xs
xsm
sm
md
lg

วิธีหยุดยั้งหายนะการเงินครั้งมโหฬารแห่งปี 2008

เผยแพร่:   โดย: สเปงเกลอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

How to Stop the Great Crash of ‘80
By Spengler
30/06/2008

สหรัฐอเมริกายังมีทางที่จะแหวกออกจากวังวนมฤตยูทางเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนในเรื่องภาษีและการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นกลยุทธ์ที่ต้องเริ่มทำกันก่อนเลย แล้วก็ให้กองทุนต่างชาติสามารถเข้าซื้อแบงก์ของคนอเมริกันได้ บัดนี้ที่นักลงทุนรอลุ้นว่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นนั้น ขอบอกว่ามันไม่มีหรอก ทางที่ดีที่สุดที่พวกนี้จะทำได้คือนั่งลงและเฝ้ามองหายนะที่จะเผยตัวออกมา

ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นมาสองเท่าในปีที่แล้วเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เฟด) ไปตกตื่นกับความเสี่ยงที่ระบบการเงินจะล้ม และจึงอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างมากมายเกินความจำเป็นจนท่วมท้นตลาดไปหมด ในเวลาเดียวกัน โลกก็เต็มใจจะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อความปลอดภัยให้ตนเองเผื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อจะระเบิดขึ้นจริง แต่แล้ว ต้นทุนของการทำเฮดจิ้งป้องกันตัวจากผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อดังกล่าวนั้น กลับลากเอาระบบเศรษฐกิจของโลกให้ตกต่ำ การทะยานของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนการทรุดดิ่งของตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจซึ่งจะรุนแรงและยืดเยื้อ

การที่จะแหวกออกจากวังวนมฤตยูทางเศรษฐกิจนั้น ยังพอจะเป็นไปได้ และอันที่จริงแล้ว ความล่มสลายก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมดสำหรับสหรัฐฯ อย่างน้อยที่สุด มันจะช่วยกำจัดบางอย่างที่ไร้ประโยชน์ที่ดำเนินอยู่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

พวกคนรุ่นเบบี้ บูมเมอร์ จะไม่สามารถเกษียณตัวเองได้ (แต่อันที่จริง สำหรับชีวิตในสหรัฐฯแล้ว การเกษียณอายุก็หมายถึงการนั่งจมจ่อมดูทีวีเพิ่มขึ้นอีก 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) แต่หากว่าจะไม่สามารถเกษียณอายุได้นั้น คนอเมริกันก็ควรจะมีงานทำไปได้เรื่อยๆ ดังนั้น ผมขอเสนอทางแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ โดยอิงอยู่บนประสบการณ์ในช่วงปี 1979-1984 ซึ่งสหรัฐฯประสบกับสถานการณ์คล้ายกับปัจจุบัน เพียงแต่ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังขมวดปมไปไม่ถึงขนาดที่คนยุคนั้นได้เจอะเจอ

โดยการแจกแจงขั้นตอนของหายนะ ผมขอเสนอให้เห็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ดังนี้
•ผู้คนในตลาดต่างๆ คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง เพราะราคาน้ำมันทะยาน
•สถาบันการเงินอเมริกัน ซึ่งมีมูลค่าในตลาดซื้อขายดิ่งลงเกือบจะครึ่งต่อครึ่งในปีที่แล้ว ต้องเจอกับอัตราหนี้เสียมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากลูกค้าบุคคลและจากลูกค้าธุรกิจ ส่งผลให้หลายสถาบันการเงินไปไม่รอด
•สินเชื่อที่มีอยู่ในระบบหดตัวลง เพราะแบงก์อยู่ภายใต้แรงกดดัน ดังนั้นจึงส่งผลให้อัตราหนี้เสียยิ่งทวีจำนวน
•ราคาของสินทรัพย์ที่อยู่ในการถือครองของครัวเรือน (ราคาอสังหาริมทรัพย์ และราคาหุ้น) ทรุดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับทำลายความน่าเชื่อถือของสินทรัพย์เหล่านั้น
•ตลาดต่างๆ เชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าผ่อนปรนนโยบายการเงินไปเรื่อยๆ และพร้อมที่จะเตรียมสภาพคล่องแบบไม่มีอั้นแก่ทุกฝ่ายที่ร้องขอ ดังที่เฟดได้ทำไปแล้วเมื่อกลางเดือนมีนาคมในกรณีการอุ้มสถานภาพของแบร์สเทิร์นส์
•นักลงทุนตีจากตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แล้วหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่จะให้ความปลอดภัยได้หากเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ดังนั้น ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์จึงพุ่งสูงมากขึ้นและมากขึ้น

