เอเอฟพี - วงสนทนารอบๆ ตัว ฟาติมา ราชิด อัลเฮไมดี ดูราวกับวงสนทนาของพวกนักการทูต บุตรสาวของเธอใช้ภาษาอาหรับ คุณหมอพูดไทยและอังกฤษ ส่วนล่ามนั้นใช้ทั้งสามภาษา
อัลเฮไมดียิ้มแย้มอย่างสงบ เธอสวมชุดคนไข้สีน้ำเงินและนอนคลุมผ้าห่มอยู่ ส่วนผ้าที่โพกศีรษะเธอนั้นเป็นสีดำ
"เสร็จแล้วค่ะ มาม่า" คุณหมอพูดกับเธอด้วยภาษาอังกฤษ ในขณะที่ดึงเครื่องหูฟังของแพทย์ออกมาจากตัวเธอ
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่อัลเฮไมดีเดินทางจากกาตาร์มายังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เธอจึงคุ้นเคยกับการตรวจดังกล่าวเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯหลายๆ แห่งก็เริ่มคุ้นเคยกับลูกค้าจากตะวันออกกลางแบบอัลเฮไมดี
ช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวอาหรับรู้สึกว่าตนได้รับการต้อนรับจากโลกตะวันตกน้อยลงนั้น มีชาวตะวันออกกลางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยในปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางถึง 453,000 คน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 12 เปอร์เซ็นต์จากปี 2006
อย่างไรก็ตาม พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้มาเที่ยวชมชายหาด หากมารับการรักษาพยาบาล ดังจะเห็นได้จากเฉพาะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แห่งเดียว ก็มีคนไข้จากตะวันออกกลางถึง 90,000 ราย เพิ่มจากปี 2000 ถึงเก้าเท่าตัว ตลาดส่วนนี้จึงการเติบโตเร็วที่สุดในธุรกิจการรักษาพยาบาลลูกค้าต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ได้จัดฝึกอบรมให้กับโรงพยาบาลในสังกัด 50 แห่งในเรื่องเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยของตะวันออกกลาง และความเข้าใจในเชิงวัฒนธรรมด้วย
"เราถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์" นายแพทย์ ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เจ้าหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุขของไทยบอก "ประชาชน (จากตะวันออกกลาง) สามารถได้รับการดูแลที่มีคุณภาพดี และเราก็มีรายได้เพิ่ม"
ธุรกิจโรงพยาบาลของไทยเสนอบริการในราคาที่ถูกกว่าสหรัฐฯ แต่มีคุณภาพสูงกว่าหลายประเทศ อย่างกรณีการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกนั้น ค่าใช้จ่ายในสหรัฐฯ จะตกราว 35,000 ดอลลาร์ ในอินเดียอยู่ที่ราว 6,500 ดอลลาร์ ส่วนในไทยอยู่ที่ราว 12,000 ดอลลาร์
นายแพทย์บริหาร สุวรรณดี ซึ่งเป็นคนไทยมุสลิมที่ผ่านการศึกษาด้านการแพทย์จากอียิปต์ เป็นผู้ดูแลงานรับรองลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลางของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาล กาแฟอาหรับ ทีมนักแปลภาษาอาหรับ 40 คน อิหม่ามผู้นำสวดที่อยู่ประจำโรงพยาบาล รวมทั้งห้องละหมาดขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อปีที่แล้ว
"เราต้องดูแลพวกเขาทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและในด้านสังคม" เขาเล่า
สำหรับอัลเฮไมดีซึ่งมีลูก 10 คน กับหลานและเหลนอีกเกินสิบนั้น เธอมีอาการหลังหักจากการหกล้มเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
"แม่ไปรักษากับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งจนกระทั่งขยับตัวไม่ได้เลย" โลลวา ลูกสาวของเธอเล่า
"พวกหมอบอกว่าแม่แก่แล้ว ผ่าตัดไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่พอมารักษาที่นี่ หมอพูดคนละอย่างกันเลย มันก็เลยเป็นความหวังสุดท้ายของแม่"
อัลเฮไมดีนอนเปลหามมาเข้าพักในห้องสวีทของโรงพยาบาล โดยมีสำนักงานประกันสุขภาพสากลของกาตาร์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และเป็นครั้งแรกที่เธอเดินทางออกนอกประเทศด้วย
หลังเข้ารับการผ่าตัดนาน 4 ชั่วโมง ทีมแพทย์บอกว่าการผ่าตัดประสบผลสำเร็จ 70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้อัลเฮไมดีขยับร่างกายได้แล้ว และสามารถเดินเป็นช่วงสั้นๆ ได้ด้วย
"ฉันเจ็บปวดมากจนไม่รู้ว่าใครบางเยี่ยมบ้าง ฉันบอกหมอให้ช่วยผ่าหลังฉันทิ้งไปที" อัลเฮไมดีเล่าย้อนเหตุการณ์ "แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกอยากรักษาตัวที่นี่ให้ความเจ็บปวดทั้งหมดหายไป"
ครั้งนี้ อัลเฮไมดีตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเพื่อลดแรงกดที่บริเวณช่องท้องและเธออาจจะผ่าตัดเข่าเพิ่มเติมด้วย และแม้ตลอดทั้ง 3 ครั้งที่มากรุงเทพฯ เธอจะอยู่แต่ในโรงพยาบาลเท่านั้น เธอก็คิดจะซื้อบ้านพักสักแห่งที่นี่ และทุกครั้งที่รู้ว่ามีใครเจ็บป่วย เธอก็จะแนะนำเสมอว่า "ไปรักษาที่กรุงเทพฯ ซิ"