xs
xsm
sm
md
lg

จับตา O5 ชิงการนำทิศทางเศรษฐกิจโลกจาก G7

เผยแพร่:   โดย: แบร์รี่ เฮอร์มัน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

G7 loses grip on global policy to O5
By Barry Herman
08/05/2008

ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกทั้ง 7 หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า จี7 เคยมีอิทธิพลมหาศาลในอันที่จะกำหนดทิศทางร่วมให้แก่ ระบบพลังเศรษฐกิจของโลก 3 ขั้ว อันได้แก่ องค์การการค้าโลก ดับเบิลยูทีโอ) กับ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก แต่สภาพการณ์ปัจจุบันส่อเค้าว่าอิทธิพลทำนองนี้จะไม่มีอีกต่อไป ในเมื่อกลุ่มชายขอบทั้ง 5 หรือ Outreach5 (ซึ่งเคยเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ด้วยขนาดเศรษฐกิจอันมหึมา จึงได้มีโอกาสแสดงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจให้เป็นที่ประจักษ์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง) สามารถรุกคืบเข้าไปช่วงชิงการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกได้อย่างมหาศาล หนำซ้ำ ยังแสดงท่าทีว่าจะไม่ยอมคืนเวทีความเป็นผู้นำให้แก่พวก จี7 ไปง่ายๆ

ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่ในการบริหารจัดการของสถาบันระดับโลก 3 รายคือ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ ดับเบิลยูทีโอ) กับ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก(World Bank) แต่ละสถาบันเหล่านี้ต่างมีจุดเด่นจุดแข็งเฉพาะตัว พร้อมกับมีการดำเนินงานโดยสถาบันผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจำนวนหนึ่ง อาทิ ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ(Bank for International Settlements หรือบีไอเอส) กับ องค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(Organization for Economic Cooperation and Development หรือโออีซีดี)

แต่ละสถาบันจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน แต่ไม่มีสถาบันรายใดที่รับหน้าที่สร้างทิศทางร่วมให้แก่นโยบายของแต่ละรายซึ่งมีนโยบายที่หลากหลายแตกต่างกัน สหประชาชาติก็ไม่ทำหน้าที่นี้ แม้ว่ามีบ่อยครั้งที่จะเรียกประชุมเพื่อการเจรจาสนธิสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายทางทะเล (Law of the Sea) และการประชุมต่อต้านคอร์รัปชั่น (Convention against Corruption) ทั้งนี้ สหประชาชาติมักวางบทบาทของตนในประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศไว้เพียงการเป็นเวทีการหารือ ในเวลาเดียวกัน บทบาทหลักของสหประชาชาติมักเป็นการสนับสนุนเชิงเทคนิคเป็นส่วนใหญ่ โดยมอบความช่วยเหลืออย่างมากมายแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านสุขภาพและเกษตรกรรม

ในทางความเป็นจริงจึงมักปรากฏว่า กลุ่มจี7 กลายเป็นเวทีระหว่างประเทศที่สามารถสร้างทิศทางร่วมให้แก่นานาสถาบันที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นเชิงนโยบายการค้าและการเงิน นับจากปี 1976 เป็นต้นมา กลุ่มจี 7 อันเป็นประหนึ่งสมาคมของชาติมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม ได้จัดกิจกรรมการพบปะหารือระดับผู้นำสูงสุดของประเทศเป็นประจำทุกปี ตลอดจนการหารือระดับรัฐมนตรีด้านการเงินการคลังเป็นรายครึ่งปี หรืออาจจะถี่กว่านั้นหากมีความจำเป็น ทั้งนี้ เมื่อกลุ่มจี 7 บรรลุฉันทามติใด ก็จะมีสถาบันระดับโลกที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องอยู่กับประเด็นในฉันทามตินั้นสักหนึ่งรายหรือมากกว่านั้น รับฉันทามติดังกล่าวไปดำเนินการ โดยมีข้อสังเกตได้ว่า สถาบันเหล่านี้มักเป็นองค์กรที่กลุ่มจี 7 สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว

