xs
xsm
sm
md
lg

การวิวาทในตระกูลธุรกิจยักษ์กัดกร่อนความน่าเชื่อถือของฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: เคนต์ อีวิ่ง และ โอลิเวีย ชุง

Rifts knocks another chip off HK credibility
By Kent Ewing and Olivia Chung
27/05/2008

การทะเลาะวิวาทกันภายในครอบครัว ซึ่งกลายเป็นความแตกแยกขัดแย้งในคณะกรรมการของบริษัท ซุน ฮุง ไค พร็อบเพอร์ตีส์ เครือกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของฮ่องกง กำลังเป็นสิ่งที่สร้างความสนุกสนานอย่างมากให้แก่ชาวท้องถิ่น เพราะมีทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับพี่น้องต่อสู้ชิงอำนาจกันเอง, คนรักที่คบหากันมายาวนาน, ตลอดจนการกล่าวหากันในเรื่องปลอมแปลงผลการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นเหตุการณ์ล่าสุดของปีนี้ ที่เรียกร้องให้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า นครแห่งนี้รวมทั้งที่อื่นๆ ในเอเชียด้วย ให้ความสำคัญแก่เรื่องบรรษัทภิบาลกันมากน้อยแค่ไหน

ฮ่องกง – การทะเลาะวิวาทกันอย่างดุเดือดภายในครอบครัว ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกในคณะกรรมการของเครือกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของฮ่องกง นั่นคือ บริษัท ซุน ฮุง ไค พร็อบเพอร์ตีส์ จำกัด ( Sun Hung Kai Properties Ltd หรือ SHKP) ได้มาถึงจุดไคลแมกซ์กันแล้วในวันอังคาร(27) ด้วยการปลดประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลเตอร์ คว็อกพิงเชิง (Walter Kwok Ping-Sheung) วัย 57 ปี แล้วให้มารดาของเขา คว็อกควองซิวฮืง (Kwok Kwong Siu-hing) เป็นผู้รับตำแหน่งแทน

ยุทธการคราวนี้ถูกจุดชนวนขึ้นเมื่อมีรายงานว่า วอลเตอร์ พยายามนำเอาคนรักที่คบหากันมายาวนานของเขา เข้าไปนั่งในคณะกรรมการของ SHKP ซึ่งเป็นเจ้าของอาคาร อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ เซนเตอร์ สูง 88 ชั้น ที่โดดเด่นผงาดอยู่ในเขตท่าเรือ ในฐานะอาคารสูงที่สุดของนครแห่งนี้ และก็เป็นแกนกลางของชีวิตทางธุรกิจของฮ่องกงอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีโครงการ อาคาร ไอซีซี ทาวเวอร์ สูง 118 ชั้นของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายนี้ ซึ่งมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปี 2010 และจะกลายเป็นอาคารสูงที่สุดเป็นอันดับสามของโลก

ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อกันมาหลายเดือนแล้วคราวนี้ เป็นสิ่งที่สร้างความสนุกสนาน และกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับบดย่อยขบเคี้ยวได้มากมาย ให้แก่บรรดาโรงโม่ข่าวซุบซิบที่อยู่ในรูปลักษณ์หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์แนวหวือหวา ทรัพย์สมบัติของเหล่าพี่น้องตระกูลคว็อก ที่นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่ารวมกันแล้วอยู่ในระดับ 24,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้พวกเขาอยู่ในอันดับสอง ในรายชื่อบุคคลร่ำรวยที่สุดของฮ่องกงประจำปี 2007 ของฟอร์บส์ โดยตามหลังเพียง ลีกาชิง (Li Ka-shing) ประธานของ เฉิง คง โฮลดิ้งส์ (Cheung Kong Holdings) กลุ่มกิจการสารพันระหว่างประเทศ และก็เป็นบุรุษผู้ร่ำรวยที่สุดของโลกในหมู่คนเชื้อสายจีน

แต่นอกจากนั้น มันก็ยังก่อให้เกิดความกังวลและความอับอายขายหน้าในหมู่ประชาคมธุรกิจ ซึ่งถูกโจมตีเล่นงานในเรื่องความบกพร่องทางจริยธรรมภาคบรรษัทกันอยู่แล้ว

