xs
xsm
sm
md
lg

G เท่าไหร่ก็ตาม ไม่รวมเอาจีนด้วยไม่ได้หรอก

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

G-whatever, China is here
By Francesco Sisci
08/07/2008

เสียงของปักกิ่งจะเป็นที่รับฟังกันในการชุมนุมที่ญี่ปุ่น ของกลุ่มที่เรียกกันว่าประเทศชั้นนำของโลก ถึงแม้จะเป็นเฉพาะในช่วงของการหารือข้างเคียงเท่านั้น กระนั้นก็ตามที ขนาดของเศรษฐกิจจีนทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งบทบาทในกิจการโลกที่กำลังทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้กลายเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะต้องให้จีนปรากฏตัวเข้าร่วมด้วย มันกำลังถึงขั้นที่มีการตั้งคำถามแสดงความข้องใจอย่างเปิดเผยว่า หากมีเฉพาะแค่กลุ่ม “จี8” เองแล้ว ยังจะมีความหมายความสำคัญอะไรจริงจังอีกหรือ

ปักกิ่ง – มันเป็นการประชุมพบปะกันที่ดูประหลาดอยู่ โดยทางการแล้ว การชุมนุมกันที่เริ่มขึ้นในวันอังคาร(8) ณ เมืองโตยาโกะ บนเกาะฮอกไกโด ทางภาคเหนือของญี่ปุ่นคราวนี้ เป็นการประชุมระดับผู้นำของ กลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี8) โดยเป็นการนำเอาระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดทั้ง 8 รายมาหารืออภิปรายกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน -ซึ่งที่สำคัญแล้วก็คือประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีเรื่องความมั่นคงและสิ่งแวดล้อมด้วย- อันเป็นการยึดมั่นกับหลักการของอเมริกันที่ว่า ขนาดใหญ่เล็กแค่ไหนนั่นแหละคือคุณสมบัติอันสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม ตรงนี้กลับกำลังกลายเป็นปริศนาอันยากแก่การอธิบาย กล่าวคือ จีนซึ่งมีฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกและกำลังเติบโตขยายตัวด้วยความเร็วสูงที่สุดในโลก กลับไม่ได้เข้าร่วมการประชุมคราวนี้อย่างเป็นทางการ ประเทศนี้เพียงได้รับเชิญให้เร่วมการอภิปรายหารือข้างเคียงในบางวาระเท่านั้น ถ้าขนาดคือคุณสมบัติอันสำคัญที่สุดจริงๆ แล้ว ทำไมจีนจึงไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมหลัก? หรือว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว?

ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาของจีนไปอยู่ที่โตยาโกะด้วย และแน่นอนว่าคำพูดของเขาจะมีผลกระทบมากเสียยิ่งกว่าผู้ที่เป็นตัวแทนจากบางประเทศที่มีขนาดเล็กๆ กว่าเขาเพื่อนในกลุ่ม “บิ๊ก” 8 ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นพี่เบิ้ม และยังประกอบไปด้วยญี่ปุ่น, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, อิตาลี, แคนาดา, และรัสเซีย

