xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ยึดมั่นกับการทำสงครามนอกแบบแผน

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US tied to unconventional warfare
By Jim Lobe
1/08/2008

สหรัฐฯควรที่จะประคับประคองความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีอยู่กับพันธมิตรของตนทั้งใหม่และเก่า รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ รอเบิร์ต เกตส์ ระบุไว้ในเอกสารยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันประเทศของเขา ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม การให้ความสำคัญต่อพันธมิตรเช่นนี้ นับว่าขัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับพวกเอกสารของเพนตากอนก่อนหน้านี้ซึ่งมุ่งไปสู่ทิศทางทำตามใจฝ่ายเดียวยิ่งกว่านี้มาก กระนั้นก็ตาม เอกสารฉบับนี้ก็ยังเห็นว่า สหรัฐฯยังควรที่จะเน้นหนักไปที่ภัยคุกคามชนิดนอกแบบแผนปกติ อาทิ “อัลกออิดะห์และพรรคพวก”

วอชิงตัน – ยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ ในเบื้องแรกเลยทั้งในระยะสั้นจนถึงระยะกลาง ควรที่จะเน้นหนักไปที่ภัยคุกคามชนิดนอกแบบแผนปกติ (unconventional threats) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขบวนการสุดโต่งใช้ความรุนแรง อาทิ อัลกออิดะห์และพรรคพวก” แต่พร้อมกันนั้น สหรัฐฯก็จะต้อง “คอยระวังป้องกัน” เพื่อยับยั้งทัดทานอำนาจทางการทหารที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งของ “พวกรัฐอันธพาล อาทิ อิหร่าน และเกาหลีเหนือ” และทั้งของพวกที่อาจจะขึ้นมาเป็นคู่แข่ง โดยที่โดดเด่นกว่าเพื่อนก็คือ จีนและรัสเซีย นี่เป็นเนื้อหาในเอกสารแนะแนวทางนโยบายฉบับสำคัญ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (31ก.ค.) โดยนายใหญ่เพนตากอน รอเบิร์ต เกตส์

ในเอกสาร “ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันแห่งชาติ” (National Defense Strategy) ฉบับแรกสุดที่เขาเป็นผู้จัดทำฉบับนี้ เกตส์ยังเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่า ให้สหรัฐฯประคับประคองความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีอยู่กับพันธมิตรของตนทั้งใหม่และเก่า อันเป็นการตรงกันข้ามกับเอกสารเพนตากอนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่จัดทำภายใต้ โดนัลด์ รัมสเฟลด์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมคนก่อนหน้าเขา ซึ่งมุ่งไปสู่ทิศทางทำตามใจฝ่ายเดียวยิ่งกว่านี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยแรกแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช (2001-2005)

“สหรัฐฯ ... ต้องเพิ่มความแข็งแกร่งและเสริมขยายในเรื่องการมีพันธมิตรและหุ้นส่วน” เอกสารของเกตส์เขียนไว้เช่นนี้ “ระบบพันธมิตรของสหรัฐฯได้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักเสาหนึ่งของสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยมากว่าหนึ่งชั่วอายุคนแล้ว และยังคงเป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่จะไขสู่ความสำเร็จของเรา”

“เราไม่สามารถที่จะมีความเหนือกว่าได้ ถ้าเราลงมือกระทำไปเพียงลำพัง” เกตส์เขียนเอาไว้ในบทกล่าวนำของเอกสารยุทธศาสตร์ความยาว 23 หน้าฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้เน้นย้ำว่า สหรัฐฯยังจะต้องพยายามรักษา “เสรีภาพในการปฏิบัติการเมื่ออยู่ในปริมณฑลซึ่งเป็นสมบัติร่วมของโลก ตลอดจนเสรีภาพในการเข้าถึงในเชิงยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคสำคัญๆ ของโลก [เอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้] เพื่อที่จะบรรลุความต้องการทางด้านความมั่นคงแห่งชาติของเรา”

“สวัสดิภาพของเศรษฐกิจโลกนั้น กำลังขึ้นอยู่กับความพรักพร้อมในการเข้าถึงทรัพยากรพลังงาน” เอกสารชิ้นนี้ระบุ “แต่ถึงแม้ได้มีความพยายามในระดับชาติเพื่อที่จะลดทอนการพึ่งพาน้ำมันลงแล้ว กระนั้น จากแนวโน้มต่างๆ ในปัจจุบันกลับบ่งชี้ว่า ระยะเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป ยังจะต้องมีการพึ่งพาอาศัยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากอาณาบริเวณแห่งความไร้เสถียรภาพกันเพิ่มมากขึ้น หาใช่ลดการพึ่งพาอาศัยไม่”

