริโภคอเมริกันได้กู้ยืมในสัดส่วนมหาศาลดั่งที่เคยๆ มา ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ สามารถหยิบยืมเงินออมที่มีอยู่ทั่วโลกไปได้มากกว่า 50% บทบาทของแฟนนี่และเฟรดดี้ซึ่งเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อผู้คนได้อย่างยาวนาน กระทั่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว หายนะเรื่องนี้ก็จะยังไม่จบ ขณะที่ พวกผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารระดับสูงของแฟนนี่และเฟรดดี้ก็จนแต้ม กำลังซื้อของคนอเมริกันทุกวันนี้มีแต่จะถดถอย การต่อสายกับตลาดการเงินโลกก็จะไม่สามารถโยงกันได้อีก

สินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัยในอนาคตจะพลิกโฉมจากอดีตที่ผ่านมา แฟนนี่และเฟรดดี้จะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่เคยเป็นมา หรืออย่างน้อยก็ในระดับที่เคยได้ทำมา แผนการใดๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ตรงนี้จะต้องได้รับการไตร่ตรองอย่างดี เพราะมันหมายถึงผลกระทบถึงครัวเรือนนับล้านทีเดียว

แม็กซ์ ฟราด วูลฟ์ กำลังทำปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมซซาชูเซตส์ วิทยาเขตแอมเฮอร์ส และเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ “โกลบอลแมคโครสโคป”
กำลังโหลดความคิดเห็น