xs
xsm
sm
md
lg

คำมั่นของบุชเรื่องฐานทัพอิรักเป็นแค่เล่ห์กล

เผยแพร่:   โดย: แกเรธ พอร์เตอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bush pledges on Iraq bases a ruse
By Gareth Porter
13/06/2008

วอชิงตันพยายามใช้ความระมัดระวังอย่างเหลือเกิน เพื่อย้ำเน้นให้เห็นว่าตนเองไม่ได้เสาะแสวงหาสิทธิที่จะจัดตั้ง “ฐานทัพถาวร” ขึ้นในอิรัก จากการทำข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ที่วอชิงตันกำลังเจรจาอยู่กับฝ่ายแบกแดด โดยที่ข้อตกลงดังกล่าวนี้จะเป็นเงื่อนไขทางกฎหมายซึ่งทำให้ทหารสหรัฐฯยังคงอยู่ในอิรักต่อไปได้ ภายหลังอำนาจมอบหมายที่ได้รับจากสหประชาชาติหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม คำพูดทั้งหลายของคณะรัฐบาลบุช แท้ที่จริงเป็นเพียงม่านควันทางกฎหมายเพื่อปกปิดอำพรางเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ ที่ต้องการได้ทั้งการเข้าใช้บรรดาฐานทัพในอิรักต่อไปเป็นเวลายาวนาน และได้ทั้งเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ในการใช้ฐานทัพเหล่านี้เพื่อเปิดยุทธการเล่นงานอิหร่านและซีเรีย

วอชิงตัน –คณะรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ให้คำมั่นสัญญาหลักๆ เกี่ยวกับเรื่องฐานทัพทางทหารที่กำลังเจรจาอยู่กับรัฐบาลอิรักเอาไว้รวม 2 ประการ เวลานี้คำมั่นสัญญาดังกล่าวกำลังถูกเปิดโปงให้เห็นแล้วว่ าเป็นเพียงเล่ห์กลแห่งการเลือกใช้ถ้อยคำภาษาอย่างระมัดระวัง ด้วยจุดประสงค์ที่จะปกปิดอำพรางความมุ่งหมายแท้จริงในการเจรจาของสหรัฐฯ จากพลเมืองของสหรัฐฯเองและจากชาวอิรัก ผู้ซึ่งจะต้องคัดค้านแน่นอนหากมีการทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัดเจน

การเจรจาที่กล่าวถึงนี้ มุ่งหมายให้เป็นการจัดทำเงื่อนไขต่างๆ ทางกฎหมาย เพื่อเอื้ออำนวยให้กองทหารสหรัฐฯยังคงประจำอยู่ในอิรักได้ต่อไป ภายหลังอำนาจมอบหมายที่ได้รับจากสหประชาชาติหมดอายุลงในสิ้นปีนี้

แต่จากคำแถลงหลายต่อหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ของชาวอิรัก ที่ทราบข้อเรียกร้องต่างๆ ของสหรัฐฯในการเจรจาว่าด้วยข้อตกลง “กรอบโครงทางยุทธศาสตร์” สหรัฐฯ-อิรัก ฉบับนี้ กลับกลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า คำสัญญาของคณะรัฐบาลบุชที่ว่า จะไม่มุ่งแสวงหา “ฐานทัพถาวร” ตลอดจน จะไม่ใช้ฐานทัพในอิรักเพื่อโจมตีอิหร่านหรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการจงใจสร้างความเข้าใจผิด ถ้อยคำที่คณะรัฐบาลบุชใช้ ดูจะเป็นการตั้งใจเลือกสรรมาเพื่อปิดบังอำพรางเจตนารมณ์ของพวกเขา ที่ต้องการได้ทั้งความสามารถในการเข้าใช้บรรดาฐานทัพในอิรักต่อไปเป็นเวลาอีกยาวนาน และทั้งเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ในการใช้ฐานทัพเหล่านี้เพื่อเปิดยุทธการต่อสู้กับอิหร่านและซีเรีย

