xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาพูดเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3

เผยแพร่:   โดย: นิโคไล โซคอฟ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Let’s talk about World War III
By Nikolai Sokov
25/08/2008

เปรียบเทียบกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เวลานี้บรรดาองค์ประกอบสำคัญที่สุดสำหรับสงครามโลกครั้งที่สาม ถือว่าเข้าที่เข้าทางพร้อมสรรพแล้ว กองทหารรัสเซียสามารถยังความปราชัยให้แก่กองทัพจอร์เจีย แต่จะไม่มีโอกาสต้านทานสหรัฐฯได้เลย เว้นแต่มอสโกจะหันไปพึ่งพาการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างจำกัด โดยมุ่งเล่นงานฐานทัพสหรัฐฯในยุโรปสักสองสามแห่ง ตลอดจนเรือบรรทุกเครื่องบินที่อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มันจะเป็นสงครามซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสงครามตามแบบแผน ทว่าเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อนด้วยดอกเห็ดนิวเคลียร์สักสองสามดอกที่นี่บ้างที่นั่นบ้าง โลกจะยังไม่ถึงกับถูกทำลายล้างหายไป และก็ยังเหลือโอกาสเพียงน้อยนิดเดียวที่โลกจะสามารถหลีกเลี่ยงฉากเหตุการณ์แบบนี้ไปได้

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องขบคิดไตร่ตรองอย่างจริงจังในเรื่องสงครามโลกครั้งที่สาม บรรดาองค์ประกอบสำคัญที่สุดต่างถูกจัดวางเข้าที่เข้าทางพร้อมสรรพแล้ว เหมือนอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยภูมิภาคคอเคซัสจำนวนมากมายได้เคยทำนายเอาไว้นั่นแหละ ภูมิภาคนี้กำลังกลายเป็นถังดินระเบิด และเป็นอาณาบริเวณสำคัญของการแข่งขันอย่างเป็นปรปักษ์กันระหว่างพวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่

เห็นกันได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ความไม่ลงรอยกันระหว่างพวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่นั้น อันที่จริงแล้วมีขนาดขอบเขตที่เกินเลยไปกว่าภูมิภาคแถบนี้มาก และความขัดแย้งตลอดจนสงครามในคอเคซัสก็ค่อนข้างจะด้อยความสำคัญในการเดินเกมใหญ่และการคาดคำนวณเชิงองค์รวมของพวกเขา กระนั้นก็ตาม สหรัฐฯ, องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้), และรัสเซีย ต่างก็มีเดิมพันเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญอยู่ในภูมิภาคนี้ นั่นคือ มีการให้คำมั่นสัญญาต่างๆ แก่พวกผู้เล่นระดับท้องถิ่น ตลอดจนมีความหวาดกลัวกันว่าหากทอดทิ้งพวกผู้เล่นท้องถิ่นเหล่านี้ ก็อาจสร้างความเสียหายต่อศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ ตลอดจุดยืนในโลกของพวกตน

อาจจะฟังดูเหมือนขัดกันเองทว่ามันกลับกลายเป็นความจริงนั่นคือ ความขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธครั้งใหญ่ในขอบเขตทั่วโลกนั้น มีโอกาสที่จะเกิดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ตั้งแต่ความเป็นไปได้ที่สงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่โตจะปะทุขึ้นมาได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อพิจารณากันด้วยเงื่อนไขในทางปฏิบัติแล้ว บัดนี้ไม่มีใครหวาดกลัวว่าโลกจะถูกทำลายล้าง และดังนั้น โลกในเวลานี้จึงถูกมองถูกเข้าใจกันว่า สามารถที่จะทำสงครามตามแบบแผน (conventional warfare) กันโดยที่จะยังคงมีความปลอดภัยตามสมควรทีเดียว