ตลอดเอกสารฉบับนี้ เกตส์ยังได้ตอกย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าถึงความสำคัญของ “พลังอำนาจอ่อน” (soft power” ในยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกขานกันว่า “กระบวนการสร้างชาติ” (nation-building) และการทูตภาคประชาชน (public diplomacy)

“เราในฐานะประชาชาติหนึ่ง จักต้องเพิ่มความแข็งแกร่งไม่เพียงสมรรถนะทางทหารของเราเท่านั้น แต่ยังต้องเติมพลังเพิ่มชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ให้แก่องค์ประกอบสำคัญส่วนอื่นๆ ของอำนาจแห่งชาติ และพัฒนาเพิ่มพูนศักยภาพ ทั้งในการบูรณาการ, การปรับเปลี่ยนแก้ไขตามความเหมาะสม, ตลอดจนการประยุกต์ใช้เครื่องมือเหล่านี้ตามความจำเป็น” เอกสารฉบับนี้ระบุ

“กระทรวงกลาโหมได้เข้าแบกรับภาระเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ... [และ] มีความจำเป็นที่จะต้องธำรงรักษา ตลอดจนแปรสมรรถนะเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพที่เป็นสถาบันเสียเลย ทว่านี่ย่อมมิใช่การเข้าไปแทนที่บทบาทความเกี่ยวข้องตลอดจนความชำนิชำนาญจากทางฝ่ายพลเรือน” เขาเขียนไว้เช่นนี้ ซึ่งก็เป็นการสะท้อนเสียงเรียกร้องจากรัฐสภาสหรัฐฯ ที่จะให้มุ่งยกเครื่องเพิ่มสมรรถภาพของกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานในสังกัด เพื่อเข้ารับผิดชอบงานทางด้านการพัฒนา (หรือกระบวนการสร้างชาติ) และการทูตภาคประชาชน แทนที่จะปล่อยให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้กระทำ โดยที่ตัวเกตส์เองก็ได้เคยพูดย้ำเรื่องนี้มาหลายรอบแล้วตลอดช่วงเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา

การตีพิมพ์ยุทธศาสตร์ใหม่ฉบับนี้ ถือเป็นจุดสูงสุดของกระบวนการอภิปรายถกเถียงเป็นการภายในอันยืดเยื้อยาวนาน นับตั้งแต่ที่เกตส์เข้ารับตำแหน่งสืบแทนรัมสเฟลด์เมื่อตอนปลายปี 2006 โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า อะไรควรจะเป็นภารกิจที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับกระทรวงกลาโหม กระทรวงซึ่งกำลังใช้งบประมาณกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี กระทรวงซึ่งกำลังติดแหง็กอยู่กับการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่ต้องใช้จ่ายแพงลิ่วในอิรักและอัฟกานิสาน โดยที่ในตอนต้นๆ ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมที่ดีในเรื่องนี้เอาเลย และก็เป็นกระทรวงซึ่งตามประวัติความเป็นมาในอดีต มักนิยมชมชื่นระบบอาวุธตามแบบแผนแบบไฮเทคและใช้งบประมาณสูงลิ่ว ที่ไปสร้างความอวบอ้วนให้แก่งบดุลบัญชีของพวกบริษัทภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญารับจ้างทำงานโครงการใหญ่ๆ ให้แก่ทางเพนตากอน

ระหว่างการอภิปรายเป็นการภายในอย่างยืดเยื้อดังกล่าว เกตส์ก็ได้เดินหน้าหยิบยกเหตุผลเข้าหว่านล้อมทั้งภายในกระทรวงเองและต่อสาธารณชน ถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นมากแก่สิ่งที่เรียกขานกันว่า “สงครามขนาดเล็กๆ” นั่นคือการสู้รบกับพวกขบวนการก่อการร้าย อย่างเช่น อัลกออิดะห์ และการต่อสู้กับพวกก่อความไม่สงบ อาทิ พวกตอลิบานในอัฟกานิสถาน ตลอดจนกลุ่มต่างๆ หลายหลากในอิรัก เขาย้ำยืนยันว่า เมื่อพิจารณาจากฐานะความเหนือล้ำทางการทหารชนิดไม่มีใครเทียมทานของวอชิงตันในปัจจุบัน ความขัดแย้งพวกนี้ต่างหากที่น่าจะมีโอกาสกลายเป็นภัยคุกคามมากที่สุดต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และต่อเสถียรภาพระหว่างประเทศ อย่างน้อยในรอบ 1-2 ทศวรรษข้างหน้า

