xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยแหล่งน้ำมันชายแดนไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: แอนดริว ไซมอน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Temple spat may delay oil riches
By Andrew Symon
29/07/2008

การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังจากไทยและกัมพูชาในกรณีความขัดแย้งชิงความเป็นเจ้าของเหนือพื้นที่รอบปราสาทโบราณ ณ ชายแดนของประเทศทั้งสอง มีผลคุกคามต่อความพยายามแก้ปัญหาข้อพิพาทชายแดนในอีกจุดหนึ่ง ที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจสำหรับทั้งสองฝ่าย

สิงคโปร์ - ความขัดแย้งทางการทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาในกรณีอ้างสิทธิเหนือแผ่นดินรอบปราสาทโบราณ ณ พื้นที่ชายแดนร่วมของสองชาติ ส่งผลลบเป็นความยืดเยื้อต่อการหาทางออกแก่ข้อพิพาทชายแดนอีกหนึ่งปัญหาที่มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจสำหรับทั้งสองชาตินี้

ความตึงเครียดเหนือเขตปราสาทโบราณที่คนไทยเรียกขานว่า เขาพระวิหาร มีอันที่จะขยายตัวขึ้นมาในเดือนกรกฎาคม สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวที่จะนำปราสาทเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนกับองค์การยูเนสโก ในฐานะมรดกโลก

ในเวลาเดียวกัน เมื่อเคลื่อนจุดจากเขาพระวิหารลงไปทางทิศใต้ ในพื้นที่ 27,000 ตารางกิโลเมตรทางตอนเหนือของอ่าวไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน หรือ OCA เราจะเห็นจุดความขัดแย้งแย่งสิทธิความเป็นเจ้าของ ณ บริเวณชายแดนไทยกับกัมพูชาอีกจุดหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นบริเวณที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นแหล่งทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิลอันอุดม ในการนี้ ความเคลื่อนไหวทั้งหลายเพื่อแก้ปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างสองชาติคู่นี้มีความเสี่ยงสูงมากว่าจะยิ่งยากเกินจะคลี่คลายได้สำเร็จ ในท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ย่ำแย่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ หนำซ้ำ ไม่ว่าไทยหรือกัมพูชาต่างตกอยู่ในความเดือดร้อนที่จะต้องมีแหล่งพลังงานใหม่ๆ ไปป้อนระบบเศรษฐกิจของตน

ประเด็นความขัดแย้งชายแดนทั้งหลาย ซึ่งพัวพันอยู่กับเรื่องของเกียรติภูมิของชาติและการชิงดีชิงเด่นกันแต่เก่าก่อน ทำให้ยากที่จะบรรลุถึงการแก้ปัญหาได้หวาดไหว ในเวลาเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์และนักบริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมพลังงานล้วนเป็นกังวลว่า ความขัดแย้งจากกรณีเขาพระวิหารรอบนี้จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปในการจัดการกับปัญหา OCA อันเป็นพื้นที่ที่บรรษัทข้ามชาติด้านพลังงานหลายรายได้รับสัมปทานทับซ้อนกันอยู่ ผลประโยชน์ที่พัวพันอยู่กับการอ้างสิทธิทับซ้อนกันเหล่านี้นับวันแต่จะเติบใหญ่ ในเมื่อราคาน้ำมันโลกยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ ไทยเป็นชาติผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย โดยมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันคิดเป็น 12% ของจีดีพีประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญปัญหาช่องว่างเติมไม่เต็มระหว่างอุปทานเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในประเทศ กับอุปสงค์ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ปัญหาเงินเฟ้อที่ถูกผลักดันโดยต้นทุนการผลิตที่ทะยานแรงเพราะราคาน้ำมันโลกนับวันจะเขยิบสูงขึ้นไม่รู้จบ กำลังกดดันพลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งคาดกันแล้วว่าชะลอลงมากในช่วงปีหน้า

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างกัมพูชา รายได้จากการผลิตปิโตรเลียมจะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ระบบเศรษฐกิจ ขณะที่น้ำมันเบนซินที่จะได้รับเข้าสู่ระบบก็จะช่วยลดการพึ่งพิงดีเซลราคาแพง ซึ่งขณะนี้กัมพูชาต้องพึ่งพิงอยู่ในระดับที่มากเกินไป กระนั้นก็ตาม ราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงก็สร้างปัญหาเงินเฟ้อภายในกัมพูชาซึ่งกำลังมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเช่นกัน ทั้งนี้ กัมพูชาตกเป็นข่าวว่ามีอัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงถึง 18.7% เมื่อเดือนมกราคมอันเป็นข้อมูลล่าสุดที่ทางการกัมพูชาเปิดเผยออกมา