อันที่จริงแล้ว จีนกำลังเป็นปัจจัยระดับนำในการเจรจาหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ ในการถกเถียงอภิปรายอันเกี่ยวเนื่องกับมูลค่าที่ตกทรุดของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับสกุลเงินตราอื่นๆ อย่างเช่น ยูโร ทัศนะจากปักกิ่งย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายหรอกที่จะเพิกเฉยละเลย เนื่องจากจีนเวลานี้เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ หากนับกันเป็นรายประเทศ เพราะจีนกำลังถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในจำนวนที่อาจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว ที่เป็นสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ทำนองเดียวกัน ฝีก้าวของการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินหยวน ก็กำลังเป็นเรื่องกังวลสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของพวกผู้เข้าร่วมประชุมซัมมิตคราวนี้ ทุกประเทศ “บิ๊ก 8” ต่างรู้สึกวิตกต่อเรื่องการทะลักไหลเข้ามาของสินค้าออกราคาถูกจากจีน และปรารถนาที่จะเห็นการปรับค่าสูงขึ้นของเงินหยวนโดยเร็วเพื่อสกัดกั้นสินค้าออกแดนมังกร อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงอันตรายของภาวะเงินเฟ้อที่ทำท่าว่ากำลังจะบังเกิดขึ้นกับทั่วโลกแล้ว สินค้าออกจากจีนที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งย่อมจะทำให้ระดับราคาภายในของประเทศต่างๆ ต้องสูงขึ้นตามไปด้วยนั้น ก็อาจจะกลายเป็นการคุกคามต่อเศรษฐกิจของพวกประเทศผู้นำเข้าได้ ขณะเดียวกัน การที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้น อาจทำให้จีนสามารถที่จะซื้อน้ำมันและวัตถุดิบนำเข้าต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งก็จะขับดันราคาในตลาดระหว่างประเทศให้สูงขึ้นไปอีก บรรดาผู้รู้ต่างกำลังชี้กันอยู่แล้วว่า อุปสงค์ในพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนนี่เอง เป็นหนึ่งในพลังหลักๆ ที่กำลังทำให้ระดับราคาเพิ่มสูงในทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปัญหาภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมของโลก เวลานี้จีนได้กลายเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุด โดยที่ไอเสียของก๊าซชนิดนี้เองเป็นปัจจัยระดับนำที่กำลังทำให้โลกร้อนขึ้น อีกไม่นานจีนอาจจะกลายเป็นผู้สร้างมลพิษโดยรวมรายใหญ่ที่สุดของพื้นพิภพนี้ แซงหน้าสหรัฐฯไปก็ได้ เรื่องนี้ไม่ได้เล็ดรอดไปจากสายตาของญี่ปุ่น ประเทศเพื่อนบ้านแดนมังกรและเป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิต จี8 คราวนี้ ซึ่งกำลังร้องโวยวายว่า มีฝนกรดตกในประเทศของตนที่ต้นกำเนิดมาจากจีน

จีนยังกำลังมีบทบาทสำคัญในเรื่องทางด้านความมั่นคงปลอดภัยหลายๆ เรื่อง อาทิ การเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจา ซึ่งช่วยทำให้ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือที่หวั่นกันว่าจะบังเกิดขึ้นนั้น กำลังกลับเข้าอยู่ภายใต้การควบคุม และด้วยการร่วมมือกับรัสเซีย จีนยังอาจช่วยเหลือส่งอิทธิพลต่ออนาคตของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของอเมริกันในภูมิภาคแถบนี้ สายสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างแดนมังกรกับแดนอาทิตย์อุทัยได้ปรับปรุงดีขึ้นในระยะไม่กี่เดือนหลังมานี้ โดยจุดเด่นที่สุดก็คือการที่สามารถทำข้อตกลงว่าด้วยการขุดเจาะน้ำมันในทะเลระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่ยังพิพาทโต้แย้งกันก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติของแต่ละฝ่ายต่อบทเรียนจากสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ที่บังเกิดขึ้นระหว่างปี 1937-1945

การประชุมระดับผู้นำคราวนี้มีความแตกต่างจากการหารือของ จี8 ครั้งอื่นๆ ซึ่งแม้ด้วยขนาดใหญ่โตของตน แต่จีนก็ไม่ได้เข้าร่วมอย่างกระตือรือร้น ทว่าครั้งนี้ จีนจะถูกดึงให้เข้าร่วมการถกเถียงอภิปรายยิ่งกว่าคราวก่อนๆ เป็นอันมาก ไม่ว่าจะแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ด้วยลักษณะแท้จริงของประเด็นปัญหาที่หยิบยกมาหารือถกเถียงกัน มีโอกาสอย่างจริงจังทีเดียวที่การพบปะระดับทวิภาคีหลายๆ ครั้งระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ จะกลายเป็นมีความสำคัญยิ่งกว่าการถกเถียงอภิปรายแบบเต็มคณะของพวกบิ๊ก 8 เสียอีก

ในแง่หนึ่ง ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ก็ได้แสดงท่าทีให้ความสำคัญต่อจีนออกมาแล้ว เขากล่าวสิ่งที่กลายเป็นข่าวพาดหัวก่อนที่จะออกเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมซัมมิตที่โตยาโกะ ด้วยการพูดว่าเขาจะเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในกรุงปักกิ่งเดือนหน้า โดยบอกว่า การไม่เข้าร่วมโอลิมปิก จะเป็น “การสบประมาทประชาชนจีน”