“มองโดยภาพรวมแล้ว สมรรถนะชนิดที่เราจะมีความต้องการมากที่สุดในอีกหลายๆ ปีข้างหน้านั้น จำนวนมากทีเดียวจะสอดคล้องกับสมรรถนะชนิดที่เราก็กำลังมีความต้องการอยู่แล้วในเวลานี้” เขาเคยเตือนเอาไว้ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งหนึ่งเมื่อสองเดือนก่อน “สิ่งที่เราต้องคอยระมัดระวังป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้นก็คือ การถอยหลังกลับชนิดที่ได้เคยบังเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทั้งนี้ถ้าหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติแล้ว สมรรถนะชนิดที่กล่าวถึงเหล่านี้ นั่นก็คือ สมรรถนะในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ก็มักที่จะถูกปล่อยให้เหี่ยวเฉาตายคาต้น”

“ฐานะความเหนือล้ำในสงครามตามแบบแผนของสหรัฐฯนั้น ยังไม่ได้ถูกท้าทายแต่อย่างไร และจะยังสามารถรักษาเอาไว้ได้ต่อไปจนกระทั่งถึงช่วงระยะกลางทีเดียว เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มต่างๆ ในเวลานี้” เขาชี้

ทว่าเหตุผลที่เขาหยิบยกขึ้นมาแสดงเช่นนี้ ได้ถูกตอบโต้ท้าทายโดยพวกเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจำนวนหนึ่ง (และการตอบโต้ท้าทายเหล่านี้ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเงียบๆ จากพวกบริษัทคู่สัญญาทำงานให้เพนตากอนรายใหญ่ๆ ซึ่งด้วยการบริจาคเงินให้แก่ทีมงานรณรงค์หาเสียงต่างๆ ตลอดจนมีการกระจายตัวในทางภูมิศาสตร์อันแผ่กว้างไปทั่วประเทศ จึงทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงห้องทำงานต่างๆ ของพวกสมาชิกรัฐสภาอเมริกันในอาคารรัฐสภากรุงวอชิงตันได้เสมอมา) เจ้าหน้าที่อาวุโสของเพนตากอนเหล่านี้เตือนว่า หากเหวี่ยงลูกตุ้มนาฬิกาให้พุ่งไปข้างหนึ่งแรงเกินไป นั่นคือ เปลี่ยนสู่รูปแบบสงครามแบบโลว์เทคอย่างเต็มตัว มันก็อาจส่งผลทำให้เกิดความอ่อนแออย่างร้ายแรงในแนวรบด้านสงครามแบบแผน

แล้วในที่สุดผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ เอกสารใหม่ฉบับนี้พยายามหาทางสร้างความสมดุลระหว่างทั้งสองด้านนี้ อันที่จริงแล้ว ระหว่างแถลงเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่นี้เมื่อวันพฤหัสบดี(31ก.ค.) เกตส์ได้ชี้ว่า “ความเป็นจริง ... มีอยู่ว่าทั้งแผนงานปรับปรุงกำลังรบตามแบบแผนและกำลังรบทางยุทธศาสตร์ให้ทันสมัย ต่างก็ได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากภายในกองทัพและในรัฐสภา”

กระนั้นก็ตาม เอกสารยุทธศาสตร์นี้ก็เน้นย้ำการที่เกตส์ให้ความสำคัญต่อเรื่องการต่อต้านการก่อความไม่สงบและการต่อต้านการก่อการร้าย “ในอนาคตที่ยาวไกลขนาดพอเห็นได้จากนี้ไป สภาพแวดล้อม [เชิงยุทธศาสตร์] จะถูกนิยามโดยการต่อสู้ในทั่วโลกเพื่อต้านทานอุดมการณ์ของพวกสุดโต่งนิยมความรุนแรง ที่มุ่งหาทางทำลายระบบรัฐระหว่างประเทศ” เขาเขียนไว้เช่นนี้โดยหมายความถึงพวกอัลกออิดะห์และผู้สมคบคิดของพวกนี้ เขายังพูดถึงการต่อสู้ดังกล่าวนี้ในลักษณะเดียวกับที่รัมสเฟลด์เคยทำ นั่นคือบอกว่ามันจะเป็น “สงครามอันยาวนาน”