กัมพูชาจัดได้ว่าจวนเจียนจะได้ลาภใหญ่คือแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พบนอกเขตอ้างสิทธิทับซ้อน แต่เรื่องกลับล่าช้าเพราะบริษัทเชฟรอนซึ่งเป็นผู้สำรวจและประกาศการค้นพบเมื่อเดือนมกราคม 2005 เกิดอาการลังเลที่จะให้ตัวเลขประมาณการปริมาณน้ำมันและก๊าซในแหล่งดังกล่าว ตลอดจนไม่ยอมระบุกำหนดเวลาที่จะเริ่มการผลิต ด้วยเหตุผลว่า “กำลังเร่งทำงานอย่างหนักเพื่อหาทางพัฒนาแหล่งพลังงานอันซับซ้อนนี้” ซึ่งก็เป็นเพราะว่า “มันกระจายเป็นแหล่งเล็กๆ กระจัดกระจายไปทั่ว” แทนที่จะมีเป็น “แหล่งใหญ่ หลักๆ หนึ่งเดียว”

ด้านบริษัทอื่นๆ ที่ได้เข้าไปสำรวจแหล่งน้ำมันในแปลงสัมปทานต่างๆ มีกำหนดที่จะต้องทยอยออกรายงานประมาณการปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตามๆ กันมา ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นรายงานในเชิงบวกเป็นส่วนใหญ่ ในการนี้ นักธรณีวิทยาจำนวนมากมีแนวโน้มจะเชื่อว่าพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น มีทรัพยากรทรงคุณค่าอยู่อย่างหนาแน่น

นักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์รายหนึ่งซึ่งกำลังทำงานให้กับหลายบริษัทด้านปิโตรเลียมในย่านนี้ให้ความเห็นว่า “การเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ร่วมกัน นับเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเชิงการเมืองเสมอ พวกรัฐบาลถือเป็นเรื่องเสี่ยงเพราะอาจถูกตีความว่าไปยอมอ่อนข้อจนเสียหายต่ออธิปไตยของชาติ ตลอดจนนำทรัพย์ของชาติไปถวายแก่ประเทศอื่น”

“ยิ่งอยู่ในช่วงที่ข้อพิพาทเขาพระวิหารกำลังระอุเช่นนี้ มันคงยากที่จะสร้างพัฒนาการใดๆ เกี่ยวกับพื้นที่ OCA”

อันที่จริงแล้ว ไทยกับกัมพูชามีประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งกันมายาวนาน แม้ต่างมีวัฒนธรรมร่วมกันผ่านพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่กัมพูชามองไทยมาโดยตลอดว่าเป็นภัยคุกคาม โดยอาจถอยหลังย้อนกลับไปไกลได้ถึงยุคที่กองทัพสยามบุกเข้าทำลายอาณาจักรนครวัดเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 นอกจากนั้น เมื่อยุคใกล้ๆ นี้ กัมพูชามองว่าไทยเคยรุกรานเข้าไปยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา

ความขัดแย้งเหนือพื้นที่ OCA มีความเป็นมาในทำนองเดียวกับกรณีแย่งกันอ้างสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหาร โดยเริ่มเมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาในการพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองกัมพูชา ลาว และเวียดนามในขณะนั้น ข้อคัดค้านของฝ่ายไทยต่อการที่กัมพูชาอ้างสิทธิเหนือพื้นที่เหล่านี้ ตลอดจนพื้นที่ทางตอนเหนือของเขต OCA ทำให้การสำรวจทรัพยากรในน่านน้ำเหล่านี้ไม่อาจดำเนินการได้นับจากปี 1974 เป็นต้นมา

