xs
xsm
sm
md
lg

การพูดจากับอิหร่านเจอทางตันเพราะ “การคุยเจ๊าะแจ๊ะ”

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Iran talks doomed to ‘small talk’
By Gareth Porter
21/07/2008

มีความคาดหมายกันอย่างสูงมากว่า จะต้องมีความคืบหน้าในการเจรจาพูดคุยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างอิหร่านกับชาติทั้งหกที่รับหน้าที่ดูแลจัดการกับกรณีนิวเคลียร์ของเตหะราน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสอันดับสามของตนไปเข้าร่วมด้วย ทว่าทั้งหมดที่บังเกิดขึ้นกลับเป็นเพียง “การคุยเจ๊าะแจ๊ะ” -ซึ่งก็เป็นสิ่งที่บางคนในคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ต้องการให้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว

วอชิงตัน – การตัดสินใจของสหรัฐฯที่ส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสอันดับสามของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งคือ วิลเลียม เบิร์นส์ ไปนั่งอยู่ในการประชุมหารือระหว่าง ประธานฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ฆาเบียร์ โซลานา และผู้เจราจาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซาอีด จาลิลี เมื่อวันเสาร์(19)ที่ผ่านมา ได้รับการยกย่องชมเชยว่าเป็นการผ่าทางตันทางการทูตครั้งสำคัญ ทว่ามันออกจะเร็วเกินไปที่จะเขย่าขวดเปิดจุกแชมเปญกัน

บรรดาฉลากคำเตือนที่ปิดมาพร้อมกับการตัดสินใจคราวนี้ ตลอดจนสภาพแวดล้อมของมัน บ่งชี้ให้เห็นว่านี่อาจจะเป็นเพียง “การไม่ติดสินใจ” อีกครั้งหนึ่งของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาทางการทูตตลอดจนประเด็นอื่นๆ ในนโยบายเกี่ยวกับอิหร่าน โดยที่เขาก็ได้เคยทำเช่นนี้มาหลายครั้งแล้วในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา

เหล่าผู้แทนจากสหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, และเยอรมนี –ซึ่งเรียกขานกันว่า “อิหร่าน6”-ต่างเข้าร่วมการประชุมที่เจนีวาคราวนี้ ทว่าลู่ทางที่จะสามารถยุติภาวะชะงักงันในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกันได้ดูจะตีบตัน เมื่อจาลิลีแถลงภายหลังการหารือว่า อิหร่านจะไม่ยอมอภิปรายถกเถียงด้วย ในข้อเรียกร้องที่จะให้ระงับแผนการเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์ของตน

ในทางกลับกัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลิซซา ไรซ์ ก็กล่าวเมื่อวันจันทร์(21)ว่า อิหร่านกำลังใช้ยุทธวิถีถ่วงเวลา พร้อมกับเตือนว่าอิหร่านจะต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรลงโทษเพิ่มขึ้นอีก หากไม่ยอมปฏิบัติตามเส้นตาย 2 สัปดาห์ในการยุติโครงการนิวเคลียร์

ตอนที่มีข่าวว่าเบิร์นจะไปร่วมการประชุมวันเสาร์ด้วยนั้น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้แสดงปฏิกิริยาด้วยการพูดถึงเรื่องนี้ว่า เป็น “การเปลี่ยนแปลงถึงสองชั้นในการต่อสู้เชิงนโยบาย” คำกล่าวนี้มุ่งหมายที่จะบ่งบอกว่ามีการปรับจุดยืนแต่เดิมของคณะรัฐบาลบุชถึง 2 ประการ อันได้แก่ การยืนยันว่าจะไม่พูดจากับอิหร่านจนกว่าเตหะรานยอมหยุดพักการเพิ่มความเข้มเข้นยูเรเนียม และที่ว่าจะส่งเรื่องการพูดจากับอิหร่านซึ่งมีแต่ชวนให้เสียศักดิ์ศรีไปให้เป็นหน้าที่ของ “อิหร่าน 6”

