xs
xsm
sm
md
lg

9 ส.ค.ความภูมิใจของโลก วันสตรีแกร่งแห่งแอฟริกาใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลิเลียน เอ็นโกยี – จากสาวโรงงาน สู่บทบาทนักต่อสู้ทางการเมือง
ผู้จัดการรายวัน - แอฟริกาใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่โด่งดังด้านความสำเร็จในการปลดแอกความอยุติธรรมที่มีชื่อว่า ลัทธิเหยียดผิว ด้วยขบวนการต่อสู้อันยาวนานและแสนทรหดที่ผู้หญิงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญอยู่เบื้องหลัง คนผิวดำในแอฟริกาใต้ประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งสิทธิเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หลังจากที่ถูกกดขี่ บีฑา และเอาเปรียบต่อเนื่องเป็นหลายศตวรรษโดยระบอบการปกครองในความยึดครองของคนแอฟริกาใต้ผิวขาว เชื้อสายอังกฤษ

ความเคลื่อนไหวขนานใหญ่ระดับแผ่นดินสะเทือนแมตช์แรกที่ผู้หญิงแอฟริกาใต้ แสดงพลังให้ผู้ครองประเทศซึ่งล้วนเป็นคนแอฟริกาใต้ผิวขาวได้ตื่นตระหนก มีขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 1956 เมื่อผู้หญิงกว่า 20,000 คน จากทุกชนเผ่า รวมตัวกัน เดินแห่ไปตามท้องถนนในเมืองพรีโตเรีย มุ่งหน้าสู่ตึกยูเนียน ขอพบนายกรัฐมนตรี เจ.จี.สตริจดอม เพื่อยื่นเอกสารรายชื่อบุคคลแสนกว่าชื่อ ที่ร้องทุกข์และคัดค้านกฎหมายบังคับคนผิวดำทั้งหญิงและชาย ให้ต้องพก “บัตรผ่าน” เพื่อเข้าสู่เขตที่อยู่อาศัยหวงห้าม สงวนให้เฉพาะแก่คนผิวขาว และอนุญาตผ่านได้เฉพาะคนผิวดำที่จะมีหน้าที่ทำงานในเขตเหล่านั้นเท่านั้น

นายกฯ สตริจดอม ไม่อยู่รับเรื่อง มีแต่เลขานุการนายกรัฐมนตรีรับเอกสารรายชื่อซึ่งอยู่ในรูปแบบกระดาษมัดซ้อนกองพะเนินที่หน้าอาคาร

สีสันอันโดดเด่นในการเดินขบวนเรียกร้องทางการเมืองครั้งสำคัญนั้น ประกอบด้วยการที่บรรดาสตรีกว่าสองหมื่นชีวิตในขบวน ร่วมกันร้องเพลงที่กลายเป็นตำนานแห่งความกล้าหาญและพลังของผู้หญิงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ใจความว่า

“เมื่อคุณฟาดฟันสตรี
คุณกำลังฟาดฟันหินผา
คุณจะถูกบดขยี้”

การเดินขบวนขนาดสองหมื่นคนโดยผู้หญิงล้วนๆ ทุกเผ่าพันธุ์และทุกสีผิว ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงผิวขาวที่มีจิตใจรักความเป็นธรรมด้วย จำนวนมากกระเตงลูกหลาน และบางส่วนก็อุ้มเด็กผิวขาวที่ตนรับหน้าที่เป็นแม่นม ไปเข้าร่วมขบวนด้วยนั้น นับเป็นความเอิกเกริกที่คุกคามขวัญของคนผิวขาวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระเทือนในทางความรู้สึกสูงมาก

อันที่จริงแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองโดยผู้หญิงในแอฟริกาใต้เต็มไปด้วยความคึกคักมาก่อนหน้าปี 1956 โดยมีการรวมพลังของผู้หญิงนักเคลื่อนไหวที่เป็นสมาชิกในกลุ่มพันธมิตรรัฐสภา (Congress Alliance) จนกระทั่งเกิดเป็นการจัดตั้งสมาพันธ์สตรีแอฟริกาใต้ (Federation of South African Women - FSAW) โดยผู้หญิงจากหลายเส้นทางชีวิต ทั้งสาวโรงงานที่ก้าวขึ้นเป็นแอคติวิสต์ ไปจนถึง ครู และปัญญาชนที่เปิดตัวคัดค้านรัฐบาลเหยียดผิว

ด้วยการนำของผู้หญิงระดับแนวหน้าการต่อสู้อำนาจรัฐ ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองของแอฟริกาใต้อย่างหลากหลาย การต่อสู้ด้วยการเดินขบวน 9 สิงหาคม 1956 จึงมีการเคลื่อนไหวอื่นๆ เพื่อต่อสู้ให้ยกเลิกกฎหมายแห่งการกดขี่เชิงชาติพันธุ์ฉบับดังกล่าว ตามมาอย่างไม่ขาดสาย