ตอนที่รัฐมนตรีกลาโหม โรเบิร์ต เกตส์ แจ้งให้สาธารณชนทราบเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯในการเจรจาคราวนี้เมื่อวันที่ 24 มกราคม เขาได้ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะมี “ฐานทัพถาวร” ในอิรัก เกตส์กล่าวว่า ข้อตกลงสหรัฐฯ-อิรัก “จะไม่เกี่ยวข้อง -เราไม่ได้มีความสนใจในเรื่องการมีฐานทัพถาวร” ในวันเดียวกันนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ทอม เคซีย์ เมื่อถูกสอบถามว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีการอ้างอิงใดๆ ถึง “ฐานทัพถาวร” หรือไม่ เขาก็ตอบว่า “เราไม่ได้มุ่งแสวงหาการมีฐานทัพถาวรในอิรัก นั่นเป็นเรื่องของนโยบายที่ชัดเจนมาได้พักหนึ่งแล้ว”

เคซีย์ยังบอกต่อไปว่า “ไม่ครับ ข้อตกลงนี้ไม่ใช่เป็นข้อตกลงในเรื่องการตั้งฐานทัพ”

ระหว่างการให้ปากคำต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 เมษายน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอิรัก ไรอัน คร็อกเกอร์ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ “จะไม่ใช่การจัดตั้งฐานทัพถาวรขึ้นในอิรัก และเราคาดการณ์ว่าข้อตกลงนี้จะไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้”

ยิ่งกว่านั้น การยืนยันมั่นเหมาะต่อสาธารณชนเหล่านี้ ยังเป็นไปในแนวเดียวกับถ้อยคำภาษาจริงๆที่ใช้อยู่ในร่างข้อตกลงของฝ่ายสหรัฐฯซึ่งยื่นเสนอต่อคณะผู้เจรจาฝ่ายอิรักอีกด้วย ร่างฉบับลงวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งถูกปล่อยรั่วไหลไปถึง เชมัส มิลเน แห่งหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน และถูกนำมารายงานเอาไว้ในวันที่ 8 เมษายนนั้น มีข้อความที่ระบุไว้ว่า สหรัฐฯ “ไม่ได้ปรารถนาที่จะมีฐานทัพถาวรหรือการปรากฏตัวทางทหารอย่างถาวรในอิรัก”

คำมั่นสัญญาเช่นนี้ ซึ่งเมื่อมองดูในตอนแรกเหมือนกับหนักแน่นชัดเจนมากนั้น แท้ที่จริงแล้วกลับประกอบด้วยสิ่งที่จงใจให้กำกวมคลุมเครือเอาไว้อย่างน้อยถึง 2 ชั้นด้วยกัน ชั้นแรกก็คือ คำว่า “ฐานทัพถาวรทางทหาร” (permanent military base) ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นถ้อยคำภาษากฎหมายที่มีสาระสำคัญนั้น ในทางเป็นจริงแล้วกลับเป็นถ้อยคำที่ชักนำให้เข้าใจผิดกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อ เจมส์ เว็บบ์ วุฒิสมาชิกของทางพรรคเดโมแครต ถาม เดวิด แซตเทอร์ฟิวส์ แห่งกระทรวงการต่างประเทศว่า “อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าฐานทัพถาวร” แซตเทอร์ฟิวส์พยายามหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามนี้ แต่ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหม แมรี เบธ ลอง ดูจะตอบสนองในเรื่องนี้มากกว่า เธอบอกว่า “ดิฉันได้พิจารณาเรื่องนี้มาแล้ว เท่าที่ทางกระทรวงของเราเกี่ยวข้องด้วยนั้น เราไม่ได้มีคำจำกัดความในระดับทั่วโลก หรือแม้แต่ในระดับกระทรวง ของคำว่า ฐานทัพถาวร”