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการผ่อนปรนทางการเงินเป็นตัวยาที่สร้างผลข้างเคียงซึ่งร้ายแรงกว่าผลจากอาการของโรค การโยนความผิดให้“นักเก็งกำไร”ที่แสวงประโยชน์จากแนวโน้มราคาน้ำมันดีดทะยานนั้น ออกจะเป็นการเหวี่ยงแหกันแบบน่าเกลียดไปหน่อย พวกกองทุนเงินบำนาญแห่ไปลงทุนหลายแสนล้านดอลลาร์ในบรรดากองทุนดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากวิกฤตเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ ยิ่งเฟดทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เม็ดเงินก็ยิ่งผันตัวออกจากตลาดหุ้น ไปยังการลงทุนที่เป็นการเฮดจ์จิ้งออกจากวิกฤตเงินเฟ้อ ตัวเลขทั้งหลายที่ปรากฏออกมามากมายไปหมดล้วนแต่ยืนยันในเรื่องนี้

อันที่จริง ในระหว่างน้ำมันกับเงินดอลลาร์นั้น มันมีความสัมพันธ์กันมาเก่าแก่ แลเห็นได้ไม่ยาก

ค่าเงินดอลลาร์ที่ตกต่ำและราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานในปัจจุบัน ก็เป็นแบบเดียวกับการทรุดดิ่งของค่าเงินดอลลาร์และการกระฉูดของราคาน้ำมันในช่วงท้ายๆ ของยุคจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งเต็มไปด้วยการบริหารผิดพลาด และหายนะในยุคนั้นจบลงเมื่อเฟดหันมาเดินนโยบายการเงินเข้มงวดในระหว่างปี 1979 ถึง 1982 ซึ่งในนั้นยังมีบทเรียนให้ได้ศึกษากัน

ยิ่งมาในช่วงที่ผ่านมานี้ ราคาน้ำมันยิ่งมีแนวโน้มสูงที่จะพุ่งขึ้นในยามที่ดัชนีชี้ระดับราคาดอลลาร์จมดิ่ง

ฐานะการเงินของครัวเรือนอเมริกันจึงมีความเปราะบางมากเสียจนจวนจะพาให้สถาบันการเงินพากันล่ม อาทิ ในรายของวอชิงตัน มิวช่วล ซึ่งเป็นสถาบันออมเงินที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ถูกเทรดกันในขณะนี้ที่ระดับราคาเพียงหนึ่งในสิบของราคาหุ้นปี 2007 และยังไม่มีความแน่ชัดเลยว่าจะมีสถาบันการเงินรายใดจะเต็มใจหรือจะสามารถมาเทคโอเวอร์วอชิงตัน มิวช่วล

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ไม่ใช่ว่าประธานเบน เบอร์นันกี้จะไม่ทราบว่ามีบางอย่างที่ผิดพลาดไปแล้วอย่างร้ายแรง เบอร์นันกี้ใช้เวลาตลอดเดือนมิถุนายนในกับการพูดจาขู่ว่าจะดำเนินการในเรื่องของเงินดอลลาร์อ่อนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูง แต่แล้วผลการประชุมเอฟโอเอ็มซีในตอนปลายเดือนก็แสดงให้เห็นว่าเบอร์นันกี้แค่เดินเกมพูดบลัฟไปเรื่อย ประธานเฟดท่านนี้ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะใช้นโยบายปรับเพิ่มดอกเบี้ยซึ่งจะส่งผลไปรั้งให้ระบบเศรษฐกิจอ่อนแอ

ในสถานการณ์ละม้ายกันนี้ อดีตประธานเฟดซึ่งมีชื่อว่าพอล โวลเกอร์ เคยกล้าใช้นโยบายนี้มาแล้วเมื่อปี 1979 โดยปรับดอกเบี้ยพื้นฐานของประเทศขึ้นไปแล้วขึ้นไปอีก จนขึ้นไปสูงลิ่วถึงระดับ 20%ภายในช่วงเวลาราว 2 ปีแห่งการเดินนโยบายเข้มงวดทางการเงิน สถานการณ์แวดล้อมในช่วงดังกล่าวมีอยู่ว่า วิกฤตเงินเฟ้อในยุคของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ทวีความร้ายแรงจนหลุดขอบการควบคุม ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลึกรุนแรง ขณะที่ราคาน้ำมันทะยานแตะระดับหายนะ(สำหรับยุคนั้น) ที่บริเวณ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ครั้นที่โวลเกอร์เร่งเพิ่มความเข้มงวดนโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ที่ซื้อขายกันในตลาดสามารถดีดขึ้นได้มากถึงสองเท่าตัว ขณะที่ราคาน้ำมันก็จมฮวบลงมา