แม้จะมีกรอบความสัมพันธ์ระหว่างกันที่พลิกผันเป็นรายกรณีไป แต่ในความเป็นจริง เมื่อประเทศสมาชิกกลุ่มจี 7 เกาะกลุ่มเข้าด้วยกัน จี 7 ก็กลายเป็นเวทีถาวรที่ประเทศเหล่านี้ใช้เพื่อการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจและการสร้างทิศทางร่วม และในเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์ในระหว่างประเทศสมาชิกยังเต็มไปด้วยความยืดหยุ่น นอกจากนั้น หลังจากที่สหภาพโซเวียตแตกสลาย การประชุมของชาติมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้รวมเอาสหพันธรัฐรัสเซียเข้าไว้ในกลุ่มด้วย เกิดกลายเป็นกลุ่มจี 8 ขึ้นมาในปี 1997

ในทำนองเดียวกัน บรรดาประมุขของชาติสมาชิกจี 8 ยังได้เชิญผู้นำจากชาติกำลังพัฒนากลุ่มต่างๆ ให้เข้าหารือในช่วงการประชุมนัดแถมทบควบคู่กับการประชุมสุดยอดของกลุ่มจี 8 ด้วย พอถึงปี 2007 กลุ่มจี 8 จัดตั้งโครงการเอื้อมออกสู่ชาติชายขอบ ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงสร้างที่มีความถาวรมากขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า กระบวนการไฮลิเกนดาม (Heiligendamm Process) ทั้งนี้ ภายใต้การนำโดยเยอรมนี รัฐบาลของชาติกำลังพัฒนา 5 ประเทศ คือ บราซิล จีน อินเดีย เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ ถูกดึงให้กระชับเข้าใกล้จี 8 มากขึ้น ในรูปแบบของกลุ่มเอาท์รีช 5 (Outreach 5 หรือ โอ 5) โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสองปีที่ผ่านมา เป็นการหารือในประเด็นนโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นความกังวลร่วมกันในทุกฝ่าย อาทิ ด้านการลงทุน การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม การพัฒนา (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของแอฟริกาใต้) กับด้านประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเพื่อต่อสู้กับปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อย่างไรก็ตาม รูปการณ์ปรากฏออกมาว่า มันคือการปล่อยแมวออกจากถุงโดยแท้ กลุ่มจี 7 สูญเสียพลังการควบคุมนโยบายของโลก ขณะที่กลุ่มโอ 5 ก็ไม่มีแววจะมอบพลังดังกล่าวนี้คืนแก่พวกจี 7 ดับเบิลยูทีโอนั้น การเจรจากำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน และเนื่องจากอำนาจในการเจรจาที่รัฐบาลสหรัฐฯได้รับมอบจากรัฐสภาก็หมดอายุลงไปแล้ว จึงไม่เป็นที่กระจ่างชัดว่าทำไมพวกเขายังคงพิจารณาญัติติต่างๆ กันอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของดับเบิลยูทีโอในนครเจนีวา สำหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศตกอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนลูกค้า ทั้งนี้ วันใดที่ประเทศตุรกีชำระคืนเงินกู้งวดสุดท้าย ไอเอ็มเอฟจะแทบไม่เหลือประเทศลูกหนี้เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนใดอื่นค้างคาอยู่อีก ส่วนโอกาสที่จะมีลูกค้าหน้าเดิมๆ หวนกลับมาใช้บริการนั้น นับว่าน้อย เพราะประเทศเหล่านี้เดินนโยบายสร้างทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไว้อย่างมหาศาลเพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่าจะไม่ต้องย้อนไปพึ่งพิงไอเอ็มเอฟอีก ด้านธนาคารโลกยังอยู่ในฐานะที่ต้องเร่งฟื้นความน่าเชื่อถือ หลังเกิดกรณีอื้อฉาวของประธานพอล วูลโฟวิตซ์ ซึ่งถึงขั้นต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทั้งที่ดำรงตำแหน่งได้ไม่เต็มสองปี