เราลองมาจินตนาการกันดูว่าสงครามโลกครั้งสามอาจจะเริ่มปะทุขึ้นมาได้อย่างไร สงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นเริ่มต้นด้วยการที่พวกชาวเซิร์บลอบปลงพระชนม์ อาร์ชดุ๊ค ฟรานซ์-เฟอร์ดินันด์ แห่งออสเตรีย ณ เมืองซาราเจโว การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องไร้เหตุผลมาก เพราะอาร์ชดุ๊คพระองค์นี้ เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าทรงมีเหตุมีผลและทรงมีพระดำริในแนวทางไม่รุนแรง ยิ่งเสียกว่าสมาชิกองค์อื่นๆ ในพระราชวงศ์แห่งจักรวรรดิออสเตรีย แน่นอนทีเดียวว่า รัสเซียผู้เป็นพันธมิตรและเป็นผู้อุปถัมภ์เซอร์เบียอยู่ในเวลานั้น ไม่ได้อนุมัติสั่งการให้ทำเรื่องนี้ขึ้นมา ถึงแม้มีเสียงลือกันอยู่ว่า นักการทูตและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองบางคนของรัสเซียทราบเรื่องที่มีการวางแผนกระทำเช่นนี้ กระนั้นรัสเซียก็รู้สึกว่าตนเองถูกบังคับให้ต้องเข้าแทรกแซงโดยยื่นอยู่เคียงข้างเซอร์เบีย เมื่อออสเตรียตอบโต้เซอร์เบียด้วยการใช้แสนยานุภาพทางทหารทั้งหมดของตน ทั้งนี้สาเหตุประการหนึ่งมาจากการที่เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น รัสเซียได้เคยทอดทิ้งปล่อยให้เซอร์เบียต้องถูกออสเตรียกระทำย่ำยีเอาตามใจมาครั้งหนึ่งแล้ว การปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกเป็นครั้งที่สองย่อมถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ นี่แหละ คือความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อพูดกันโดยสรุปคร่าวๆ

ขอให้เราหันไปดูสถานการณ์ในตอนใต้ของภูมิภาคคอเคซัสในเวลานี้ มีการพูดกันในวอชิงตันและบรัสเซลส์ว่า หลังจากที่ต้องประสบกับสิ่งที่ถูกรียกขานกันว่าเป็นการรุกรานของรัสเซียแล้ว อีกไม่นานจอร์เจียก็จะได้รับอนุมัติ “แผนปฏิบัติการเพื่อการเป็นสมาชิก” (Membership Action Plan หรือ MAP) ซึ่งเป็นขั้นตอนไปสู่การเข้าร่วมองค์การนาโต้ อย่างไรก็ตาม ลู่ทางโอกาสการเข้าเป็นสมาชิกของจอร์เจียยังใช่ว่าจะสดใสแน่นอนแล้ว เนื่องจากสมาชิกบางรายของนาโต้ (ซึ่งได้ถูก โดนัลด์ รัมสเฟลด์ แบ่งกลุ่มจัดประเภทเอาไว้อย่างเหมาะสมว่า เป็น “ยุโรปเก่า”) ไม่มีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ ทว่าภายในสหรัฐฯเอง แนวคิดเกี่ยวกับ “การพิทักษ์คุ้มครองจอร์เจีย” กำลังเป็นที่นิยมชมชื่นกันมาก โดยที่สำคัญก็ต้องขอขอบคุณการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี อันทำให้พวกผู้สมัครสามารถที่จะใช้สงครามในจอร์เจียมาเป็นประโยชน์ในการแข่งขันหาเสียง