ทั้งนี้ ในคราวหนึ่งของการชุมนุมต่อต้าน ทางการผิวขาวได้ใช้คมกระสุนเข้าปราบปราม ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า สังหารหมู่ที่ชาร์เปวิลล์ (21 มีนาคม 1960) จำนวนเหยื่อที่เสียชีวิตในครั้งนั้นมีถึง 67 ราย บาดเจ็บ 170 ราย ตามด้วยการไล่ล่าจับกุมคุมขังนักต่อสู้คัดค้านลัทธิเหยียดผิวไปกว่า 1,700 คน ประเทศชาติตกอยู่ในความเศร้าสลด ถึงกับว่า สามสัปดาห์ต่อมา มีเกษตรกรผิวขาวจิตใจรักความเป็นธรรม ได้ดำเนินการพยายามสังหารนายกฯ

ในเวลาเดียวกัน ผู้หญิงนักต่อสู้นับไม่ถ้วนตกเป็นเหยื่อการปราบปรามด้วยความรุนแรง จำนวนมากปรับกระบวนการต่อสู้ลงใต้ดิน จำนวนมากหลีกลี้การไล่ล่าออกไปเคลื่อนไหวที่ต่างประเทศ ขณะที่ผู้หญิงแห่งการต่อสู้ระดับหัวแถวถูกดำเนินคดี เดินเข้าออกคุกครั้งแล้วครั้งเล่า บางคนเสียชีวิตก่อนได้เห็นสังคมกอบกู้สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคสำเร็จ

กว่าที่เป้าหมายของการต่อสู้โดยผู้หญิงผู้กล้าของแอฟริกาใต้จะประสบความสำเร็จ กาลก็ล่วงผ่านไปถึงปี 1986 ทีเดียว โดยทางการยอมยกเลิกกฎหมาย “บัตรผ่าน”

เมื่อคนผิวดำได้รับชัยชนะในทางการเมือง หลังจากที่ต่อสู้จนีสิทธิเลือกตั้งในปี 1994 และผู้คนออกไปใช้สิทธิ์อย่างล้นหลาม และได้มีรัฐบาลที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำเข้าไปแทนที่รัฐบาลของชนกลุ่มน้อยผิวขาว ได้มีการเทิดเกียรติผู้หญิงผู้กล้าของประเทศ โดยกำหนดให้วันที่ 9 สิงหาคม เป็นวันสตรีแห่งชาติ (National Women’s Day)

สถานภาพสตรีในแอฟริกาใต้ดีขึ้นมาก

การฉลองรำลึกถึงคุณูปการของผู้หญิงต่อการได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในแอฟริกาใต้ มีขึ้นครั้งแรกในปี 1995 ในขณะที่การต่อสู้เพื่อพัฒนาสถานภาพสตรีเป็นไปด้วยความคึกคัก และยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำเร็จของการเรียกร้องโดยขบวนการนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในการได้มาซึ่งกฎหมายป้องกันการข่มเหงรังแกสตรี อันเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายบ้านเมืองที่จะเดินเรื่องดำเนินคดีเอาผิดสามีและพ่อที่ทุบตีทารุณภรรยาและลูก กลุ่มมิจฉาชีพที่ค้าผู้หญิง ได้โดยไม่ต้องมีเจ้าทุกข์

วิลเลียม พรีทอเรียส หัวหน้าทีม Asia Regional Trafficking in Persons Project (ARTIP – หน่วยงานรณรงค์แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งรับทุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย) ซึ่งเป็นอดีตนายตำรวจในหน่วยดำเนินการช่วยเหลือสตรีในแอฟริกาใต้ เล่าว่า กฎหมายดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาที่ว่า เมื่อผู้หญิงเข้าแจ้งความต่อตำรวจเพื่อขอความคุ้มครองจากการถูกข่มเหงรังแก แต่เมื่อถูกข่มขู่คุกคามจากฝ่ายผู้กระทำ หรือกระทั่งรู้สึกหวาดกลัวอนาคต และยอมกลับไปรับการข่มเหงจากสามี ผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะถอนตัวจากคดี ทำให้ตำรวจไม่สามารถดำเนินการเอาผิดแก๊งค์ค้ามนุษย์ หรือลงโทษอบรมนิสัยสามีจอมโหดให้ถึงที่สุดได้

แต่เมื่อมีกฎหมายนี้แล้ว เพียงได้เริ่มต้นดำเนินคดี แม้เจ้าทุกข์จะถอนตัว แต่ตำรวจยังเดินกระบวนการยุติธรรมต่อไปเท่าที่จะสามารถทำได้

พรีทอเรียส เล่าว่า กระบวนการคุ้มครองช่วยเหลือสตรีในแอฟริกาใต้ กระทำอย่างครบวงจร และมีเครื่องมือพร้อมและมากมายพอที่จะรองรับปัญหา มีบ้านแรกรับเพื่อช่วยคุ้มครองได้ทันที มีทีมนักจิตวิทยา ฯลฯ โดยที่การช่วยเหลือผู้หญิง และยกระดับสถานภาพสตรี เป็นหนึ่งในห้าของภารกิจสำคัญที่สุดที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ให้ความสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น