น้องชาย 2 คนของวอลเตอร์ คือ โธมัส กับ เรย์มอนด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานของ SHKP กันทั้งคู่ เป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับวอลเตอร์ ในการต่อสู้ภายในบริษัทเพื่อขับไล่ประธานผู้นี้ จนกระทั่งในที่สุดก็ได้รับการหนุนหลังจากมารดาของพวกเขา ผู้มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ SHKP

อันที่จริง ต้องถือว่าน้องชายทั้ง 2 แห่งตระกูลคว็อกได้ชัยชนะครั้งสำคัญที่สุดเหนือพี่ชายของพวกเขาในวันจันทร์(26) เมื่อวอลเตอร์พ่ายแพ้คดีที่เขายื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลไฮคอร์ตของฮ่องกง ที่พิพากษาให้คณะกรรมการบริษัท SHKP มีสิทธิที่จะลงมติปลดเขาออกจากตำแหน่งประธานได้ เมื่อหนทางเปิดสะดวกแล้วเช่นนี้ จึงมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทกันในวันอังคาร(27) ซึ่งวอลเตอร์ถูกขับออกไป และต้องตกอับอย่างเสื่อมเสียเกียรติ โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเพียง กรรมการบริษัทคนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารอะไร

ตามคำแถลงเป็นภาษาจีนของ SHKP ฉบับหนึ่ง มารดาวัย 79 ปีของเหล่าพี่น้องตระกูลคว็อก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาน และกรรมการไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารของบริษัท โดยให้มีผลบังคับในทันที “จนกระทั่งถึงการประชุมใหญ่ประจำปีผู้ถือหุ้นในเดือนธันวาคม”

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น คือ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ศาลไฮคอร์ตได้ตัดสินเห็นชอบตามคำร้องของพี่ชายคนหัวปีตระกูลคว็อก ที่ขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามคณะกรรมการบริษัทจัดการประชุมในวาระชี้ขาดชะตากรรมของเขา ทว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉบับนี้ได้ถูกศาลแห่งนี้สั่งยกเลิกไปในวันศุกร์(23)ที่ผ่านมา ซึ่งก็นำไปสู่การอุทธรณ์ที่ปราศจากผลดังกล่าวข้างต้น

สองวันก่อนหน้าศาลอ่านคำตัดสินในวันศุกร์(23) วอลเตอร์ยังได้ยื่นฟ้องน้องชายทั้งสองของเขาในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งคำฟ้องของเขาระบุว่า การหมิ่นประมาทนี้ปรากฏอยู่ในจดหมาย 3 ฉบับของบุคคลทั้งสองที่จ่าหน้าถึงมารดาของพวกเขา และถึงบรรดากรรมการบริษัทของ SHKP คำฟ้องของวอลเตอร์บรรยายว่า จดหมายเหล่านี้ชี้ชวนให้เห็นไปว่า ตัวประธานบริษัทกำลังป่วยด้วยอาการโรคไบโพลาร์ (bipolar affective disorder หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ manic depression โดยผู้ป่วยจะมีอารมณ์แปรปรวน ระหว่างภาวะซึมเศร้าสลับกับอารมณ์ดีอย่างผิดปกติ) ตลอดจนเป็นคนโกหกหลอกลวง จึงไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป

วอลเตอร์ได้เรียกร้องในคำฟ้องให้สองน้องชายของเขา “ประกาศถอนคำพูดของพวกเขาต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และกระจ่างชัดเจน” และระบุว่าชื่อเสียงเกียรติยศของเขาเสียหายไปอย่างร้ายแรง รวมทั้งการถูกหมิ่นประมาทเช่นนี้ยังทำให้เขารู้สึก “เจ็บปวดจากความเศร้าเสียใจ ความกลัดกลุ้มทุกข์ระทม และความอับอายขายหน้า อย่างแสนสาหัส”

ถึงแม้บัดนี้จะหลุดจากตำแหน่งประธานของ SHKP แต่วอลเตอร์ก็ยังคงเป็นกรรมการบริหารอยู่ในบอร์ดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งยังคงเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการประจำของคณะกรรมการแห่งชาติ สภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน

นอกจากฟ้องร้องน้องชายทั้งสองต่อศาล พี่ชายคนโตตระกูลคว็อกยังได้แจ้งความต่อตำรวจฮ่องกง กล่าวโทษ โจเซ มัลโดนาโด จิตแพทย์ผู้มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ ว่ากระทำความผิดด้วยข้อหาทำการรักษาเขา อันเป็นการประกอบโรคศิลป์ในฮ่องกงทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต ตลอดจนได้จ่ายยาที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนให้แก่เขาด้วย ทั้งนี้มีรายงานว่าจิตแพทย์ผู้นี้คือเป็นผู้วินิจฉัยว่าวอลเตอร์เป็นโรคไบโพลาร์ อภิมหาเศรษฐีระดับเจ้าพ่อฮ่องกงผู้นี้ระบุว่า การวินิจฉัยโรคอย่างบกพร่องผิดพลาดของมัลโดนาโดนั่นเอง ที่ถูกน้องชายทั้งสองของเขาอ้างอิงเอาไว้ในจดหมายส่งถึงบรรดากรรมการ SHKP เพื่อบอกว่าเขาไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต่อไป

ความจริงแล้ว วอลเตอร์ก็เพิ่งกลับมาแสดงบทบาทของเขาในฐานะประธาน SHKP ในเดือนนี้เอง ภายหลังจากยื่นใบลาไม่มาทำงานเป็นเวลาสามเดือนโดยที่บริษัทบอกว่า “ด้วยเหตุผลส่วนตัว” อย่างไรก็ตาม ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ นี่เป็นการลางานแบบถูกบังคับ สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ ไอดา ตงกัมฮิง (Ida Tong Kam-hing) ทนายความสตรีชาวฮ่องกงที่อายุมากกว่าเขา 5 ปี และเป็นคนที่เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ผู้นี้รู้จักสนิทสนมมานานกว่า 30 ปี ก่อนการแต่งงานของเขากับภรรยาคนปัจจุบันที่ชื่อ เวนดี

หนังสือพิมพ์ เดอะ สแตนดาร์ด เสนอข่าวไปไกลถึงขั้นเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างคว็อกกับตง ว่าเหมือนกับของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งอังกฤษ กับพระชายาคนปัจจุบัน คามิลลา พาร์กเกอร์-โบว์ลส์ ซึ่งก็รู้จักสนิทสนมกันมากก่อนที่พระองค์จะทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงไดอานา

เดอะ สแตนดาร์ด อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยนามหลายๆ ราย เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนยังเป็นหนุ่ม เจ้าพ่อผู้นี้ต้องตัดสัมพันธ์ที่มีอยู่กับตง เนื่องจากบิดาของเขา คว็อกตั๊กเส็ง (Kwok Tak-seng) ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท SHKP ขึ้นมาในปี 1969 และดำรงตำแหน่งประธานบริษัทจวบจนกระทั่งเขาสิ้นชีวิตไปในปี 1990 ได้ยืนกรานไม่ยอมรับเธอ แต่ความสัมพันธ์นี้ได้กลับงอกงามเบ่งบานขึ้นอีกครั้ง โดยหนังสือพิมพ์ฉบับนี้บอกว่า ในช่วงเวลาภายหลังจากที่วอลเตอร์ถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ในปี 1997 โดยฝีมือของเจ้าพ่ออันธพาลใหญ่ ฉวงเจ๋อกวง (Cheung Sze-keung) ผู้มีฉายาว่า “เจ้าพ่อมือเติบ” (Big Spender)

ถึงแม้ทางตระกูลคว็อกไม่เคยยอมรับเลยว่าเกิดเหตุลักพาตัวเรียกค่าไถ่เช่นนี้ แต่ก็มีรายงานว่าฉวงได้ให้การรับสารภาพว่าได้ใช้ผ้าผูกตาและกักขังวอลเตอร์เอาไว้ 5 วัน จนกระทั่งได้เงินค่าไถ่จำนวน 600 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากการถูกจับตัวเรียกค่าไถ่คราวนั้น ดูเหมือนทำให้วอลเตอร์เกิดบาดแผลร้ายแรงจากจิตใจ จนกระทั่งแม้ยังคงรักษาตำแหน่งประธาน SHKP เอาไว้ แต่ก็ได้มอบโอนหน้าที่ด้านการบริหารจำนวนมากของเขาให้แก่น้องชายทั้งสอง