ตัวเบิร์นส์เองผู้มีตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการการเมือง ก็เรียกการตัดสินใจของวอชิงตันครั้งนี้ว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ในนโยบายของสหรัฐฯ และคำอธิบายเช่นนี้ยังได้รับการตอกย้ำทั้งโดยไรซ์ และคนอื่นๆ ในวอชิงตัน ที่สนับสนุนเรื่องการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันทางการทูตกับอิหร่าน โดยที่พวกเขาต่างก็กระตือรือร้นจะถ่ายทอดไปให้อิหร่านได้รับรู้ถึง “ความยืดหยุ่นใหม่” ในส่วนของคณะรัฐบาลบุชเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า ไรซ์ได้พูดในวันจันทร์(21)ว่า ระหว่างการหารือเมื่อวันเสาร์ จาลิลีเอาแต่วุ่นอยู่กับการพูดเจ๊าะแจ๊ะ แทนที่จะหารือเป็นเรื่องเป็นราวในข้อเรียกร้องให้เตหะรานยกเลิกการดำเนินงานอันอ่อนไหวในด้านนิวเคลียร์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางการทูตและทางการเงิน “ดิฉันเข้าใจว่า มันเป็นการหารือที่คอยแต่จะวกเวียนเรื่อยๆ เปื่อยๆ” รายงานข่าวอ้างคำพูดของเธอ

ก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ของลอนดอน ได้เคยระบุเอาไว้ว่า การปรากฏตัวในที่ประชุมคราวนี้ของเบิร์นส์ “บ่งชี้ให้เห็นว่ากำลังมีช่องทางที่จะทำความตกลงกันได้”

ทว่าการมองเรื่องการเดินทางไปเจนีวาของเบิร์น เป็นการผ่าทางตันขั้นชี้ขาดในประเด็นเรื่องอิหร่านนั้น แน่นอนเหลือเกินว่ากำลังกลายเป็นการมองชัยชนะของไรซ์และเกตส์ที่มีเหนือรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ ในลักษณะที่ใหญ่โตเกินความเป็นจริงไปแล้ว

ทั้งโฆษกทำเนียบขาว ดานา เปอริโน และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฌอน แมคคอร์แมค ต่างพูดถึงการเข้าร่วมของเบิร์นส์ว่า เป็นข้อเสนอแบบ “ครั้งเดียว” ยุติ โดยที่แมคคอร์แมคขยายความว่า ไม่มีการวางแผนให้มีการประชุมหารือกันต่อไปอีก ยกเว้นแต่อิหร่านยอมระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียม อีกทั้งบทบาทของเบิร์นส์ในการประชุมคราวนี้ก็จะจำกัดอยู่เพียงแค่การทำหน้าที่รับฟัง

การตัดสินใจในลักษณะเช่นนี้ เห็นชัดว่าห่างไกลจากสิ่งที่ได้เคยวางแผนกันไว้โดย “อิหร่าน 6” เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว ทั้งนี้พวกเขาได้ตกลงเห็นพ้องกันอย่างไม่เป็นทางการในเรื่องข้อเสนอ “ระงับแลกเปลี่ยนกับระงับ” (freeze-to-freeze) ซึ่งมุ่งจะเปิดทางให้มีการเจรจาขั้นต้นในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานขึ้นมา โดยที่สหรัฐฯกับอิหร่านเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ การหารือขั้นต้นดังกล่าวจะใช้ช่วงเวลาประมาณ 6 สัปดาห์

แหล่งข่าววงการทูตหลายรายอธิบายว่า ข้อเสนอ “ระงับแลกเปลี่ยนกับระงับ” เป็นการกำหนดให้อิหร่านต้องไม่ติดตั้งเครื่องเร่งความเข้มข้นยูเรเนียมของตนเพิ่มเติมขึ้นไปอีก ส่วน 6 มหาอำนาจก็จะไม่ดำเนินการเพื่อเพิ่มเติมมาตรการลงโทษเตหะรานเช่นกัน ในระหว่างเวลา 6 สัปดาห์ที่พูดคุยกัน

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวในสหภาพยุโรปที่ทราบเรื่องโดยตรงเกี่ยวกับการประชุมหารือของโซลานากับรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน มาเนาเชอร์ มอตตากิ และ จาลิลี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เล่าว่าสิ่งที่โซลานาเสนอในวันนั้น มีความแตกต่างไปจากข้อเสนอ “ระงับแลกเปลี่ยนกับระงับ” ที่ทาง 6 มหาอำนาจได้เคยถกเถียงอภิปรายกันไว้

แหล่งข่าวรายนี้ไม่ได้รับมอบอำนาจให้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างข้อเสนอทั้ง 2 นี้ แต่เวลานี้ดูเหมือนจะบ่งชี้ออกมาว่าโซลานาไม่สามารถที่จะยื่นข้อเสนอ “ระงับแลกเปลี่ยนระงับ” ฉบับดั้งเดิม ในนามของ 6 มหาอำนาจทั้งหมดได้เสียแล้ว เพราะผู้เล่นรายที่สำคัญที่สุดกว่าใครเพื่อน นั่นคือสหรัฐฯ ได้คัดค้านไม่ยินยอม