ในเวลาเดียวกัน วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อฤดูร้อนปี 2007 ได้ส่งผลเสียหายแก่วงการธนาคารในยุโรป และจุดชนวนให้ผู้คนในยุโรปถามหาการปฏิรูปโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เท่าที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนายังไม่ถึงกับตกเป็นเหยื่อของวิกฤตนี้เสียทีเดียว อีกทั้งยังตื่นตัว ลุกขึ้นมาป้องกันไม่ให้ผลกระทบจากวิกฤตขยายวงลุกลามออกไป พร้อมกับมีการปกป้องสินทรัพย์ทางการเงินของพวกตนที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น เมื่อผสานปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว มันอาจจะเป็นจังหวะเวลาอันเหมาะสมมาก ที่จะต้องมีการประชุมกันเพื่อหารือในเรื่องการปฏิรูปเชิงการเงินในทางระหว่างประเทศ โดยให้เป็นไปในระดับโลกทีเดียว

สหประชาชาติเคยจัดเวทีสำหรับเรื่องประมาณนี้มาแล้วเมื่อปี 2002 คือในราว 6 เดือนหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ซึ่งขณะนั้น นานาชาติกำลังต้องการเห็นท่าทีทางการเมืองในเรื่องการพัฒนาในระดับโลก ดังนั้น ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยสินเชื่อเพื่อการพัฒนา ซึ่งจัดกันที่มอนเทอร์เรย์ ประเทศเม็กซิโก รัฐบาลของประเทศต่างๆ ประกาศคำมั่นไว้หลายประการ ได้แก่
-จะพลิกผันสถานการณ์ตกต่ำของการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา
-จะคำนึงถึงความจำเป็นทางการเงินที่พอเหมาะแก่การบรรลุถึงเป้าหมายการพัฒนาระหว่างประเทศเมื่อมีการลดภาระหนี้
-จะลองพิจารณาดูในเรื่องของการยอมรับสิ่งที่ละม้ายกับรัฐบาลที่มีฐานะการเงินล้มละลาย
-จะตกลงให้ประเทศกำลังพัฒนามี “การแสดงความเห็นและการเข้าร่วม” ที่มากขึ้นภายในกระบวนการตัดสินใจของสถาบันหลักๆ ระดับโลก

ผลปรากฏว่าสองประการแรกปรากฏเป็นจริงได้ในบางส่วน แต่สำหรับประการที่สามนั้น มีการถกกัน แต่ลงเอยด้วยการถูกปฏิเสธ ส่วนสำหรับประการที่สี่ ปรากฏเป็นจริงน้อยมาก แม้ที่ประชุมจะพูดถึงเรื่องนี้อย่างมากมายก็ตาม

โอกาสใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในอนาคตยังพอมีอยู่บ้าง โดยจะมีการประชุมว่าด้วยการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในราวปลายปี 2008 ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติว่าด้วยสินเชื่อเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 2 ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ การประชุมนัดนี้อาจเป็นการตั้งโครงให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจภายในรูปแบบใหม่ที่ฝ่ายต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างทั่วถึง

โลกยังไม่พร้อมสำหรับการประชุมระดับโลกที่จะมาออกแบบระบบระหว่างประเทศกันใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังไม่พร้อมแม้แค่การมีองค์กรเพื่อเตรียมวางรากฐานให้แก่การประชุมที่ว่านี้ ขั้นตอนแรกสุดคือ จะต้องเริ่มจากการตระหนักว่าปัญหาต่างๆ ในการปกครองดูแลเชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะไม่อาจแก้ไขได้ด้วยแค่การปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ภายในสถาบันทางการเงินและการค้ารายใหญ่ๆ ของโลก ส่วนขั้นตอนที่สอง จะต้องเป็นช่วงเข้มข้นเพื่อการหารือทบทวนบรรดาข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปฉบับต่างๆ จนกระทั่งว่ามีฉันทามติพัฒนาขึ้นมาในข้อเสนอแผนใดแผนหนึ่ง ส่วนการรับเอาโครงสร้างใหม่เข้ามาใช้ร่วมกันนั้น เป็นขั้นตอนสำคัญอันดับสุดท้าย และในเวลาต่อไป การปฏิรูปและการทบทวนเพิ่มเติมก็จะตามมาในเมื่อมีการปรับระบบในรายละเอียดต่างๆ

