xs
xsm
sm
md
lg

“ทุ่งสังหาร” ในพม่าที่เกิดจากการเพิกเฉยไม่ทำอะไรเลย

เผยแพร่:   โดย: ชอว์น ดับเบิลยู คริสพิน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Myanmar’s killing fields of neglect
By Shawn W Crispin
16/05/2008

ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังจ้องมองดูด้วยความตกตะลึงไม่อยากเชื่ออยู่นั้น วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในพม่าก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่รัฐบาลเผด็จการทหารคอยฉกฉวยเบียดบังสิ่งของความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และสหประชาชาติก็ยังทำอะไรไม่ได้นอกจากการพูดจาหารือที่เจอแต่ทางตัน เวลานี้จึงมีเพียงกองทหารสหรัฐฯเท่านั้นที่มีอำนาจป้องกันไม่ให้เกิดความพินาศย่อยยับของหมู่มนุษย์มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้

กรุงเทพฯ – ประมาณการกันว่า มีประชาชนราว 2 ล้านคนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บ, การถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการเหลียวแล, หรือไม่ก็จากการอดอยากหิวโหย ขณะที่ความช่วยเหลือจากต่างประเทศจำนวนน้อยนิดที่สามารถเข้าไปในพม่าได้ ก็กลับถูกบิดเบี้ยวไม่ให้ไปถึงมือพวกที่มีความจำเป็นอย่างที่สุด ในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังได้เห็นกันอย่างกระจะเต็มตา ก็คือ ภาพสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของพม่า ทึ่เคยสมมุติคาดหมายกันไว้สำหรับในกรณีที่มีความเลวร้ายที่สุด

จำนวนผู้เสียชีวิตมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่สหประชาชาติยังคงไม่ประสบผลในการเจรจาให้พวกนายพลผู้ปกครองพม่า เปิดพรมแดนของประเทศและอนุญาตให้หน่วยงานจากนานาชาติเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กิส เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีเหตุผลทางศีลธรรมอันหนักแน่นยิ่งขึ้นทุกที ที่นานาชาติจะดำเนินการแทรกแซงโดยมีกองทหารสหรัฐฯเป็นผู้นำ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯบางรายได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นกันเป็นการภายในอยู่แล้ว ที่จะให้ใช้กำลังทหารในการจัดการกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ โดยหนึ่งในทางเลือกที่เสนอกันขึ้นมาก็คือ อนุมัติให้กองทัพเรือและกองทัพนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมพร้อมอยู่ในน่านน้ำใกล้เคียงกับพม่า เข้าดำเนินการแจกจ่ายความช่วยเหลือให้แก่บรรดาเหยื่อผู้ประสบเคราะห์ที่กำลังสิ้นหวังกันโดยตรงเลย โดยไม่ต้องใส่ใจกับการถกเถียงอย่างไม่สามารถมีมติอะไรออกมาได้ของที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ ประเทศจีนผู้เป็นพันธมิตรของพม่า ยังคงกระทำสิ่งที่คาดกันล่วงหน้าได้อยู่แล้ว นั่นคือ สกัดกั้นขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีนำเอาหลักการว่าด้วย “สิทธิที่จะปกป้องคุ้มครอง”มาใช้ อันเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงนโยบายการต่างประเทศของปักกิ่งที่ขับดันโดยผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ชนิดไม่คำนึงถึงถึงอะไรอย่างอื่นทั้งนั้น

อย่างไรก็ดี จวบจนถึงเวลานี้ทั้งสหประชาชาติและสหรัฐฯ ยังคงเล่นไปตามกฏกติกาของคณะผู้นำเผด็จการทหาร ด้วยการใช้เครื่องบินขนส่งของฝ่ายทหารนำเอาสิ่งของช่วยเหลือไปลงที่สนามบินนครย่างกุ้ง แล้วก็ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทหารของพม่าเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการแจกจ่ายภายในประเทศ แน่นอนทีเดียว มันไม่ได้มีความชัดเจนเอาเลยว่าจำนวนความช่วยเหลือที่เข้าสู่พม่าได้อย่างจำกัดเหล่านั้น มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ซึ่งไปถึงมือผู้ประสบเคราะห์กันจริงๆ และกี่เปอร์เซ็นต์ที่ถูกยักย้ายถ่ายเทด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง ให้ไปสู่มือพวกที่จงรักภักดีต่อคณะผู้นำทหาร