พร้อมๆ กันนั้น รัฐบาลของโรนัลด์ เรแกน ที่ได้สืบทอดอำนาจในเวลาต่อมา กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการหั่นอัตราภาษีอย่างมากมากและรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่วัฏจักรแห่งการขยายตัวที่มีวงรอบยาวนานกว่าสามทศวรรษ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่านโยบายการเงินแบบอ่อนแอสร้างปัญหาเงินเฟ้อผสมเงินฝืดมากกว่าจะสร้างความเติบโต ขณะที่มาตรการหั่นลดภาษีกลับประสบความสำเร็จได้จริง แต่ก็แน่นอนว่า ต้นทุนที่ต้องยอมเอาไปแลกนั้น เป็นความเจ็บปวดทีเดียว กล่าวคือ ธนาคารอเมริกัน 1,600 แห่ง และสถาบันเงินออมกับสถาบันปล่อยกู้อื่นๆ จำนวนใกล้ๆ กันนั้น พากันล้มระเนนในช่วงระหว่างปี 1980-1994 ซึ่งหมายถึงภาระที่ถูกนำไปเบียดเอาจากภาษีที่ประชาชนจ่ายเข้ารัฐราว 160,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯต้องประสบกับเศรษฐกิจขาลงที่ร้ายแรงที่สุดนับจากเมื่อยุคเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (Great Depression) ในปลายทศวรรษ 1920 ส่งผลให้อัตราการว่างงานดำเนินไปอย่างดุเดือนในอัตรา 11% ในปี 1980

เป็นที่น่าเศร้าใจว่า วิกฤตตอนนี้กับตอนนั้นดีน้อยกว่ากันอย่างเหลือเกิน อัตราภาษีในปี 1981 (ก่อนเรแกนหั่นลงฮวบ) ซึ่งกำหนดเพดานสูงสุดไว้ถึง 70% เคยมีความหมายเท่ากับโหม่งศีรษะชนกำแพง ดังนั้น พอมันถูกยกเลิกไป ผู้คนย่อมรู้สึกดีขึ้นมาก แต่ในเมื่อระดับภาษีของรัฐบาลกลางที่เป็นอยู่ขณะนี้ มีเพดานสูงแค่ครึ่งเดียวของเมื่อปี 1981 มันจึงยากจะบอกว่าหากลดอัตราภาษีลงมาอีก จะช่วยโหมกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้แบบตอนนั้นหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนเป็นปัญหาอีกมิติหนึ่งที่น่าหนักใจยิ่งไปกว่า ในเมื่อหนี้จดจำนองบ้านที่อยู่อาศัยของครัวเรือนถูกนำไปทำตราสารอนุพันธ์ที่เอื้อให้แก่การทำเฮดจ์จิ้งป้องกันผลกระทบจากวิกฤตเงินเฟ้อ ถ้าตลาดอนุพันธ์ล้มด้วยเหตุต่างๆ ครัวเรือนที่อยู่ในพันธะหนี้จดจำนองจะพลอยได้รับผลกระทบความเสียหายไปด้วย ในเวลาเดียวกันครัวเรือนจำนวนมากมีการทำกู้ครั้งแล้วครั้งเล่าแบบรีไฟแนนซ์บ้านของตน บนสภาพการณ์ที่ว่าราคาของสินทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีระดับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่พอระดับราคาไต่ขึ้นถึงภาวะอิ่มตัว มันย่อมอ่อนตัวลง และอันที่จริงแล้ว หลังจากที่ครัวเรือนอเมริกันสะสมหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ระดับราคาบ้านที่อยู่อาศัยกำลังอยู่ในกระบวนการล้มครืน ดังนั้น ครัวเรือนที่มีฐานะเป็นลูกหนี้ จะต้องเผชิญวิกฤตการเงินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ดังนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นทุกวันนี้จึงเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อการล้มละลายทางการเงินของครัวเรือน

ศักยภาพการออมเงินเป็นอีกหนึ่งปัญหาของคนอเมริกัน เพราะในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา คนอเมริกันแทบไม่มีการออมกันเลย พร้อมกับทำการกู้ยืมจากชาวต่างชาติรวมเป็นจำนวนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2007

