เอเอฟพี/เอเจนซี - ความพยายามครั้งล่าสุดของบรรดามหาอำนาจของโลก เมื่อวันเสาร์ (19) โดยที่สหรัฐฯ ส่งตัวแทนเข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก เพื่อให้อิหร่านระงับโครงการนิวเคลียร์ของตน ยังไม่บรรลุข้อตกลงใดๆ นอกจากรอคำตอบจากอิหร่านภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่สหรัฐฯ ออกโรงเตือนอีกครั้งว่าเป็นไปได้ที่จะมี “การเผชิญหน้า” เกิดขึ้น
“การประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ แต่กระนั้นเราก็ยังไม่ได้คำตอบสำหรับคำถามต่างๆ ที่มีอยู่” ฆาเบียร์ โซลานา ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวถึงการเจรจาหารือที่นครเจนีวา เมื่อวันเสาร์ ระหว่างผู้นำสหภาพยุโรปและตัวแทนเจรจาจากอิหร่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นสำคัญนอกจากอยู่ที่บรรดามหาอำนาจของโลกเสนอแพกเกจให้ความช่วยเหลือแก่อิหร่าน เพื่อแลกกับการยุติโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานแล้ว ยังมีการเสนอสิ่งที่เรียกกันว่า “ระงับแลกเปลี่ยนกับการระงับ” นั่นคือ ฝ่ายตะวันตกจะยอมระงับไม่ผลักดันยูเอ็นออกมติลงโทษอิหร่านเพิ่มขึ้นอีก แลกเปลี่ยนกับการที่เตหะรานต้องระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมของตน
“การเจรจาต่างๆ มีความคืบหน้ามากขึ้นแน่นอน ทว่าก็ยังไม่เพียงพอ” เขากล่าว และเสริมว่า ที่ประชุมหวังว่าอิหร่านจะตอบรับโครงการให้ความช่วยเหลือล่าสุดนี้ภายใน 2 สัปดาห์
โซลานา ระบุถึงรายละเอียดของข้อเสนอต่างๆ ที่วางแบกันบนโต๊ะเจรจาเมื่อวันเสาร์ว่า ทางฝ่ายประชาคมระหว่างประเทศได้เสนอว่า “เราจะระงับมติ (ขั้นต่อไป) ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และอิหร่านก็จะต้องระงับการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ซึ่งรวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ชุดใหม่” ในการเพิ่มความเข้มข้นแร่ยูเรเนียม
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะอิหร่านจะตอบคำถามนี้...ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า” เขากล่าว
โซลานาไม่ได้ตอบคำถามอย่างชัดแจ้งว่าจะมีมาตรการลงโทษอื่นๆ ต่ออิหร่านตามมาอีกหรือไม่ แต่ภายหลังการประชุม ฌอน แม็คคอร์แม็ค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้แถลงเตือนอิหร่านให้ยอมรับโครงการความช่วยเหลือเสียดีๆ หาไม่แล้วก็จะต้องเผชิญกับ “การถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น”
“เราหวังว่าชาวอิหร่านจะเข้าใจว่าผู้นำของพวกเขาจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความร่วมมือซึ่งจะนำประโยชน์สุขมาให้แก่ทุกฝ่าย กับการเผชิญหน้าซึ่งรังแต่จะนำไปสู่การถูกโดดเดี่ยวยิ่งขึ้นกว่าเดิม”
ส่วน ซาอีด จาลิลี ตัวแทนเจรจาเรื่องนิวเคลียร์จากอิหร่าน ก็กล่าวถึงการพูดคุยในวันเสาร์ว่า เป็นไปอย่าง “สร้างสรรค์และมีความคืบหน้า” เขาเสริมอีกว่า “เราเข้าใจถึงจุดยืนร่วมกันของเราดีขึ้นกว่าเดิม”
จาลิลี ระบุถึงการประชุมว่า “มีทั้งประเด็นที่เราเห็นร่วมกันและประเด็นที่คิดเห็นต่างกันไป แต่เราตกลงที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไป” อีกทั้งเขายังเปรียบเทียบกระบวนการทางการทูตว่าเหมือนกับการทอพรมเปอร์เซียแบบประเพณี กล่าวคือ จะสำเร็จลงได้ก็ต่อเมื่อมี “ความคืบหน้าไปทีละมิลลิเมตร”
“มันเป็นงานประณีตมาก และพรมบางผืนจะเกิดจากความพยายามอันงดงามอย่างยิ่งและด้วยความหวังว่าเมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว ชิ้นงานสุดท้ายที่ออกมาจะงดงามตระการตา” จาลิลีบอก
ทั้งนี้ วิลเลียม เบิร์นส์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นเบอร์ 3 ของกระทรวงก็ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนเชิงนโยบายครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ยังยืนยันท่าทีดังที่ประกาศมาตลอดว่าจะยอมเจรจากับอิหร่านอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่ออิหร่านหยุดเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเสียก่อน และในที่ประชุมครั้งนี้เบิร์นส์ก็ไม่ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับตัวแทนของอิหร่านแต่อย่างใด