ดังนั้น บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองของโลกเช่นนี้ ทำให้การหารือระดับผู้นำครั้งนี้ กลายเป็นการประชุมซัมมิต จี9 ครั้งแรกในทางพฤตินัย และนี่ก็ทำให้ต้องพิจารณากันถึงเรื่องที่ว่า จะนำเอาจีนเข้ามาอยู่ในนี้ตลอดจนในการประชุมต่อๆ ไปในอนาคตกันอย่างไร ตลอดจนองค์การนี้ควรจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

จี 8 นั้นถือกำเนิดขึ้นในสภาพของ จี 5 ตอนที่โลกยังอยู่ระหว่างสงครามเย็น โดยประกอบไปด้วยสหรัฐฯ, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, และญี่ปุ่น แล้วอีกไม่นานจึงได้รวมเอาอิตาลีและแคนาดาเข้ามา โดยที่ระเบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองนี้ก็ไม่ได้เล็กกว่าอะไรนักกับประเทศที่อยู่ในแถวล่างๆ ของจี5 หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียต รัสเซียซึ่งแม้อ่อนแอในทางเศรษฐกิจทว่าเข้มแข็งทางการทหารโดยที่มีขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวนนับพันๆ ลูก ก็ได้รับการยอมรับเข้าสู่สโมสรแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันแสดงถึงไมตรีจิตมิตรภาพและการยอมรับให้ได้เลื่อนฐานะทางสังคม –จากการเป็น “คนนอกคอก” ก็ขยับเข้ามาเป็น “หนึ่งในพวกเรา”

สำหรับจีนนั้นเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในสภาพย่ำเท้าอยู่กับที่ แม้กระหายที่ได้รับการเลื่อนฐานะเข้าสู่สโมสรระดับพิเศษสุดเช่นนี้ แต่จีนก็ไม่ประสงค์ที่จะสูญเสียสถานะความเป็น “เศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟูขึ้นมาใหม่” ของตนไป โดยการคงสถานะเช่นนี้ไว้ นอกเหนือจากผลประโยชน์อื่นๆ แล้ว ยังทำให้จีนสามารถที่จะถอยห่างตัวเองจากนโยบายบางประการที่ดำเนินการกันอยู่ในจี8 อีกทั้งช่วยให้แดนมังกรยังคงสามารถควบคุมให้มูลค่าของเงินหยวนอยู่ในระดับที่ตนเองปรารถนา โดยต้องไม่ลืมว่าจนถึงเวลานี้เงินหยวนก็ยังคงเป็นสกุลเงินตราที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินตราอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่

ในที่ประชุมซัมมิต ณ โตยาโกะ แน่นอนเหลือเกินว่านิยายของจีนเรื่องนี้จะต้องจบสิ้นลงไป และจีนตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำอื่นๆ อีก 8 รายก็จะต้องรับมือกับผลต่อเนื่องที่จะเกิดตามมา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่กำลังตั้งเค้าอยู่ในตอนนี้และน่าจะมีขนาดใหญ่โตกว้างขวางกว่านี้เสียอีก ก็คือเรื่องอนาคตขององค์การอย่าง จี8 นี่เอง

ราคาน้ำมันที่พุ่งลิ่วและอุปสงค์ความต้องการใช้พลังงานของทั่วโลกที่กำลังขยายตัว ท่ามกลางความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันที่จะมีออกมาสนองในอนาคตระยะยาวไกล ย่อมจะเป็นความวิตกกังวลสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ไปร่วมการประชุมระดับผู้นำคราวนี้ ทว่าซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก กลับไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ในกลุ่มนี้เลย เฉกเช่นเดียวกับอินเดีย ซึ่งได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจชั้นนำรายหนึ่งของโลกในช่วงหลายๆ ทศวรรษต่อจากนี้ไป