เมื่อเกิดการล่มสลายของตลาดตราสารหนี้จดจำนองที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นหนี้คุณภาพต่ำ หรือที่เรียกกันว่าตลาดซับไพร์ม วิกฤตล้มละลายของครัวเรือนจึงกลายเป็นวิกฤตของภาคการเงินการธนาคาร พร้อมกับส่งต่อภัยคุกคามแพร่ลามไปสู่ตลาดอื่นที่มีขนาดใหญ่โตกว่ากันมาก

เหล่านี้คือความคิดความรู้สึกที่ตลาดต่างๆ รับรู้กันตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ภารกิจเร่งด่วนจึงมีอยู่ว่า จะต้องฟื้นสถานภาพทางการเงินของภาคครัวเรือน โดยใช้มาตรการดังนี้

หนึ่ง – ยอมให้บุคคลธรรมดานำเงินออมบัญชีเกษียณอายุมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 100,000 ดอลลาร์ต่อปี

คนอเมริกันล้วนต้องการการลดภาษีจากหมวดเงินออม ไม่ใช่การลดภาษีจากหมวดการบริโภค ที่ผ่านมา การโยกสภาพคล่องเข้าสู่ระบบทำให้เสียเรื่อง แต่การโยกสภาพคล่องจากการบริโภคไปยังการออมจะเพิ่มซัปพลายของทุนในระยะยาว พร้อมกับช่วยบริษัทธุรกิจลดต้นทุนของหุ้นทุนและดอกเบี้ยระยะยาว ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยจดจำนอง

เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อการติดลบงบประมาณก็จริง แต่ไม่เป็นไรหรอก ยังพอมีทางแก้ไขได้ ในเมื่อภายในโลกทางการเงินที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด มันง่ายทีเดียวที่จะหาคนมาซื้อตราสารของกระทรวงการคลัง อดีตผู้ว่าการเขตอาร์คันซอ นายไมค์ ฮัคเคอร์บี เคยเสนอแนวทางที่เข้มข้นยิ่งกว่านี้ ในชื่อว่า “แฟร์แท็กซ์” หรือภาษีอันยุติธรรม โดยเสนอให้ยกเลิกภาษีเงินได้ทุกอย่าง รวมทั้งภาษีเงินได้จากการลงทุนในตลาดทุน แล้วไปชดเชยด้วยภาษีจากการบริโภค (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ) แนวทางดังกล่าวนับเป็นยาที่ดี แต่เกรงว่าผู้ป่วยจะอ่อนแอเกินจะรับได้ในขณะนี้

สอง – ยกเลิกภาษีเงินได้จากการลงทุนในตลาดทุนของพวกครอบครัวเดี่ยว และให้ดีกว่านั้นคือ ยกเลิกภาษีเงินได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ทุนทุกประเภท

สิ่งที่ตลาดที่อยู่อาศัยต้องการในขณะนี้ ได้แก่ นักเก็งกำไร, นักลงทุนประเภทตามซื้อของราคาถูกในเวลาตลาดขาลง และพวกพรานล่าเหยื่อ ซึ่งนักซื้อทั้งสามกลุ่มนี้เป็นพวกที่จะนำเงินสดเข้าไปประมูลซื้อสินทรัพย์จำพวกบ้านที่อยู่อาศัย วิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดพวกนักลงทุนที่นิยมล่าซื้อของถูกให้เข้าสู่ตลาดที่อยู่อาศัย คือ การให้แรงจูงใจด้านภาษี ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ราคาของสินค้าหมวดนี้ทรุดดิ่งเกินเยียวยา และเป็นวิธีที่ดีกว่าการเอาเงินภาษีจากกระเป๋าของประชาชนหว่านลงไปในตลาดนี้เพื่อช่วยให้ผู้คนเสียบ้านเสียหลังคาคุ้มศีรษะ นอกจากนั้น คนอเมริกันจำนวนมากยังจะได้ปลอดภัยจากวิกฤตที่ต้องหางานทำใหม่สืบเนื่องจากการจ้างงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริการการเงิน และการค้าปลีกเหือดหายไปในท่ามกลางการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีจุดพลิกสำคัญอยู่ในข้อที่ว่า ต้องทำให้บ้านยังสามารถขายออกได้เรื่อยๆ