ด้วยความช่วยเหลืออันอืดอาดล่าช้าเช่นนี้ พวกเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปบอกว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเกิดความอดอยากขาดแคลนอาหารขึ้นในพื้นที่ซึ่งประสบความเสียหายหนักที่สุด อันเป็นภาวะที่บางคนกำลังเริ่มเรียกกันว่า เป็น “ทุ่งสังหาร”ในพม่าที่เกิดจากการเพิกเฉยไม่ทำอะไรเลย (Myanmar’s killing fields of neglect) ตัวเลขผู้เสียชีวิตของทางการซึ่งน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก เวลานี้ก็ได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ราวๆ 38,500 คน โดยยังมีอีก 27,800 ที่ถูกระบุว่าสูญหาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของสหราชอาณาจักรผู้หนึ่งตลอดจนหน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์หลายๆ แห่ง ได้ปรับตัวเลขคนตายไปเป็นประมาณ 200,000 คน หรือเป็นสองเท่าตัวของจำนวนผู้เสียชีวิตและสูญหายซึ่งยูเอ็นเคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่าน่าจะมีราว 100,000 คน

ไม่เป็นที่กระจ่างชัดว่า ผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาจากการประมาณการครั้งใหม่นี้ มีจำนวนเท่าใดที่จะสามารถรอดพ้นความตายได้ หากความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของนานาชาติสามารถเข้าตอบโต้รับมือกับวิกฤตการณ์คราวนี้ได้อย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้ พวกผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติเคยประมาณการเอาไว้ว่า พวกเขามีเวลาราว 10 วันที่จะต้องเข้าไปให้ถึงตัวเหยื่อผู้ประสบเคราะห์พร้อมกับความช่วยเหลือ ถ้าหากจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกระแสคลื่นแห่งการเสียชีวิตอย่างมหาศาลเป็นระลอกที่สอง การประเมินดังกล่าวเหล่านี้ตั้งอยู่บนแนวความคิดผิดๆ ที่ว่า ความช่วยเหลือจากต่างประเทศและบุคลากรกู้ภัยฉุกเฉินที่เป็นคนต่างชาติ จะได้รับอนุญาตให้เข้าพม่าได้ ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ในวันพฤหัสบดี(15) คณะผู้นำทหารได้ยินยอมเป็นการชั่วคราวที่จะอนุญาตให้บุคลากรทำงานบรรเทาทุกข์ที่เป็นชาวเอเชีย ไม่ใช่ชาวตะวันตก จำนวน 160 คนเข้าไปในพม่าได้ ถึงแม้คาดหมายกันว่าพวกเขาคงจะถูกจำกัดความเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด และให้อยู่แต่ภายในนครย่างกุ้งตลอดจนย่านชานเมืองของนครแห่งนั้น ตลอดเวลาที่เกิดวิกฤตคราวนี้ขึ้นมา คณะผู้นำเผด็จการทหารพม่ายังคงยืนกรานมาตลอดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ทั้งที่ไม่ว่าจะใช้มาตรวัดทางมนุษยธรรมใดๆ ก็เห็นกันได้ด้วยความสลดหดหู่ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของพม่าได้ใช้ความพยายามอย่างพร้อมใจกันเพื่อปิดบังอำพรางขนาดขอบเขตของภัยพิบัติคราวนี้ ทั้งด้วยการให้ตัวเลขผู้บาดเจ็บล้มตายอย่างเป็นทางการที่ต่ำเตี้ยเกินความเป็นจริงจนน่าสังเวช และด้วยหนังสือชี้แนะซึ่งนายกรัฐมนตรีเต็งเส่งออกมาเมื่อวันอังคาร(13) ที่ห้ามชาวต่างชาติเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยร้ายแรงที่สุดของเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี

มาถึงเวลานี้ ภาพที่ค่อยๆ ปรากฏให้เห็นอย่างน่าสลดหดหู่ก็คือ ระบอบปกครองสุดแสนเหี้ยมโหดชุดนี้กำลังยินดีพรักพร้อมที่จะให้ผู้คนซึ่งอาจจะมีจำนวนมากเป็นแสนๆ คนต้องล้มตายไป มากกว่าที่จะยอมเสียหน้าด้วยการยอมรับความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์อันจำเป็นจากนานาชาติ ซึ่งมียูเอ็นเป็นแกนนำและมีสหรัฐฯเป็นผู้ขนส่ง

ตรงกันข้าม รัฐบาลทหารของพม่ายังคงมุ่งมั่นที่จะผูกขาดการเป็นผู้แจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือ ทั้งที่ขาดแคลนประสบการณ์และเครื่องมืออุปกรณ์อย่างเหลือแสน ในการดำเนินการสิ่งซึ่งถ้าหากจะบริหารจัดการกันอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ก็น่าจะเป็นการปฏิบัติการค้นหาและกู้ชีพระดับมโหฬารยิ่ง เจ้าหน้าที่ทางทหารของฝ่ายตะวันตกผู้หนึ่งบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า กองทหารพม่ามีเครื่องเฮลิคอปเตอร์ซึ่งใช้การได้เป็นบางช่วงเวลารวมทั้งสิ้นเพียง 6 ลำ ไม่ได้ใกล้เคียงเลยกับขนาดของฝูงบินที่จำเป็นต้องใช้ ถ้าจะเข้าไปให้ถึงทุกๆ พื้นที่ซึ่งยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ในอาณาบริเวณชายฝั่งที่ยังเข้าไปทางพื้นดินไม่ได้ของเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

** ความตายจากการทุจริตฉ้อฉล**
มีคำถามที่น่าหวั่นกลัวยิ่งกว่านี้อีกในเรื่องของเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกทีอยู่นี้ ระบอบปกครองชุดนี้ก็ยังคงจัดลำดับความเร่งด่วนในการแจกจ่ายความช่วยเหลือ โดยมุ่งเน้นให้แก่พวกที่จงรักภักดีต่อระบอบปกครอง, บรรดาทหารตลอดจนสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการแข็งข้อก่อกบฎขึ้นในหมู่ทหารนั่นเอง

สิ่งของช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีการทำเครื่องหมายเอาไว้ว่าให้ขนส่งไปให้แก่ผู้ประสบภัยพายุไซโคลน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, น้ำดื่ม, และมุ้ง ปรากฏว่าได้ถูก“ปล้นชิง”กลางทาง และเวลานี้ถูกนำออกมาขายตามตลาดต่างๆ ในท้องถิ่นด้วยราคาอันแพงลิ่ว ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของนักการทูตฝ่ายตะวันตกผู้หนึ่งซึ่งกำลังเฝ้าติดตามเหตุการณ์นี้อยู่

เขาบอกว่า ความช่วยเหลือจากต่างประเทศบางรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกมุ้งและผ้าห่มคุณภาพดีที่ผลิตในโลกตะวันตก ได้ถูกเปลี่ยนเบนเส้นทาง และเวลานี้มีขายกันในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่อยู่ติดชายแดนพม่า ซึ่งผู้บริโภคในพื้นที่ดังกล่าวมีกำลังซื้อแข็งแกร่งกว่าในพม่าเอง “รัฐบาลพม่ากำลังขโมยสิ่งของช่วยเหลือที่ขนส่งเข้าไป” นักการทูตผู้นี้บอก “รัฐมนตรีหลายๆ คนเลยมองเห็นเรื่องนี้เป็นเหมือนกับวันจ่ายเงินจ่ายทอง, เป็นลาภลอย, สำหรับหล่อลื่นพวกเครือข่ายในอุปถัมภ์ของพวกเขา”