กระนั้นก็ตาม หากจะแก้ปัญหาด้วยการขยายจี8ออกไป มันก็อาจทำให้ต้องสูญเสียความสัมพันธ์สนิทสนมกันแบบส่วนตัว ซึ่งดำรงอยู่เมื่อเป็นการจับกลุ่มกันแบบกลุ่มเล็กๆ และก็เป็นคุณสมบัติพิเศษสำคัญประการหนึ่งขององค์การนี้เรื่อยมา การอภิปรายถกเถียงกันแบบโต๊ะกลมโดยที่มีผู้เข้าร่วมถึง 8 รายก็นับว่ายากเย็นเต็มทีแล้ว ทว่าบรรยากาศของความไม่เป็นทางการก็ยังอาจที่จะรักษากันเอาไว้ได้ แต่ถ้าหากกลุ่มขยายตัวใหญ่กว่านี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องกลายเป็นการรวมตัวแบบเป็นทางการมากขึ้นและเรียกร้องให้มีสภาพแวดล้อมและมีสิ่งสนับสนุนที่ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม

บางที อาจจำเป็นต้องเสนอแนะการรวมกลุ่มที่แตกต่างออกไปเลย ไม่ว่าจะแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตามที ดังที่เวลานี้ก็มีการพูดคุยกันแล้วในเรื่องการจัดตั้งกลุ่ม “แปซิฟิก3” (Pacific 3 หรือ P3) อันประกอบด้วยสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และจีน

การนำเอา พี3 เข้ามาแทนที่ จี9 – จี11 ในอนาคต อาจดูเป็นเรื่องเสี่ยงไม่ใช่น้อย โดยที่เห็นชัดว่ามันอาจกลายเป็นการผลักดันให้พวกประเทศยุโรปหันไปใกล้ชิดกับรัสเซียมากเกินไป ทว่าถ้าหากมีการจัดตั้ง แปซิฟิก 3 ขึ้นมาได้จริงๆ –และถ้าหากประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจจำนวนมากมีการหารือตกลงกันก่อนในเวทีแห่งนี้ – เราก็จะได้ทราบกันอย่างชัดเจนไปเลยว่า ขนาดความใหญ่ความเล็กเป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญที่สุด ยุโรปนั้นกำลังถูกจำกัดและถูกบีบรัดด้วยการใช้เงินตราสกุลยูโร นโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจของยุโรปส่วนใหญ่แล้วกำลังถูกบงการด้วยมนตราแห่งภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำและค่าเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยเหตุนี้ เสียงของยุโรปจึงกลายเป็นเรื่องที่สามารถคาดทายได้อย่างง่ายดายอยู่แล้ว

ทว่ามันจะไม่เป็นเช่นนั้นเลยสำหรับสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และจีน ทั้งสามประเทศนี้สามารถที่จะถกเถียงอภิปรายกันในประเด็นปัญหาต่างๆ และทำความตกลงทำความเข้าใจกันในเรื่องที่มีความอ่อนไหวกันได้ มันอาจจะดีกว่า จี5 แบบที่พวกผู้ก่อตั้งวาดภาพจินตนาการเอาไว้ในตอนแรกเริ่มด้วยซ้ำไป เมื่อมีทั้ง 3 ประเทศนี้เรียงรายเข้าที่เข้าทางแล้ว ใครเลยจะยังต้องการ จี-ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเท่าไหร่ก็ตาม กันอีก

นี่อาจจะเป็นมรดกของการประชุมซัมมิตโตยาโกะ มันอาจจะเป็นการเคลื่อนย้ายโลกออกจาก จี9 โดยพฤตินัย ไปสู่ พี3 ที่เป็นจริง –โดยที่อาจจะมีการขยิบตาทักทายกับทางรัสเซีย เนื่องจากขีปนาวุธของประเทศนั้นตลอดจนทรัพยากรน้ำมันและแก๊สของประเทศนั้น

ในกรณีเช่นนี้ ก็จะยิ่งมีเครื่องหมายคำถามอันใหญ่โตขึ้นอีกเกี่ยวกับอนาคตของสหภาพยุโรป ตลอดจนของชาติสมาชิกแต่ละราย ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเพราะเหตุใดก็ตามที ต่างกำลังอยู่ในอาการเกยตื้นอยู่บนเส้นทางซึ่งมุ่งสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียของหนังสือพิมพ์ ลา สตัมปา ของอิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น