**แหล่งทรัพยากรใหญ่รอการสำรวจ**

กระนั้นก็ตาม นักธรณีวิทยาระดับผู้ทรงคุณวุฒิในสายวิทยาการนี้กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในน่านน้ำระหว่างไทยกับกัมพูชาจะมีทั้งแหล่งน้ำมันและแหล่งก๊าซ ในการนี้ มีอยู่รายหนึ่งถึงกับระบุว่า “เป็นพื้นที่ปลอดการสำรวจที่ดีที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ทั้งนี้ พื้นที่ที่ว่านี้หมายถึงบริเวณที่ต่อเนื่องกับแหล่งน้ำมันและแหล่งก๊าซในน่านน้ำประเทศไทยที่มีการผลิตน้ำมันและก๊าซออกมาอย่างมหาศาลแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

พื้นที่ OCA กินบริเวณของพื้นที่ทะเลไม่ลึกนัก ลงไปไม่ถึง 80 เมตร โดยคาดกันว่าแหล่งน้ำมันและแหล่งก๊าซส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือ ขณะที่ทางตอนใต้น่าจะหนักไปทางก๊าซกับก๊าซเหลว การประมาณการให้แก่ปริมาณพลังงานในพื้นที่นี้ หากอิงกับตัวเลขที่ปรากฏในแหล่งอื่นภายในอุตสาหกรรมปิโตเลียม จะได้ตัวเลขหลวมๆ ในช่วงระหว่าง 8-15 ล้านล้านลบ.ฟุตสำหรับก๊าซ และช่วงระหว่าง 400-1,000 ล้านบาร์เรลสำหรับบรรดาเชื้อเพลิงเหลวคือน้ำมันและก๊าซเหลว

ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นการคาดเดาค่อนข้างสูงเพราะขาดการสำรวจอย่างละเอียด เนื่องจากทางการของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชายังไม่ให้อนุญาต บรรดาความพยายามทั้งปวงที่จะแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง เคยสร้างความคืบหน้าได้บ้างเมื่อปี 2001 อันเป็นปีที่สองฝ่ายลงนามบันทึกความเข้าใจข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาที่สามารถดำเนินการได้ในบริเวณสองในสามของพื้นที่ OCA ส่วนใต้ ขณะที่พื้นที่ OCA ส่วนเหนือจะให้เริ่มพัฒนาได้ทันทีที่การจัดทำแนวพรมแดนในเขตน่านน้ำประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ฝ่ายไทยหันมาเรียกร้องว่าต้องจัดทำแนวพรมแดนด้านเหนือของพื้นที่ OCA ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะให้เริ่มดำเนินการพัฒนาร่วมในพื้นที่ด้านใต้ของ OCA ดังนั้น การเจรจาจึงชะงักกันไป ตัวแทนการเจรจาฝ่ายไทยเสนอว่า ให้แบ่งพื้นที่ความขัดแย้งด้วยวิธีที่ว่า แบ่งพื้นที่เป็นแนวแถบยาวเหนือจรดใต้ 3 แถบ แล้วให้นำรายได้จากพื้นที่แถบกลางมาแบ่งแบบเท่าๆ กัน ขณะที่ส่วนแบ่งจากพื้นที่แถบริมทั้งสองข้างนั้น ให้แจงน้ำหนักมากน้อยไปตามแต่ว่าประเทศใดอยู่ใกล้พื้นที่นั้นๆ

เนื่องจากเชื่อกันว่าบริเวณที่มีเชื้อเพลิงพลังงานอุดมมากที่สุด คือบริเวณที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ OCA การแบ่งด้วยวิธีดังกล่าวย่อมให้ประโยชน์แก่ไทยมากกว่า

สำหรับข้อเสนอของกัมพูชามีอยู่ว่า ให้ขีดเส้นแบ่งกลางพื้นที่ในแนวตั้งหนึ่งเส้น แล้วขีดเส้นแบ่งแนวนอนหกเส้น เพื่อให้ได้เป็นบล็อก 14 บล็อก และแบ่งรายได้จากแต่ละบล็อกเท่าๆ กัน ส่วนอำนาจในการบริหารแต่ละบล็อกนั้น กัมพูชาเสนอว่าให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบกันฝ่ายละ 7 บล็อก โดยแบ่งสิทธิ์แบบสลับกันเป็นตาหมากรุก

ไทยปฏิเสธการแบ่งแบบครึ่งๆ พร้อมกับเรียกร้องออกมาว่าไทยต้องได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากพื้นที่ OCA มากกว่าฝ่ายกัมพูชา