พร้อมๆ กับที่ด้านหนึ่งทำการค้ากำไรแบบหน้าเลือดจากการขายสิ่งของช่วยเหลือ ในอีกด้านหนึ่งคณะผู้นำเผด็จการทหารก็กำลังจัดการกับภัยพิบัติคราวนี้เหมือนกับเป็นวิกฤตทางด้านความมั่นคงปลอดภัย ยิ่งกว่าเป็นวิกฤตทางด้านมนุษยธรรม ผู้รอดชีวิตจากพายุจำนวนนับพันนับหมื่นคนถูกกวาดต้อนนำตัวเข้าไปอยู่ในค่ายต่างๆ ที่จัดสร้างขึ้นแบบขอไปที และเมื่ออยู่ในค่ายแล้ว พวกเขาก็กำลังได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นผู้ต้องขัง องค์การ “สหรัฐฯรณรงค์เพื่อพม่า” (US campaign for Burma) ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องสิทธิให้แก่ชาวพม่า รายงานว่าพวกซึ่งอยู่ในค่ายที่ดำเนินการโดยฝ่ายทหารเหล่านี้ เมื่อเข้าไปแล้วก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากค่าย หรือแม้กระทั่งพบปะกับคนภายนอก

มีบางคนบอกว่า ในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แบบไม่กระตือรือร้นอะไรของคณะผู้นำทหารคราวนี้ ยังกำลังปรากฏร่องรอยของการแบ่งแยกกีดกันเชื้อชาติให้เห็นกันอีกต่างหาก นักการทูตฝ่ายตะวันตกที่ควรต้องทราบเรื่องดีผู้หนึ่งเล่าว่า ในการแจกจ่ายความช่วยเหลือ คณะผู้นำทหารได้เน้นให้ความสำคัญแก่คนชนชาติพม่าที่เป็นพุทธ ก่อนคนชนชาติอื่นๆ หรือกลุ่มศาสนาอื่นๆ การกระทำอย่างบิดเบี้ยวเช่นนี้ นักการทูตผู้นี้ยืนยันว่ามีความมุ่งหมายที่จะเล่นงานคนชนชาติกะเหรี่ยง ซึ่งมีจำนวนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงทีเดียวในหมู่ประชากรของเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี อีกทั้งชนชาตินี้ก็มีขบวนการ “สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง” (Karen National Union หรือ KNU) ซึ่งได้ทำสงครามจรยุทธ์สู้รบเพื่อความเป็นเอกราชมาหลายสิบปีแล้ว ในบริเวณติดชายแดนที่อยู่ไม่ห่างจากเขตปากแม่น้ำ

เวลานี้มีรัฐบาลฝ่ายตะวันตกอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ที่กำลังพิจารณาถึงวิธีที่จะตอบโต้กับการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แบบไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวของคณะผู้นำเผด็จการทหาร (รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้นโยบายกวาดล้างชนชาติแบบไม่ได้ลงมือเองแต่ปล่อยให้สถานการณ์พาไป) โดยจะส่งความช่วยเหลือและสัมภาระต่างๆ ไปยังบริเวณริมชายแดนในเขตประเทศไทย ซึ่งมีองค์การบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศตั้งฐานดำเนินงานอยู่ก่อนแล้ว หากทำเช่นนี้จริงๆ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะทำให้เหยื่อประสบภัยพายุจำนวนมากมายพากันอพยพออกจากพม่าเข้ามาที่เขตไทย อันเป็นสถานการณ์ที่ทางการกรุงเทพฯกำลังพยายามหาทางปัดป้องไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งร่องรอยของความพยายามนี้ก็เห็นได้จากการที่ไทยเร่งรีบบริจาคความช่วยเหลือด้านอาหารไปให้แก่พวกพันธมิตรของตนในคณะผู้นำเผด็จการทหารพม่ากันตั้งแต่เนิ่นๆ

มาถึงเวลานี้ นักการทูต, นักการเมือง, และนักวิจารณ์จำนวนมาก กำลังชี้ไปที่หลักการว่าด้วย “ความรับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครอง” (responsibility to protect) ของสหประชาชาติ โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้หลักการนี้มาเป็นเหตุผลสำหรับการละเมิดอธิปไตยของพม่า และใช้กำลังบังคับส่งความช่วยเหลือเข้าไปใประเทศนั้น ด้วยการใช้เครื่องบินทหารทิ้งร่มลงไป หรือขนส่งสัมภาระขึ้นบกจากเรือที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่ง