เมื่อแมคคอร์แมค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯถูกผู้สื่อข่าวถามในวันที่ 3 กรกฎาคม เกี่ยวกับเรื่องข้อเสนอ “ระงับแลกเปลี่ยนกับการระงับ” ของสหภาพยุโรป รวมทั้งในประเด็นที่ข้อเสนอนี้จะเป็นที่ยอมรับของสหรัฐฯหรือไม่ ปรากฏว่าเขาหลีกเลี่ยงไม่ตอบอยู่ 2 ครั้งด้วยกัน แต่เมื่อนักข่าวผู้หนึ่งจี้ถามเกี่ยวกับเรื่องการพูดจาอย่างไม่เป็นทางการที่ระบุไว้ในข้อเสนอของอียู แมคคอร์แมคก็ตอบว่า “คุณทำเรื่องนั้นผ่านทาง อียู-3 [หมายถึงสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี] ใช่ไหมล่ะ ไม่ใช่โดย พี 5+1 [สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นทั้ง 5 + เยอรมนี ซึ่งก็คือ อิหร่าน 6]” แล้วเขาก็สำทับอีกว่า “ผ่านทางมิสเตอร์โซลานา”

เมื่อนักข่าวคนหนึ่งถามว่า เขาสามารถที่จะ “ระบุอย่างตรงไปตรงมา” ได้ไหมว่า เป็นนโยบายของบุช ที่ปฏิเสธไม่ยอมนั่งลงพูดจากับอิหร่าน เว้นแต่อิหร่านหยุดยั้งโครงการเพิ่มความเข้มข้นนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น ปรากฏว่าคราวนี้แมคคอร์แมคไม่ได้ใช้ความพยายามเพื่อทำให้คำตอบของเขากำกวมเลย โดยเขาตอบว่า “นั่นคือนโยบายของเรา”

ดังนั้น สหรัฐฯจึงกำลังยืนกรานว่าตนเองจะไม่เข้าร่วมในการพูดจาอย่างไม่เป็นทางการเป็นเวลา 6 สัปดาห์ซึ่งจะใช้ข้อเสนอ “ระงับแลกเปลี่ยนกับระงับ” เป็นพื้นฐานของการหารือ จุดยืนเช่นนี้ย่อมจะเป็นการลบล้างจุดประสงค์สำคัญที่สุดของการจัดการพูดจาเบื้องต้นแบบไม่เป็นทางการนี้ขึ้นมา ซึ่งก็คือการหาวิธีที่จะซิกแซกข้ามให้พ้นจากกำแพง ที่กำลังคอยขวางกั้นไม่ให้เกิดการเจรจากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ โดยที่อุปสรรคนั้นก็คือการเรียกร้องให้อิหร่านต้องระงับการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมอย่างสมบูรณ์นั่นเอง

ฝ่ายอิหร่านได้ตัดสินใจยอมรับสูตรการพูดจาอย่างไม่เป็นทางการของโซลานา ด้วยการที่มอตตากิได้ส่งสารฉบับหนึ่งไปถึงโซลานา และจาลิลียังโทรศัพท์ไปพูดคุยอีกในวันที่ 4 กรกฎาคม แต่เมื่อถึงตอนที่โซลานาประกาศว่าการหารือกับจาลิลีในเจนีวาจะมีขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคมนั้น เขาระมัดระวังตัวด้วยการพยายามทำให้เกิดความกำกวมเข้าไว้ ในประเด็นที่ว่ายังจะมีรัฐอื่นๆ เข้าร่วมการพูดจาคราวนี้ด้วยหรือไม่

มาถึงตอนนี้ก็เป็นที่กระจ่างแล้วว่าโซลานาจำเป็นต้องทำให้เกิดความกำกวมดังกล่าว เพราะตอนนั้นเขากำลังรอผลลัพธ์จากความพยายามของไรซ์ ที่จะทำให้บุชยอมเห็นพ้องกับสูตรของโซลานา

แต่เมื่อในท้ายที่สุดบุชเห็นพ้องให้เบิร์นส์เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 19 กรกฎาคม จริงๆ ก็กลับปรากฏว่ามีการตั้งเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งผิดไปจากที่โซลานาได้ไปเสนอไว้กับเตหะราน เงื่อนไขข้อจำกัดของทางสหรัฐฯที่จะให้เป็นการประชุมกันเพียงครั้งเดียวยุติ รวมทั้งการจำกัดบทบาทของเบิร์นส์อย่างเข้มงวด เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจคราวนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของเชนีย์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมนโยบายอิหร่านโดยภาพรวมมาตั้งแต่ปี 2005 แล้ว