อันที่จริงแล้ว จอร์เจียไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการอันยาวนานและเต็มไปด้วยอุปสรรคความลำบากนานาประการ สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายดายกว่านั้นมากก็คือ การส่งทหารสหรัฐฯสัก 2 หรือ 3 กองพันเข้าไปประจำการอยู่ในดินแดนของจอร์เจีย ซึ่งจะทำให้ประเทศนี้แปรเปลี่ยนไปอยู่ในฐานะคล้ายคลึงกับเยอรมันตะวันตกในช่วงระหว่างสงครามเย็น ทั้งนี้ เมื่อตอน 50 ปีที่แล้วมา กองทหารสหรัฐฯในเยอรมันตะวันตกทำหน้าที่เสมือนกับเป็นตัวประกัน กล่าวคือ ถ้าโซเวียตเข้าโจมตีแล้วทหารอเมริกันเกิดการสูญเสียชีวิตขึ้นมา มันก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะดึงลากเอาสหรัฐฯเข้าทำศึกยิงกันกับฝ่ายโซเวียตไปด้วย ทำอย่างนี้เสียเลยดูจะเป็นแผนการที่ฉลาดหลักแหลมกว่า เราเองไม่มีทางทราบหรอกว่ามันจะใช้การได้หรือเปล่า เพราะเราก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าแท้ที่จริงแล้วสหภาพโซเวียตวางแผนที่จะเข้าโจมตีจริงหรือไม่ เพียงแต่เมื่อคิดตามหลักเหตุผลดูจะฟังได้ว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

ข้อดีของการที่อเมริกันจะกลายเป็นผู้ให้การค้ำประกันจอร์เจียตามใจปรารถนาเพียงฝ่ายเดียวเช่นนี้ ก็คือเป็นการตัดสินใจที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยที่จะทำแต้มทางการเมืองได้เป็นกอบเป็นกำ และหลีกเลี่ยงการต้องเล่นการเมืองกับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งหนีไม่พ้นว่าจะต้องมีการทะเลาะโต้เถียงกัน

เวลานี้ ไพ่ใบที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ในเกมแห่งการพิทักษ์ปกป้องจอร์เจียนี้ ก็คือ คณะผู้นำจอร์เจีย ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ย่อมหมายถึง มิเฮอิล ซาคัชวิลี นั่นแหละ คำถามมีอยู่ว่า คณะผู้นำจอร์เจียพร้อมที่จะเล่นไปตามบทบาทโดยถือว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของทีมหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องโต้เถียงกันเลยประการหนึ่ง ในสิ่งที่ฝ่ายรัสเซียเวลานี้เรียกว่า “สงครามห้าวัน” คราวนี้ ได้แก่เรื่องที่สหรัฐฯได้เตือนจอร์เจียอย่างชัดเจนและอย่างหนักแน่นจริงจังมาหลายปีแล้ว ให้หลีกเลี่ยงอย่าได้เข้าสู้รบโดยตรงกับรัสเซีย กระนั้นก็ตาม ซาคัชวิลีและทีมงานของเขากลับกระโจนเข้าสงคราม และเมื่อพวกเขาตระหนักว่าพวกเขากำลังพ่ายแพ้ ก็ได้ขอให้วอชิงตันเข้ามาแทรกแซงโดยใช้กำลังทหาร เรื่องนี้ทำให้ต้องเกิดความสงสัยกันอย่างเคร่งเครียดว่า กลุ่มคนพวกเดียวกันนี้จะใส่ใจคำนึงกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯหรือ หากพวกเขาได้รับคำมั่นที่จะให้การค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัย “แบบอัตโนมัติ” ไปแล้ว

คราวนี้ลองมาจินตนาการดูว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากอีก 1 ปีจากนี้ไปเกิดสถานการณ์แบบเดียวกันเปี๊ยบกับที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว

ถ้าหากสหรัฐฯนำกองทหารเข้าไปตั้งประจำอยู่ในจอร์เจีย วอชิงตันย่อมไม่สามารถทำเฉยๆ หรือถอยฉาก ไม่ว่าเรื่องราวที่ยั่วยุให้เกิดการเป็นปรปักษ์กันนั้น แท้ที่จริงแล้วจะเป็นอย่างไรก็ตามที อย่างไรเสีย เรื่องราวในเวอร์ชั่นที่สนับสนุนจอร์เจียและต่อต้านรัสเซีย จักเป็นเรื่องที่ได้รับความเชื่อถือและเผยแพร่มากที่สุดอยู่ดี นี่หมายความว่าอเมริกาจะต้องเข้าสงคราม ส่วนฝ่ายรัสเซียก็ไม่สามารถถอยหลังได้เช่นกัน และเหตุผลข้ออ้างของพวกเขาจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกันพอดีกับเหตุผลข้ออ้างของฝ่ายทบิลิซีและฝ่ายวอชิงตัน ในที่สุด พวกเขาก็จะเข้าสงครามด้วยเช่นกัน

เห็นกันได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า กองทหารรัสเซียสามารถยังความปราชัยให้แก่กองทัพจอร์เจีย แต่พวกเขาไม่มีโอกาสต้านทานสหรัฐฯได้เลย กระนั้นก็ตาม หลักทฤษฎีทางทหารที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน สามารถให้คำตอบแก่เรื่องนี้ได้ นั่นคือ รัสเซียจะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ในระดับจำกัด เพื่อเล่นงานพวกฐานทัพซึ่งอเมริกันใช้ดำเนินการโจมตี รวมทั้งจะต้องเล่นงานพวกกองบัญชาการและศูนย์ควบคุมทั้งหลาย นี่เรากำลังพูดกันถึงเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน 1 ลำที่ต้องมีประจำอยู่ในย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตลอดจนอาจจะรวมถึงฐานทัพสหรัฐฯ 2-3 แห่งในยุโรปด้วย

ขอต้อนรับเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สาม ซึ่งส่วนใหญ่จะรบกันในลักษณะสงครามตามแบบแผน และมีชูรสเพิ่มรสชาติด้วยดอกเห็ดนิวเคลียร์สักสองสามลูกที่นี่บ้างที่นั่นบ้าง

แง่มุมที่ควรแก่พอใจอย่างสุดๆ ของภาพจำลองสถานการณ์อันมืดมัวเศร้าหมองนี้ อยู่ตรงที่ว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองชั้นนำของโลกที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาใหม่ นั่นคือ จีนและอินเดีย เป็นพวกที่อยู่นอกเกมการสงครามคราวนี้โดยสิ้นเชิง สำหรับพวกเขาแล้ว มันไม่มีทั้งผลประโยชน์ใดๆ และก็ไม่มีเดิมพันใดๆ ไม่ว่าจะเป็นของจริงและในจินตนาการ ในสงครามที่สหรัฐฯกับรัสเซียจะรบกันเพื่อชิงภาคใต้ของคอเคซัส

สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดความหวังขึ้นมาได้บ้าง กล่าวคือ ถ้าหากเราสามารถอยู่รอดปลอดภัยตลอดช่วงระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน จนกระทั่งเมื่ออำนาจทางเศรษฐกิจและในที่สุดก็จะเป็นอำนาจทางการเมืองด้วย ได่มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายจากเมืองหลวงของมหาอำนาจหน้าเดิมๆ ไปยังเอเชียแล้ว โลกของเราก็ย่อมสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกันโดยตรงระหว่างมหาอำนาจสำคัญๆ ตลอดจนในเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์กันได้

พิจารณาจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดำเนินไปในเวลานี้ เราก็แค่ต้องมีโชคดีไปสักอีกสองสามปีเท่านั้น

ดร.นิโคไล โซคอฟ เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ ศูนย์เจมส์ มาร์ติน เพื่อการศึกษาการไม่แพร่กระจายอาวุธร้ายแรง (James Martin Center for Non-proliferation Studies) ณ สถาบันการระหว่างประเทศศึกษามอนเตอเรย์ (Monterey Institute of International Studies) เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองด้านความมั่นคงในยุคหลังโซเวียต
กำลังโหลดความคิดเห็น