โชคร้ายที่ปฏิบัติการเช่นนี้ยังไม่อาจเกิดขึ้นในเร็ววัน เนื่องจากจีนยังมีท่าทีแข็งขืนไม่ยินยอม อีกทั้งปักกิ่งมีอำนาจใช้สิทธิยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงด้วย ระหว่างการประชุมยูเอ็นเมื่อต้นสัปดาห์นี้ อุปทูตของจีนได้อภิปรายด้วยความรู้สึกห้าวหาญ โดยคัดค้านการอ้างหลักการข้อนี้ เพื่อใช้กำลังบังคับจัดส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าไปในพม่า พร้อมกับยกเหตุผลอันวิปริตน่าขันมาโต้แย้งว่า ตอนที่ฝรั่งเศสประสบความทุกข์ยากจากคลื่นความร้อนเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งทำให้พลเมืองเสียชีวิตไปหลายพันคน ก็ไม่เห็นมีใครนำเอาหลักการข้อนี้มาอ้างใช้กันเลย

เวลานี้มีบางคนอ้างว่า สหประชาชาติกำลังแอบๆ เล่นบทละคร “ตำรวจดี-ตำรวจเลว” กับทางคณะผู้นำเผด็จการทหารของพม่า โดยที่บางรัฐสมาชิกอย่างเช่นฝรั่งเศสจะประกาศเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ใช้หลักการว่าด้วย “สิทธิในการปกป้องคุ้มครอง” ขณะที่เจ้าหน้าที่ยูเอ็นอื่นๆ ก็ไปเจรจากับระบอบปกครองหัวแข็งกร้าวชุดนี้ ให้ยินยอมปล่อยความช่วยเหลือและพนักงานบรรเทาทุกข์ของนานาชาติเข้าประเทศมากขึ้น โดยที่การยอมออกวีซาให้แก่เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ชาวเอเชีย 160 คนของคณะผู้นำทหารพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี ก็น่าจะอยู่ในข่ายนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองขนาดนี้ เห็นได้ชัดเจนว่ายังน้อยเกินไปและก็สายเกินไปด้วย เมื่อพิจารณาถึงขนาดขอบเขตอันใหญ่โตมหึมาของวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเวลานี้ และจากการที่รัฐบาลทหารพม่าฉกฉวยเบียดบังความช่วยเหลือจากต่างประเทศไปในปริมาณที่ไม่อาจทราบชัดแต่น่าจะมากพอดูทีเดียว ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นเหลือเกินสำหรับพลเมืองของตัวเอง มันก็น่าจะโต้แย้งได้มากกว่าว่า คณะผู้นำเผด็จการทหารของพม่าต่างหากที่กำลังเล่นละครเอากับสหประชาชาติ หาใช่ในทางกลับกันไม่

ขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังจ้องมองดูด้วยความตกตะลึงไม่อยากเชื่ออยู่นั้น คณะผู้นำเผด็จการทหารของพม่าก็ได้งัดเอา “สิทธิในการฆ่า” ที่พวกเขารับรู้เข้าใจกันเอง ขึ้นมาใช้อีกคำรบหนึ่ง เหมือนกับที่ได้เคยใช้กับพลเมืองของพวกเขาเองมาบ่อยครั้งในอดีต เพื่อรักษาอำนาจอันโหดเหี้ยมเอาไว้ให้มั่นคง และขณะที่สหประชาชาติก็ยังทำอะไรไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงยังคงมีอยู่ว่า เวลานี้มีเพียงกองทหารสหรัฐฯเท่านั้นที่มีอำนาจป้องกันไม่ให้เกิดความพินาศย่อยยับของหมู่มนุษย์มากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้

ถ้าหากจะมีโอกาสสักครั้งหนึ่งที่สหรัฐฯจะสามารถใช้แสนยานุภาพทางทหารของตนเพื่อความรู้สึกดีงามในทางศีลธรรมแล้ว การเข้าแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรมในพม่านี่แหละคือโอกาสดังกล่าว

ชอว์น ดับเบิลยู คริสพิน เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียไทมส์ออนไลน์

กำลังโหลดความคิดเห็น