เว็บบ์จึงตั้งข้อสังเกตว่า “มันไม่ได้หมายถึงอะไรจริงๆ หรอก” ซึ่งลองก็ตอบว่า “ใช่ค่ะ ท่านวุฒิสมาชิก ท่านพูดถูก มันไม่ได้หมายถึงอะไรจริงๆ” เธอยังกล่าวต่อไปว่า “นักกฎหมายส่วนใหญ่...จะพูดว่า คำว่า ‘ถาวร’ บางทีก็เป็นการอ้างอิงถึงความรู้สึกนึกคิดที่ผ่านการใคร่ครวญพิจารณาออกมา จากการใช้คำๆ นี้เสียมากกว่า”

พวกเจ้าหน้าที่อิรักนั้น คิดกันออกมาได้อย่างรวดเร็วว่า ถ้อยคำภาษาในร่างข้อตกลงที่พูดถึงเรื่องการเข้าใช้ฐานทัพทางทหารนั้น จุดที่สำคัญอย่างแท้จริง อยู่ที่มันไม่ได้ระบุถึงเรื่องข้อจำกัดด้านเวลาในการเข้าใช้ฐานทัพของอิรัก ตลอดจนไม่ได้ระบุข้อจำกัดใดๆ ในการที่สหรัฐฯจะ “ดำเนินปฏิบัติการทางทหารในอิรัก และในการกักกันบุคคลเมื่อมีความจำเป็นด้วยเหตุผลอันสำคัญยิ่งทางด้านความมั่นคงปลอดภัย”

อำนาจในการปฏิบัติการดังกล่าว มีการระบุว่าเป็นอำนาจ “ชั่วคราว” แต่เนื่องจากไม่ได้มีการพูดถึงข้อจำกัดด้านเวลาใดๆ เอาไว้เลย ทำให้ถ้อยคำที่ดูเหมือนจะเป็นการย้ำยืนยันความชั่วคราวดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปเช่นเดียวกัน

การปฏิเสธไม่ต้องการ “ฐานทัพถาวร” ของคณะรัฐบาลบุช จึงเป็นเล่ห์กลที่จะหลอกล่อพวกคณะกรรมาธิการชุดสำคัญๆ ของรัฐสภาสหรัฐฯในประเด็นปัญหาซึ่งจะสามารถเรียกระดมชาวพรรคเดโมแครตที่เป็นพวกวิพากษ์วิจารณ์สงครามอิรักได้เป็นจำนวนมาก และก็เป็นพวกซึ่งได้ใช้คำว่าฐานทัพถาวรนี้กันอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก ในเวลาเรียกร้องให้มีคำมั่นสัญญาผูกพันทางกฎหมายในประเด็นนี้

นอกจากนั้น คณะรัฐบาลบุชยังใช้ภาษากำกวมคลุมเครือเช่นนี้ เพื่อช่วยรัฐบาลอิรักในการขายข้อตกลงนี้แก่พวกนักชาตินิยมชาวอิรัก ซึ่งคัดค้านการให้สหรัฐฯตั้งฐานทัพระยะยาวในประเทศของพวกเขา ด้วยเหตุนี้เอง ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของอิรัก โมวัฟฟัค อัลรูบายี ก็ได้ประกาศระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า “ประชาชนอิรักปฏิเสธไม่ยอมให้มีฐานทัพถาวรในอิรัก” และยืนยันให้ความมั่นใจแก่ชาวอิรักว่า รัฐบาลของเขาจะไม่ยอมรับฐานทัพดังกล่าวนี้ “ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด และจะไม่ยอมอนุมัติเรื่องนี้ด้วย เฉกเช่นเดียวกับที่ผมเชื่อว่าสภาผู้แทนประชาชนก็จะไม่ยอมรับเช่นกัน”

อย่างไรก็ดี ดังที่แหล่งข่าวชาวอิรักหลายรายเวลานี้ได้เปิดเผยแก่พวกผู้สื่อข่าวชาวตะวันตกแล้ว นั่นคือสหรัฐฯกำลังเสนอที่จะให้ตนเองสามารถเข้าใช้ฐานทัพทางทหารหลายสิบแห่งโดยที่ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา แม้ฐานทัพเหล่านี้ในทางเทคนิคจะเป็นฐานทัพของอิรัก ทว่าในทางเป็นจริงแล้วจะอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างสมบูรณ์ของสหรัฐฯ