เขาเปรียบเทียบอุดมการณ์ดังกล่าวนี้กับลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิฟาสซิสต์ และกล่าวเน้นว่า ขณะที่ “อิรักและอัฟกานิสถานยังคงเป็นแนวรบศูนย์กลางของการต่อสู้นี้” ทว่าความสำเร็จทางการทหารในประเทศทั้งสองโดยตัวมันเอง จะยังไม่ใช่เท่ากับว่าได้รับชัยชนะในสงครามนี้แล้ว

“การใช้กำลังทหารเป็นสิ่งที่มีบทบาทความสำคัญ ทว่าความพยายามทางทหารที่จะจับกุมหรือสังหารพวกผู้ก่อการร้าย น่าที่จะต้องเป็นรองบรรดามาตรการที่มุ่งส่งเสริมให้ระดับท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมในรัฐบาล และมีส่วนร่วมในแผนงานทางเศรษฐกิจที่มุ่งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา ตลอดจนเป็นรองความพยายามในการทำความเข้าใจและแก้ไขเยียวยาความคับข้องใจทั้งหลาย ซึ่งบ่อยครั้งทีเดียว เป็นสิ่งที่นอนอยู่ในหัวใจของผู้ก่อความไม่สงบ” เอกสารฉบับนี้กล่าวเพิ่มเติม

“ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังที่กล่าวมาเหล่านี้ สิ่งที่น่าจะเป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่สุดของการต่อสู้ต้านทานพวกสุดโต่งนิยมความรุนแรง จึงไม่ใช่การสู้รบที่เรากระทำด้วยตัวเราเอง แต่กลับอยู่ที่ว่าเราทำได้ดีแค่ไหนในการเข้าช่วยเหลือเตรียมความพร้อมให้แก่พวกหุ้นส่วนของเรา เพื่อให้พวกเขาสามารถคุ้มครองปกป้องพวกเขาเองและปกครองพวกเขาเอง”

ในส่วนของภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นมาได้นอกเหนือไปกว่านี้ เอกสารฉบับนี้ได้ระบุเจาะจงถึงจีนและรัสเซีย เช่นเดียวกับอีก 2 สมาชิกที่ยังเหลือรอดอยู่ใน “แกนอักษะแห่งปีศาจ” (axis of evil) ของบุช นั่นคือ อิหร่าน กับ เกาหลีเหนือ ก็ได้รับการเอ่ยถึงเป็นพิเศษ

“จีนเป็นรัฐที่มีฐานะอำนาจอิทธิพลสูงรัฐหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับสหรัฐฯได้” เอกสารฉบับนี้บอก “สำหรับในอนาคตที่ยาวไกลขนาดพอเห็นได้จากนี้ไป เราจำเป็นจะต้องหาทางป้องกันความเสี่ยง จากการปรับปรุงการทหารให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ของจีน ตลอดจนผลกระทบที่จะมีต่อความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ จากการเลือกสรรในเชิงยุทธศาสตร์ของจีน” ขณะเดียวกัน เขาก็เรียกร้องให้เพิ่มพูน “การติดต่อพัวพันกัน” ระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ

และขณะที่วอชิงตันมีผลประโยชน์ร่วมกับรัสเซีย และ “สามารถร่วมไม้ร่วมมือกับรัสเซียได้ในวิถีทางต่างๆ อย่างหลากหลาย” ทว่า การที่มอสโก “ก้าวถอยหลังออกจากระบอบประชาธิปไตย และเพิ่มการข่มขู่กรรโชกทางการเมืองต่อประเทศเพื่อนบ้านของตน ก็ทำให้เป็นเหตุที่พึงต้องกังวล”

กระนั้นก็ตามที “เราจะหาทางทำให้จีนและรัสเซียมีความยึดมั่นวางตัวเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบ [ระหว่างประเทศ]” เอกสารนี้ระบุ “ทำนองเดียวกัน เราก็กำลังมองไปที่อินเดีย ซึ่งจะเข้าแบกรับความรับผิดชอบให้มากขึ้นในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ... ให้สมควรกับอำนาจทางเศรษฐกิจ, การทหาร, ตลอดจนอำนาจอ่อนของพวกเขาที่กำลังเติบโตขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ”

จิม โล้บ ทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของพวกอนุรักษนิยมใหม่ ในคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ www.ips.org/blog/jimlobe/

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น