xs
xsm
sm
md
lg

“สหรัฐฯ” ยอมรับฟังข้อเสนอจาก “อิหร่าน”

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US lends Iran a listening ear
By Jim Lobe
17/08/2008

การตัดสินใจของคณะรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งไปเข้าร่วมการเจรจาหารือเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในฐานะเป็น “ผู้ฟัง” นั้น ถือเป็นเครื่องหมายของการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญ ทว่าก็อยู่ในแนวทางเดียวกันกับการพัวพันที่วอชิงตันกระทำกับเกาหลีเหนือ สำหรับความเคลื่อนไหวในเรื่องอิหร่านคราวนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นอีกก้าวหนึ่ง ในเรื่องการทำข้อตกลง “ระงับแลกเปลี่ยนกับระงับ” (freeze-for-freeze) นั่นก็คือ นานาชาติระงับการคว่ำบาตรอิหร่าน พร้อมๆ กับที่อิหร่านระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียม อย่างไรก็ตาม พวกยึดมั่นแนวทางแข็งกร้าวในสหรัฐฯจะยังไม่ยอมแพ้โดยไม่ทำการต่อสู้หรอก

วอชิงตัน – ในสงครามภายในที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ ระหว่างพวกสายเหยี่ยวและพวกมองโลกตามความเป็นจริง (realist) ในคณะรัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ เพื่อการควบคุมนโยบายการต่างประเทศนั้น พวกมองโลกตามความเป็นจริงดูเหมือนจะสามารถทำแต้มได้ชัยชนะอีกหนหนึ่ง เหนือฝ่ายปรปักษ์ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบงำบงการ

การตัดสินใจที่จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับหมายเลขสามของกระทรวงการต่างประเทศ ไปยังนครเจนีวาวันเสาร์(19)นี้ เพื่อเข้าร่วมการพูดจาหารือที่ประกอบด้วยสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีก 4 ราย (ได้แก่ ฝรั่งเศส, จีน, รัสเซีย, และสหราชอาณาจักร) บวกด้วยเยอรมนี รวมกันเป็นฝ่ายหนึ่ง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคืออิหร่าน หนึ่งในสามประเทศที่ถูกบุชตีตราว่าเป็นสมาชิกของ “อักษะแห่งปีศาจ” ต้องถือเป็นเครื่องหมายของการผ่อนคลายอย่างสำคัญในนโยบายของคณะรัฐบาลนี้ ซึ่งจวบจนกระทั่งถึงตอนนี้ มีแต่ยืนกรานมาตลอดว่าจะไม่ยอมเข้าร่วมในการพูดจาโดยตรงกับอิหร่าน จนกว่าทางการเตหะรานจะระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมของตนเท่านั้น

เมื่อรวมกับการกระทำและคำแถลงอื่นๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ ของพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะรัฐบาลนี้แล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ก็ยังเป็นการบ่งชี้อย่างแรงกล้าว่า บุชมีเจตนาที่จะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า โดยไม่ต้องเปิดฉากเข้าโจมตีทางทหารต่อชาติที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามอีกชาติหนึ่ง ถึงแม้อนาคตของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอาจจะยังคงไม่ลงตัวเมื่อถึงเวลาแห่งการจากไปของเขา

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรามีความจริงจังเพียงใด เมื่อเรากล่าวว่าเราปรารถนาที่จะพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการทูต” ดานา เปอริโน โฆษกของบุชแถลงต่อผู้สื่อข่าว ระหว่างการประกาศยืนยันว่า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายนโยบาย วิลเลียม เบิร์นส์ จะไปนั่งอยู่ในโต๊ะเดียวกันกับผู้แทนด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซาอีด จาลิลี ถึงแม้ว่าบทาทของเบิร์นส์โดยทางการแล้วจะยังคงจำกัดอยู่เพียงแค่ “การรับฟัง” ดังที่ทำเนียบขาวยืนยันก็ตามที