สิ่งที่ที่ประชุมโดฮาควรทำคือการสถาปนาสถานที่ใหม่ซึ่งรัฐบาลชาติต่างๆ สามารถเริ่มตั้งต้นหารือกันในเรื่องการปฏิรูประบบระหว่างประเทศ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อเสนอหนึ่งที่อาจช่วยเอื้อแก่การหารือถกเถียง ข้อเสนอดังกล่าวมาจากเอกอัครราชทูตเอดัวอาร์โด กัลเบซ แห่งกระทรวงการต่างประเทศชิลี ซึ่งปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในวาระการประชุมทบทวนสินเชื่อเพื่อการพัฒนา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2008

กัลเบซเสนอให้สร้าง “เวที/สภา/คณะกรรมการ ที่รวบรวมผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ เพื่อหารือกันในเรื่องสินเชื่อเพื่อการพัฒนา” ทั้งนี้ จะรวมถึงผู้แทนรัฐบาลระดับชาติซึ่งประจำอยู่ในองค์การเชิงนโยบายของสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และองค์การการค้าโลก ตลอดจนผู้แทนของหน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติ และสมาชิกจากภาคประชาสังคม และจากองค์กรภาคเอกชน เป้าหมายการดำเนินการในเรื่องนี้คือ การทำหน้าที่ทบทวนอย่างมีบูรณาการ เกี่ยวกับประเด็นหลัก 6 ประการที่จุดประกายไว้ในการประชุมที่มอนเทอร์เรย์ ได้แก่ เรื่องทรัพยากรในท้องถิ่น การลงทุนจากต่างประเทศ การค้า การให้ความช่วยเหลือ หนี้สิน และประเด็นในเชิงระบบต่างๆ โดยมุ่งจะสร้างโอกาสให้ได้มีการหารือกันอย่างรอบด้าน ทั้งในระดับข้ามไขว้หน่วยงานภาครัฐ ระดับข้ามไขว้สถาบัน และระดับข้ามไขว้ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อนำปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจของโลกขึ้นวางบนโต๊ะประชุม

สาระหลักในข้อเสนอของท่านทูตกัลเบซ คือการเรียกร้องในเรื่องการให้สินเชื่อแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนา เพื่อพลิกผันความคิดของเขาสู่แผนดำเนินการให้ต่อเนื่องกับการประชุมโดฮา ที่ผ่านมายังไม่สู้จะมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น แนวทางของท่านทูตกัลเบซอาจเป็นก้าวแรกสู่การปกครองในระบบเศรษฐกิจโลกที่มีลักษณะรวมกลุ่ม มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นประชาธิปไตย

แบร์รี่ เฮอร์มันเป็นผู้อำนวยการโครงการ Carnegie Council/New School Project, Ethics and Debt. เขาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสแห่งสำนักงานสินเชื่อเพื่อการพัฒนา ในสังกัดของฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ และเคยร่วมอยู่ในคณะเลขาธิการสหประชาชาติซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดเตรียมการประชุมสุดยอดมอนเทอร์เรย์ ว่าด้วยสินเชื่อเพื่อการพัฒนา เมื่อปี 2002 แบร์รี่ เฮอร์มัน เป็นบรรณาธิการหนังสือ 3 เล่ม และเขียนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือต่างๆ ว่าด้วยประเด็นการเงินโลกระหว่างเหนือ-ใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น