ในเวลาเดียวกัน การยกเลิกภาษีเงินได้จากการลงทุนในตลาดทุนจะช่วยสนับสนุนได้เป็นอย่างดี เหตุผลก็คือ อันที่จริงแล้ว นับจากปี 1997 มาถึงปัจจุบัน ไม่ได้มีกำไรจากการลงทุนในตลาดทุนของสหรัฐฯ เกิดขึ้นจริงเลย คนที่ซื้อหลักทรัพย์ ณ ราคาเฉลี่ยดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ระดับ 954 ดอลลาร์ ในเดือนมกราคม ปี 1997 แล้วมาขายในปัจจุบัน ที่ราคา 1,278 ดอลลาร์ จะได้มูลค่าดอลลาร์(ที่ปรับตามค่าเงินเฟ้อ)เท่าเดิม ทั้งนี้ ไม่นำเงินปันผลมาคำนวณด้วย หนำซ้ำภาษีจำนวน 64 ดลลาร์ที่เรียกเก็บจากกำไร 324 ดอลลาร์ ยังกินเนื้อเข้าไปในการลงทุนด้วย ซึ่งเท่ากับว่านักลงทุนขาดทุนจริงจากการถือหลักทรัพย์ไว้ในช่วง 11 ปี

สาม – ปรับเพิ่มดอกเบี้ยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างเสถียรภาพแก่ค่าเงินดอลลาร์

โดยที่เงินเฟ้อวิ่งในอัตรา 3-4% ขณะนี้ ซึ่งแย่น้อยกว่าอัตราขยายตัวเงินเฟ้อ ณ 12% ในช่วงหลังยุคจิมมี่ คาร์เตอร์ การเพิ่มดอกเบี้ยพื้นฐานขึ้นมาเป็นสัก 4% น่าจะสร้างผลกระทบอย่างมากแก่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์ ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์สเรตที่ 2% ในปัจจุบันไม่ได้ช่วยใครเลย แถมยังทำร้ายทุกๆ คน ยกเว้นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์

สี่ – ปล่อยให้กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลต่างชาติ ซื้อแบงก์อเมริกันได้

แบงก์อเมริกันไม่มีเงินทุนเพียงพอแก่การดำเนินงานแล้ว ขณะที่การแก้ปมปัญหาของระบบเศรษฐกิจที่แสนจะอ่อนแอรังแต่จะสร้างความเสียหายและลดทอนเงินทุนที่ยังพอจะมีอยู่บ้าง ในยามที่ราคาหุ้นแบงก์เหล่านี้ยังร่วงดิ่งอยู่ พวกแบงก์อเมริกันย่อมลำบากยากเข็ญอย่างยิ่งที่จะระดมเงินทุนจากผู้ถือหุ้น ต้องมีใครสักคนมาปรับฐานทุนแท้จริงของแบงก์พวกนี้

อันที่จริงแล้ว ปัญหาการขาดแคลงเงินทุนนั้นไม่มีอยู่จริง เท่าที่ผ่านมา สภาพคล่องมหาศาลที่เฟดผลิตออกมาได้หลั่งไหลนับล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่มือของบรรดากองทุนเพื่อการลงทุนที่มีภาครัฐเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกชาติที่เน้นการส่งออก แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องน่าปวดร้าวที่จะปล่อยให้เพชรยอดมงกุฏต้องตกสู่มือของต่างชาติ ลองถามประเทศไทยซึ่งกีดกันนักลงทุนต่างชาติไม่ให้แตะต้องระบบการธนาคาร จวบจนกระทั่งเกิดวิกฤตล้มละลายในปี 1997 และแล้วภายหลังมา ก็ต้องเปิดแขนต้อนรับนักลงทุนต่างชาติเข้าจนได้ คนอเมริกันก็ต้องพิจารณาดูว่า จะกลืนเกียรติยศลงคอ หรือจะยอมรัดเข็มขัดตัวเอง

รายการมาตรการทั้งสี่นี้ยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นใหญ่อย่างนโยบายพลังงาน นโยบายควบคุมแบงก์ ฯลฯ แต่มันชี้ให้เห็นการหักมุมบางอย่างที่สหรัฐฯ ต้องทำ คนอเมริกันก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วย โดยเรื่องนี้มี 2 ทางที่ทำได้ คือ รัฐบาลกลางสร้างสิ่งจูงใจให้คนยอมปรับเปลี่ยน หรือสภาพการณ์จริงในตลาดจะบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยเครื่องมือเพื่อการทรมานต่างๆ

ข้อเขียนข้างต้นนี้ ผมถือว่าผมทำหน้าที่พลเมือง และแน่นอนว่า โอกาสที่รัฐบาลและรัฐสภาจะทำอะไรที่ห่างไกลไปกว่านี้นับว่าน้อยนัก ส่วนสำหรับคำแนะนำแก่นักลงทุนรายย่อยคือ ควรลงทุนในสินค้าป๊อบคอร์น เพราะในหกเดือนข้างหน้า มันจะเป็นสินค้าที่ต้องจับตา
กำลังโหลดความคิดเห็น