พวกนักวิเคราะห์กำลังเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ -ซึ่งเป็นการที่พวกมองโลกตามความเป็นจริงมีชัยชนะเหนือพวกสายเหยี่ยว ที่สมาชิกผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของสายนี้ภายในคณะรัฐบาล ย่อมต้องเป็น รองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์- กับวิวัฒนาการของนโยบายสหรัฐฯที่มีต่อโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2006 เมื่อทางการเปียงยางดำเนินการทดสอบจุดระเบิดอุปกรณ์ทางนิวเคลียร์

ไม่นานหลังจากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ คอนโดลิซซา ไรซ์ ของสหรัฐฯ ก็ได้โน้มน้าวบุชให้ยอมเลิกการต่อต้านคัดค้านการเข้าพัวพันโดยตรงกับทางการเปียงยาง เพื่อที่จะได้สามารถฟื้นชีพการเจรจา 6 ฝ่ายที่หยุดชะงักไปขึ้นมาใหม่ โดยที่เวทีเจรจาที่เปิดฉากขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี 2003 นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเกลี้ยกล่อมคิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือให้ยอมทอดทิ้งโครงการนิวเคลียร์ของเขา

ความพยายามของไรซ์ในคราวนั้น ได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกอื่นๆ ที่เข้าร่วมเวทีการเจรจานั้น โดยที่จีนและเกาหลีใต้มีบทบาทโดดเด่นที่สุด ทว่าญี่ปุ่นและรัสเซียก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้สมาชิกอื่นๆ เหล่านี้มีความเห็นมานานแล้วว่า การเจรจาหารือเช่นนี้ไม่น่าที่จะมีความคืบหน้าได้ ถ้าหากวอชิงตันไม่ยอมเข้าพัวพันกับเปียงยางโดยตรง

ถึงแม้มีเสียงคำรามของการประท้วง และเสียงตะโกนคัดค้าน “การอ่อนข้อ” จากพวกสายเหยี่ยวครั้งแล้วครั้งเล่า โดยคราวล่าที่สุดนั้นเป็นการให้เสียงโดย จอห์น โบลตัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็น ซึ่งได้เขียนคอลัมน์อันใช้ถ้อยคำมุ่งสร้างความเจ็บปวด ในชื่อเรื่องว่า “The Tragic End of Bush’s North Korea Policy” (จุดจบอันน่าเศร้าแห่งนโยบายเกาหลีเหนือของบุช) และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลในเดือนนี้ ทว่าบุชก็ยังคงยึดมั่นแน่นเหนียวกับการตัดสินใจของเขา ที่ให้ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีความยืดหยุ่นตามที่เขาร้องขอ เพื่อชุบชีวิตใหม่ให้แก่การเจรจา 6 ฝ่าย

ในทำนองเดียวกัน พวกสายเหยี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบลตัน ผู้ซึ่งถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นตัวแทนทัศนะความคิดเห็นของเชนีย์ ก็ได้ตำหนิตัดพ้ออย่างตึงตัง เกี่ยวกับวิวัฒนาการในนโยบายต่ออิหร่านของบุช นับตั้งแต่ที่ไรซ์ได้โน้มน้าวประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2006 ให้ยื่นข้อเสนอที่จะเข้าร่วมการเจรจาพหุภาคีในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ถ้าหากเตหะรานระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้น ทั้งนี้จวบจนถึงตอนนั้น บุชยังคงให้ความใส่ใจต่อพวกยึดมั่นแนวทางแข็งกร้าว ผู้ซึ่งโต้แย้งว่าการยอมเจรจาโดยตรงกับอิหร่าน จะถูกมองว่าเป็นการยอมรับความชอบธรรมของระบอบปกครองนั้น และก็จะเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายที่คัดค้านระบอบดังกล่าว