เล่ห์กลในการเปลี่ยนแปลงอำนาจการควบคุมตามกฎหมายของฐานทัพสหรัฐฯให้ไปเป็นของระบอบปกครองบริวารนั้น เป็นสิ่งที่คณะรัฐบาลสหรัฐฯในอดีตได้เคยใช้กันมาอย่างน้อย 2 โอกาส เพื่อเป็นการเล่นกลหลบเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายและปัญหาทางการเมืองซึ่งพ่วงมากับการคงสิทธิที่จะมีฐานทัพสหรัฐฯไว้ต่อไป

ในข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีสปี 1973 เพื่อยุติสงครามเวียดนาม สหรัฐฯให้สัญญาที่จะยุบเลิกฐานทัพทางทหารของตนทั้งหมดที่มีอยู่ในเวียดนามใต้ภายในเวลา 60 วัน แต่ปรากฏว่าสหรัฐฯได้แอบถ่ายโอนสิทธิในที่ดินของฐานทัพตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหลายให้แก่รัฐบาลเวียดนามใต้ อย่างลับๆ เรียบร้อยแล้ว และจากนั้นก็จัดแจงให้ฐานทัพเหล่านี้ “ถูกยืมกลับ” มาให้แก่สหรัฐฯ ครั้นแล้วพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯก็อ้างว่า ไม่มีฐานทัพสหรัฐฯใดๆ จะให้ยุบเลิกแล้ว

อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อปี 1978 ที่ฟิลิปปินส์ เนื่องจากแรงต่อต้านคัดค้านของนักชาตินิยมต่อฐานทัพทางทหารของสหรัฐฯซึ่งมีอยู่ในประเทศนั้น สหรัฐฯก็เลยให้ “อำนาจอธิปไตย” ในนาม เหนือฐานทัพเหล่านั้นแก่ทางฟิลิปปินส์ไปในปีดังกล่าว และตั้งนายทหารฟิลิปปินส์ขึ้นเป็นผู้บังคับการในนามของฐานทัพแต่ละแห่ง ขณะเดียวกับที่ยังคงยืนยันใน “อำนาจการบังคับบัญชาและการควบคุมอย่างมีประสิทธิผล” ของสหรัฐฯ ตลอดจน “การปฏิบัติการทางทหารอย่างไร้การขัดขวางรบกวน” ของสหรัฐฯ

อีกประเด็นหนึ่งที่คณะรัฐบาลบุชมุ่งใช้ถ้อยคำภาษาในร่างข้อตกลงของพวกเขา อย่างชนิดชวนให้เข้าใจไปว่าเป็นการที่พวกเขายอมอ่อนข้อให้อย่างสำคัญด้วยเห็นแก่ความอ่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายอิรัก ทว่าแท้ที่จริงแล้วกลับยังคงรักษาเสรีภาพในการลงมือกระทำการต่างๆ ของพวกเขาเอาไว้ ก็คือ เรื่องการใช้ฐานทัพในอิรักของสหรัฐฯเพื่อดำเนินปฏิบัติการทางทหารต่อประเทศอื่น เรื่องดังกล่าวนี้ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า คือเส้นขีดแบ่งแดนอันตรายสำหรับระบอบปกครองนูริ อัลมาลิกี และพันธมิตรของพวกเขา ซึ่งก็คืออิหร่าน อาลี อัลดับบัฟ โฆษกของนายกรัฐมนตรีอัลมาลิกี กล่าวยืนยันตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า กองทัพสหรัฐฯจะต้อง “ไม่ถูกใช้เพื่อต่อต้านเพื่อนบ้าน(ของอิรัก)” เขาบอกว่า เพราะถ้าทำอย่างนั้น ก็จะเท่ากับทำให้ความมั่นคงปลอดภัยของอิรักตกอยู่ในอันตราย