แล้วก็เป็นช่วงเวลาประมาณนี้เองที่ตงกลับเข้ามาสู่ชีวิตของเขาอีกครั้ง โดยตามรายงานของเดอะ สแตนดาร์ด ตงเริ่มค่อยๆ แสดงบทบาทรุกเข้าไปในกิจการของ SHNP มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด เมื่อวอลเตอร์เคลื่อนไหวที่จะให้ตงได้ที่นั่งในคณะกรรมการบริษัท สมาชิกคนอื่นๆ ของตระกูลจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาที่จะต้องกันเอาพี่ชายคนโตออกมาจากการบริหารบริษัทแล้ว แม้จะมีข้อเท็จจริงอยู่ว่านับแต่ที่วอลเตอร์เข้าคุมบังเหียน SHKP มูลค่าของบริษัทได้เพิ่มพูนขึ้นประมาณสิบเท่าตัว

หนังสือพิมพ์ภาษาจีนบางฉบับยังได้อ้างแหล่งข่าวหลายรายบอกว่า ความขัดแย้งกันระหว่างพี่น้องในเรื่องโครงการลงทุนหลายๆ โครงการ อาจจะเป็นสาเหตุนำไปสู่ความแตกร้าวในบอร์ดบริษัท ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันพฤหัสบดี(22)ที่ผ่านมา เรย์มอนด์กับโธมัสได้หยิกยกเรื่องที่พวกเขาข้องใจการปฏิบัติงานของวอลเตอร์รวมแล้ว 17 กระทง โดยบางกระทงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการครั้งสำคัญๆ ของพี่ชายคนโตของพวกเขา ซึ่งบางกรณีปรากฏออกมาว่าเป็นความผิดพลาดอย่างไม่ฉลาด โดยที่ไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับพวกเขากันก่อนเลย

ขณะที่ศึกสงครามในห้องประชุมคณะกรรมการบริษัท ก่อให้เกิดความบันเทิงเริงรมย์อย่างเอกอุให้แก่บรรดาท่านผู้ชมที่บังเอิญมีโอกาสทราบเรื่องราว มันก็ทำให้เกิดคำถามอันฉกาจฉกรรจ์เกี่ยวกับวิธีทำธุรกิจในฮ่องกงตลอดจนในที่อื่นๆ ของเอเชีย ซึ่งสภาพที่ตระกูลผู้ก่อตั้งธุรกิจ เข้าครองอำนาจสืบทอดอาณาจักรธุรกิจ เสมือนกับเป็นราชวงศ์สืบทอดบัลลังก์ ย่อมเป็นสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับบิ๊กๆ ของภูมิภาคแถบนี้

เฉพาะในฮ่องกงเท่านั้น ไมว่าจะเป็น เฮนเดอร์สัน แลนด์ ดีเวลอปเมนต์, เกรต อีเกิล โฮลดิ้งส์, วีล็อก แอนด์ โค, และ ไฮซัน ดีเวลอปเมนต์ ล้วนแต่มีลักษณะเป็นราชวงศ์ในเชิงโครงสร้าง รวมทั้งกรณีที่ วิกเตอร์ ลีจาร์กุย (Victor Li Tzar-kuoi) บุตรชายของลีกาชิง เวลานี้กำลังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและรองประธานของ เฉิง คง โฮลดิ้งส์ (เจ้าพ่ออันธพาลฉวง ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อปี 1998 ในนครกว่างโจว ของจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยข้อหาความผิดต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือการจับตัวเรียกค่าไถ่ วิกเตอร์ ลี)

อะไรจะเกิดขึ้นหากความจงรักภักดีภายในตระกูล เปลี่ยนแปรกลายเป็นการทะเลาะวิวาทกันภายในครอบครัว ในกรณีของ SHKP นั้น มูลค่าตามราคาในตลาดหุ้นของบริษัทได้หล่นหายไป 4,600 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในช่วงเวลา 7 วันที่สิ้นสุดในวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นตัวนี้สามารถกระเตื้องขึ้นมาได้ 2.2% ในวันจันทร์ เมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าวอลเตอร์กำลังจะกระเด็นจากตำแหน่ง ในตอนปิดตลาดวันอังคาร SHKP ขยับขึ้นมาอีกไม่ถึง 1% ยืนอยู่ที่หุ้นละ 126.80 ดอลลาร์ฮ่องกง ลดลงมาประมาณ 27% จากที่เคยไต่ขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ราคา 175.40 ดอลลาร์ฮ่องกง เมื่อวันที่ 8 มกราคม

การทะเลาะขัดแย้งกันภายในครอบครัวจึงเป็นโมเดลธุรกิจอย่างเลว ที่เอเชียนำเสนอให้แก่โลก

กรณีอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรธุรกิจมูลค่า 325,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงของตระกูลคว็อก ยังบังเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับเรื่องราวอันไม่น่าสบายใจในแวดวงธุรกิจของฮ่องกงอีกหลายๆ เรื่อง โดยเรื่องสำคัญที่สุดย่อมเป็นกรณีของ เดวิด ลีคว็อกโป (David Li Kwok-po) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร แบงก์ออฟอีสต์เอเชีย ในฮ่องกง ผู้ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่งอันมีเกียรติในสภาบริหารของฮ่องกง ภายหลังจากที่เขาต้องยินยอมจ่ายเงิน 8.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้รัฐบาลสหรัฐฯ สืบเนื่องจากผลการสอบสวนคดีที่เขาพัวพันกับการใช้ข้อมูลภายใน ทั้งนี้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (เอสอีซี) ได้กล่าวหาลี ซึ่งเวลานั้นนั่งเป็นกรรมการคนหนึ่งในบอร์ดของบริษัทดาวโจนส์ ได้แอบส่งผ่านข้อมูลเฉพาะวงใน ไปให้แก่เพื่อนของเขาคนหนึ่ง ก่อนหน้าการประกาศข่าวว่า นิวส์ คอร์เปอเรชั่น ของ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค เสนอซื้อกิจการบริษัท ดาว โจนส์ แอนด์ คอมพานี ตัวลีเองไม่เคยยอมรับว่ากระทำความผิด กระนั้นก็ตามก็ยินยอมจ่ายค่าปรับ

อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเรื่องของเดวิด ลี ไปอีก เป็นเรื่องราวของเดวิด เว็บบ์ ผู้แสดงบทบาทเป็นเสมือนตัวเหลือบที่คอยกัดคอยสร้างความรำคาญ เมื่อเกิดความไม่ถูกต้องในภาคบรรษัท เว็บบ์ผู้นี้คือผู้เรียกร้องอย่างแข็งขันให้ลีลาออกจากสภาบริหารของฮ่องกง ภายหลังปรากฏผลการสอบสวนของเอสอีซี ต่อมาในเดือนนี้เอง เว็บบ์ได้ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Exchanges and Clearing) โดยกล่าวหาว่า ทางตลาดมีความบกพร่องมากในด้านบรรษัทภิบาล รวมทั้งยอมอ่อนข้อต่ออิทธิพลทางการเมือง ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์คนอื่นๆ จะออกมาโต้แย้งข้อหาของเว็บบ์

ประเด็นทางด้านบรรษัทภิบาลก็ปรากฏอยู่ในกรณีทะเลาะวิวาทของตระกูลคว็อกเหมือนกัน โดยที่วอลเตอร์ได้กล่าวหาเอาไว้ในคำบรรยายฟ้องฉบับหนึ่งของเขาว่า โธมัสกับเรย์มอนด์ ปฏิเสธไม่เห็นด้วยครั้งแล้วครั้งเล่ากับความพยายามของเขาที่จะปรับปรุงด้านบรรษัทภิบาล และระบุว่าน้องชายทั้งสองของเขามุ่งหาทางโยกเขาออกจากตำแหน่ง ก็เพื่อที่จะเข้าควบคุมคณะกรรมการบริษัทให้อยู่หมัด

สำหรับเว็บบ์ผู้เป็นตัวเหลือบแห่งภาคบรรษัทของฮ่องกง เขาจบการศึกษาจากออกซ์ฟอร์ด และถือเป็นนักการเงินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้วตอนที่อายุได้เพียง 32 ปี เขาก็เกษียณตัวเอง และหันมาเป็นนักรณรงค์เพื่อปรับปรุงจริยธรรมภาคบรรษัทในฮ่องกง พวกบริษัทที่ถูกเขาเล่นงานมีอาทิ เฮนเดอร์สัน แลนด์ ดีเวลอปเมนต์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ SHKP ใน อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ เซนเตอร์ และตัวประธานของบริษัทเฮนเดอร์สัน คือ ลีเชากี (Lee Shau-kee) ก็เป็นกรรมการที่ไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารคนหนึ่งของ ซุน ฮุง ไค พร็อบเพอร์ตีส์ (SHKP)

เคนต์ อีวิ่ง เป็นอาจารย์และนักเขียนอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติ ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล สคูล ส่วน โอลิเวีย ชุง เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น