เฉกเช่นเดียวกับในกรณีเกาหลีเหนือ ในเรื่องอิหร่านนี้ ไรซ์ก็ได้รับความช่วยเหลือจากพวกพันธมิตรต่างชาติของวอชิงตัน –ซึ่งในกรณีนี้ ได้แก่ สหภาพยุโรป 3 (ฝรั่งเศส, เยอรมนี, และสหราชอาณาจักร), รัสเซีย, และจีน –ซึ่งได้หยิบยกเหตุผลขึ้นมาหว่านล้อมว่า พวกเขาคงไม่สามารถสร้างความคืบหน้าใดๆ ในการเกลี้ยกล่อมให้เตหะรานยอมระงับโครงการของตนได้ ยกเว้นแต่ว่าอย่างน้อยที่สุดสหรัฐฯก็ต้องยื่นข้อเสนอในเรื่องการเข้าร่วมการเจรจาด้วย แม้จะเป็นการเข้าร่วมอย่างมีเงื่อนไขก็ตามที

ถึงแม้จะได้ร่วมอุปถัมภ์ร่างมติคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่สหรัฐฯเป็นผู้ยื่นเสนอหลัก รวมแล้ว 2 มติด้วยกัน อันมุ่งที่จะดำเนินมาตรการลงโทษเตหะราน สำหรับการไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องให้ระงับการเพิ่มความเข้นข้นยูเรเนียม ทว่านับแต่นั้นมา คณะมหาอำนาจเดียวกันนี้ก็สามารถประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้วอชิงตันจัดทำสิ่งแลกเปลี่ยนอื่นๆ ขึ้นมาชุดหนึ่ง อาทิ การเสนอรางวัลผลตอบแทนที่ดึงดูดจูงใจอิหร่านได้มากขึ้น เพื่อบรรจุเข้าไว้ในแพกเกจสำหรับการเจรจา และเปิดทางให้การเจรจาหารือกันสามารถเริ่มต้นขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้บังเกิดผลดังที่ปรารถนาไว้ พวกเขาก็ผลักดันกันเป็นการภายในให้คณะรัฐบาลบุชปรับเปลี่ยนเงื่อนไขล่วงหน้าของตนเสียใหม่ ไปในทิศทางที่จะเปิดช่องให้อย่างน้อยที่สุด วอชิงตันก็สามารถนั่งในโต๊ะที่จะมีการเจรจาครั้งต่อๆ ไปกับอิหร่าน ว่าด้วยข้อเสนอล่าสุดที่จัดทำโดย ฆาเบียร์ โซลานา ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป และก็มีฐานะเป็นหัวหน้าผู้เจรจาของพวกเขาด้วย ข้อเสนอดังกล่าวนี้ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า “ระงับแลกเปลี่ยนกับระงับ” (freeze-for-freeze) -นานาชาติระงับการคว่ำบาตรอิหร่าน ไปพร้อมๆ กับที่อิหร่านระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียม

กระทั่งก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจะออกมายืนยันว่า เบิร์นส์จะเข้าร่วมการเจรจาหารือในวันเสาร์(19)นี้ โบลตันก็กำลังโอดครวญตำหนิอย่างขมขื่นในหน้าบทบรรณาธิการและความเห็น ของวอลล์สตรีทเจอร์นัลฉบับวันอังคาร(15) เกี่ยวกับเรื่องที่เขาและสหายสายเหยี่ยวของเขามองว่าเป็นการขายตัวอย่างชนิดวิบัติย่อยยับ โดยเขาประณาม อียู-3 และ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าดำเนินการทาง “การทูตที่บกพร่องล้มเหลว” เขาโต้แย้งว่าถ้าหากอิหร่านยังคงเดินหน้าในสิ่งที่พวกสายเหยี่ยวแน่ใจว่า คือโครงการอาวุธนิวเคลียร์ที่มุ่งเล่นงานอิสราเอลแล้ว มันก็จะเปลี่ยนแปลง “ดุลแห่งอำนาจของตะวันออกกลาง และกระทั่งของระดับโลกด้วย ... ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความหายนะพังพินาศขึ้นมา”

เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เขากล่าวอ้างนี้ โบลตันเรียกร้องให้สหรัฐฯเข้าโจมตีสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้อง “ไม่สร้างอุปสรรคขัดขวางหนทางของอิสราเอล” ถ้าหากอิสราเอลตัดสินใจที่จะดำเนินการโจมตีดังกล่าว