ข้อจำกัดเกี่ยวกับบทบาททางการทูตของสหรัฐฯในการพูดจากับอิหร่านคราวนี้ ชวนให้หวนระลึกถึงการตัดสินใจของบุชหลายต่อหลายครั้ง ในเรื่องการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันทางการทูตกับเตหะรานในอดีต ซึ่งถ้าหากไม่ถูกขีดวงกันอย่างเข้มงวดเหลือเกิน ก็ต้องประสบความล้มเหลวไปทั้งหมด สืบเนื่องจากเชนีย์ยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของบุช

อาทิ ในเดือนมีนาคม 2006 บุชได้อนุมัติให้เปิดการพูดจากับอิหร่านว่าด้วยวิกฤตในอิรัก ซึ่งเป็นข้อเสนอจาก ซัลเมย์ คาลิลซาด เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอิรัก ไรซ์ได้ออกมาอวยชัยให้พรการหารือนี้ขณะที่มีการประกาศข่าวออกมาทีแรก ทว่าเมื่อตอนที่เธอไปถึงนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เธอก็ได้รับแจ้งว่าการพูดจาลักษณะเช่นนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับของใครคนหนึ่งในคณะรัฐบาล พอถึงเดือนพฤษภาคม เธอก็ได้รับแจ้งจากคาลิลซาดว่า “มันยังไม่ใช่เวลาอันเหมาะสมที่จะพบหารือ” กับอิหร่าน

หรือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2006 ไรซ์กำลังทำงานกับสมาชิกอื่นๆ อีก 5 รายของพันธมิตร “อิหร่าน 6” นี้ เพื่อจัดทำข้อเสนอที่มีจุดมุ่งหมายให้เป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขามีเจตนารมณ์ที่จะทำข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของอิหร่านตลอดจนผลประโยชน์ทางการเมืองและทางด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค แต่แล้วภาษาที่ใช้เพื่อจุดหมายปลายทางดังกล่าวซึ่งเสนอโดยฝ่ายยุโรป ก็ได้ถูกลบทิ้งไปเนื่องจากการยืนกรานของสหรัฐฯ อันสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของเชนีย์ที่จะทำให้แน่ใจว่า กระบวนการดังกล่าวจะต้องประสบความล้มเหลวไม่สามารถที่จะบรรลุข้อตกลงได้

ตัวบุชเองก็เคยมีท่าทีโอนเอนลังเลและกลับตาลปัตรการตัดสินใจของเขาที่ได้สั่งการไปในตอนปลายปี 2005 ให้เปิดการเจรจากับพวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวสุหนี่ในอิรัก จริงๆ แล้ว คาลิลซาดได้พบหารือกับพวกผู้นำของผู้ก่อความไม่สงบชาวสุหนี่อยู่ถึง 7 ครั้งในช่วงเวลา 6 สัปดาห์ที่เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2006 แต่แล้วบุชก็ออกคำสั่งให้ระงับการเจรจานี้ภายหลังพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสคัดค้าน ถึงแม้พวกสุหนี่ถึงขั้นยื่นร่างข้อเสนอสันติภาพมาให้พิจารณาแล้วด้วยซ้ำ

หากสหรัฐฯแสดงสัญญาณใดๆ ก็ตามว่ามีความสนใจในการเจรจาแล้ว ก็สามารถกระตุ้นส่งเสริมให้พวกผู้นำอิหร่านเต็มอกเต็มใจที่จะเข้าร่วมการพูดจามากยิ่งขึ้น แม้กระทั่งความเต็มอกเต็มใจของไรซ์ที่จะร่วมลงนามในเอกสารว่าด้วยมาตรการจูงใจอิหร่านของ 6 มหาอำนาจ ก็มีรายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ได้ทำให้รัฐมนตรีมอตตากิ ของอิหร่าน “ตื่นตะลึงอย่างเห็นได้ชัด”

แต่ก็ดังที่สิ่งต่างๆ คลี่คลายออกมาให้เห็นแล้ว การอนุมัติให้เบิร์นส์เดินทางไปเจรจาเพื่อการประชุมเพียงครั้งเดียวกับผู้เจรจาของอิหร่าน ดูจะละม้ายกับการไม่ตัดสินใจของบุชในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายอิหร่าน มากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายในขั้นพื้นฐาน

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น