ด้านบริษัทวู้ด แมคเคนซี ที่ปรึกษาอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งมีฐานอยู่ในอังกฤษเสนอผลการศึกษาว่า 85% ของผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากพื้นที่ OCA มีแนวโน้มจะไปเกิดแก่ฝ่ายไทยภายใต้ข้อตกลงร่วมกันผลิต เพราะก๊าซคงจะถูกลำเลียงไปในระบบท่อขนส่งที่ไทยใช้งานอยู่ในอ่าวไทย ณ ปัจจุบันนี้

หลายปีมานี้ ทั้งสองฝ่ายต่างให้สัมปทานการสำรวจแหล่งพลังงานในพื้นที่ OCA แก่บรรษัทข้ามชาติด้านพลังงานไปแล้วมากมาย อาทิ โคโนโคฟิลลิปส์ และเชฟรอน ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐฯ บริติช ก๊าซ ซึ่งมีฐานอยู่ในอังกฤษ บีเอชพี บิลลิตัน ของออสเตรเลีย และอีกหลายเจ้าจากญี่ปุ่น คือ ไอเดมมิซู อินเป็กซ์ และโมเอโคะ

ที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้ไม่มีสักรายเดียวที่ขอถอนตัว ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพที่พื้นที่ OCA น่าจะมีอยู่จริง นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกต

เชฟรอนเป็นรายที่ “มีความสนใจจริงจังในหลายบล็อกในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา” บริษัทที่ปรึกษาวู้ด แมคเคนซี แจ้งไว้ในหนังสือของบริษัทลงวันที่ของเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยเป็นเอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัท “นับจากต้นปี 2008 พื้นที่เหล่านี้ไม่มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเพราะต้องรอให้ปัญหาชายแดนได้รับการแก้ไขโดยสองประเทศนี้ก่อน” เอกสารดังกล่าวระบุอย่างนั้น

เจ้าหน้าที่ทางการของไทยและกัมพูชามีการพบปะกันปีละหลายครั้งตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในเอ็มโอยูปี 2001 ทั้งนี้ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ามีความใกล้ชิดกับนายกฯฮุนเซน ของกัมพูชา มีสัญญาณเชิงบวกหลายประการที่ชี้บ่งว่าการแก้ปัญหาน่าจะฉลุยได้ กระนั้นก็ตาม เอาเข้าจริงแล้ว ก็แทบจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ความพยายามในเรื่องนี้กลับสะดุดอย่างแรง เมื่อความสัมพันธ์เชิงการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชาหักสะบั้นในต้นปี 2003 หลังจากที่เกิดจลาจลวุ่นวายในกัมพูชาเพื่อเล่นงานไทย เนื่องจากโกรธเกรี้ยวกับรายงานข่าวว่านักแสดงสาวคนดังของไทยกล่าวว่านครวัดของกัมพูชานั้น ควรเป็นส่วนหนึ่งของไทย ในครั้งนั้น ม็อบเขมรบุกทำลายสถานทูตไทย ตลอดจนทำลายบริษัทของไทยหลายแห่งในกรุงพนมเปญ

ในที่สุด ความสัมพันธ์สองฝ่ายก็ได้รับการฟื้นฟู การเจรจาจึงดำเนินต่อ แต่พอเกิดรัฐประหารในไทยเมื่อเดือนกันยายน 2006 เมฆหมอกแก่งความไม่แน่นอนครั้งใหม่ก็เกิดขึ้นครอบคลุมบรรยากาศการเจรจา

ความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีปราสาทเขาพระวิหารดูว่าดีขึ้น เมื่อไทยแต่งตั้ง เตช บุนนาค อดีตลูกหม้อกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแห่งนี้แทนที่ นพดล ปัทมะ ซึ่งลาออกไป

เมื่อพิจารณาดูว่า ในการเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ OCA แต่ละฝ่ายมักให้รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้แทนการเจรจามากกว่าจะให้รัฐมนตรีพลังงานรับผิดชอบงานตรงนี้ ดังนั้น ประเด็นชาตินิยมว่าด้วยเกียรติภูมิและอธิปไตยของชาติจึงมีน้ำหนักบดบังความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งจึงยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ละฝ่ายต้องเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม

แอนดริว ไซมอน เป็นนักเขียนและนักวิเคราะห์ที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ โดยมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านพลังงานและทรัพยากร ติดต่อเขาได้ที่ andrew.symon@yahoo.com.sg
กำลังโหลดความคิดเห็น