การที่โบลตันสามารถแสดงออกทั้งความรู้สึกเจ็บปวดและความรู้สึกแบบโลกแตกแหลกสลายได้ถึงขนาดนี้ ก่อนหน้าการประกาศเรื่องการเข้าร่วมของเบิร์นส์เสียอีก บ่งชี้ให้เห็นว่าพวกสายเหยี่ยวกำลังรู้สึกหมดหวังเกี่ยวกับความสามารถของพวกเขาที่จะส่งอิทธิพล -ยังไม่ต้องพูดถึงการกลับเข้าไปควบคุมครอบงำ- ต่อนโยบายเรื่องอิหร่านของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงสิ้นวาระดำรงตำแหน่งของบุช

จริงๆ แล้วก็เป็นดังข้อสังเกตของ แกรี ซิค ผู้ชำนาญพิเศษเรื่องอิหร่าน ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งได้เคยทำงานอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ทั้งในยุคประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด, จิมมี คาร์เตอร์, และ โรนัลด์ เรแกน ที่บอกว่าการวิเคราะห์ของโบลตันเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายสหรัฐฯ และดุลแห่งอำนาจภายในคณะรัฐบาลบุชนั้น “มีความถูกต้องแม่นยำอย่างยิ่ง”

แท้ที่จริงแล้ว ทั้งๆ ที่ยังคงมีการส่งเสียงสำทับขึงขังเหมือนอย่างที่ได้เคยทำๆ มา ด้วยการระบุว่าสำหรับนโยบายการจัดการกับอิหร่านแล้ว “ทางเลือกทุกๆ อย่างยังคงวางแบอยู่บนโต๊ะให้เลือกนำมาใช้ได้” ทว่าความเคลื่อนไหวจำนวนมากในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมากลับบ่งบอกถึงนโยบายที่โอนอ่อนมากขึ้น อาทิเช่น การเสนอแนะซึ่งดูไม่มีเสียงคัดค้านของพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงการต่างประเทศที่ไม่มีการระบุชื่อ ที่บอกว่าวอชิงตันควรเปิดสำนักงานดูแลผลประโยชน์ขึ้นในกรุงเตหะราน

ยิ่งกว่านั้น ปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการต่อการทดสอบยิงขีปนาวุธเมื่อเร็วๆ นี้ของอิหร่าน ซึ่งเป็นการออกมาส่งเสียงของตัวเบิร์นส์เอง ก็อยู่ในลักษณะที่ค่อนข้างเงียบเฉยกว่าที่คาดหมายกันมาก

แต่บางทีเรื่องที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นคำแถลงหลายต่อหลายครั้งของประธานคณะเสนาธิการทหารผสม พลเรือเอก ไมเคิล มุลเลน ภายหลังการเยือนอิสราเอลตอนปลายเดือนที่แล้ว ที่บอกว่าหากมีการโจมตีใดๆ ต่ออิหร่าน –ไม่ว่าจะโดยสหรัฐฯหรืออิสราเอลก็ตามที- จะเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพในภูมิภาค และ สร้าง “ความตึงเครียดอย่างยิ่งยวด” ต่อกำลังทหารของเขา เขายังเรียกร้องให้ดำเนิน “การสนทนาอย่างกว้างขวางกับอิหร่าน”

ในเวลาเดียวกัน รัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต เกตส์ ผู้ซึ่งแทบไม่ปิดบังความปรารถนาของเขาที่จะให้มีการพัวพันกับอิหร่าน ก็ได้สั่งให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งในสองกองเรือซึ่งลอยลำอยู่ในย่านอ่าวเปอร์เซีย เคลื่อนออกไปประจำการยังทะเลอาหรับนอกชายฝั่งปากีสถาน สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในอัฟกานิสถาน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่เพียงช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นของฝ่ายทหารที่ว่า พื้นที่พรมแดนระหว่างอัฟกานิสถานกับปากีสถานกำลังกลายเป็น “แนวรบแกนกลาง” ใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย”เท่านั้น หากยังดูเหมือนจะมีวัตถุประสงค์ในเรื่องการลดความตึงเครียดกับอิหร่านอีกด้วย

จิม โล้บ ทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของพวกอนุรักษนิยมใหม่ ในคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ www.ips.org/blog/jimlobe/


(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น