ดับบัฟกล่าวด้วยว่า นี่คือหลักการข้อหนึ่งที่คณะผู้เจรจาของอิรักจะต้องเรียกร้องให้บรรจุเอาไว้ในข้อตกลงฉบับนี้ด้วย

ปรากฏว่าร่างที่นำออกเผยแพร่ในวันที่ 8 มีนาคม มีข้อความที่กล่าวว่า สหรฐฯ “มิได้มุ่งหวังที่จะใช้ดินแดนของอิรักเป็นฐานสำหรับปฏิบัติการในทางรุกรานต่อรัฐอื่นๆ” ทว่าคำมั่นสัญญาเช่นนี้กลับเต็มไปด้วยช่องโหว่ซึ่งจะทำให้คณะรัฐบาลบุชสามารถหาเหตุผลโต้แย้งได้ว่า พวกเขากำลังตอบโต้ในทางป้องกัน (ไม่ใช่ในทางรุกราน) ภัยคุกคามจากอิหร่านที่มุ่งต่อทหารอเมริกันหรือผลประโยชน์อื่นๆ ของอเมริกัน

พวกผู้เจรจาของอิรักตระหนักเป็นอย่างดีถึงลักษณะอันกำกวมเคลือบแฝงของถ้อยคำภาษาที่สหรัฐฯเสนอขึ้นมา และข้อเรียกร้องของสหรัฐฯที่จะเป็นผู้ควบคุมเหนือน่านฟ้าของอิรักในระดับความสูงต่ำกว่า 29,000 ฟุตลงมา ดังที่รายงานโดยเจ้าหน้าที่อิรักมากกว่าหนึ่งรายในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยิ่งเป็นการเติมเชื้อโหมกระพือความระแวงสงสัยต่อเจตนารมณ์ของคณะรัฐบาลบุช

กัลฟ์นิวส์ ได้อ้าง “แหล่งข่าวทหารอาวุโสชาวอิรักหลายราย” กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้สหรัฐฯ “มีสิทธิ... ที่จะดำเนินการโจมตี จากภายในดินแดนของอิรัก ต่อประเทศใดๆ ก็ตามที่พวกเขาพิจารณาเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของพวกเขา” การตีความในลักษณะเช่นนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ร่างข้อตกลงไม่ได้มีถ้อยคำภาษาตอนใดซึ่งระบุอย่างเฉพาะเจาะจง ปฏิเสธไม่ให้สหรัฐฯดำเนินปฏิบัติการทางทหาร หากไม่ได้รับคำยินยอมจากรัฐบาลอิรักก่อน

อย่างไรก็ดี เวลานี้ดูจะกลายเป็นว่า ความทะเยอทะยานของคณะรัฐบาลบุชในการจัดทำกรอบโครงแม่บททางกฎหมาย เพื่อทำให้การยึดครองอิรักเป็นเรื่องชอบธรรมถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนหน้าที่วาระดำรงตำแหน่งของบุชจะหมดลงไปนั้น จะต้องประสบความผิดหวัง เนื่องจากเผชิญแรงต่อต้านอย่างรุนแรง จากพวกพรรคการเมืองของชาวชิอะห์นิยมอิหร่าน ซึ่งเป็นฐานสนับสนุนที่ระบอบปกครองมาลิกีต้องพึ่งพิงอาศัยอยู่ รัฐบาลอิรักจึงกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันอันแรงกล้าจากพวกสมาชิกรัฐสภาที่สังกัดพรรคดาวะของมาลิกีเอง และพรรคสภาอิสลามอิรักสูงสุด ที่มุ่งหมายจะบ่อนทำลายข้อตกลงฉบับนี้ แล้วรอคอยจนกว่าสหรัฐฯจะได้คณะรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อจะได้เจรจากันในเรื่องฐานะและบทบาทของกองทัพสหรัฐฯในอิรักกันต่อไป

แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ซึ่งชำนาญในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯเป็นพิเศษ หนังสือฉบับปกอ่อนของหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ที่มีชื่อว่า Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006

( (สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น