เอเอฟพี - กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดมินิก สเตราส์-คาห์นกล่าวในวันพฤหัสบดี (15) ว่า วิกฤตการณ์ในภาคการเงินของโลกได้ผ่านพ้นช่วงระยะเลวร้ายที่สุดไปแล้ว ถึงแม้ยังน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจวงกว้างกันไปอีกหลายๆ ไตรมาส
"มีเหตุผลดีๆ หลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่า พวกสถาบันการเงินได้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนใหญ่ที่สุดกันออกมาเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ...ดังนั้นเราจึงผ่านเลยข่าวร้ายที่สุดกันไปแล้ว" เขาบอกกับที่ประชุม ณ สภายุโรป
"ปัญหาที่เป็นหลักในเวลานี้ก็คือ ความเชื่อมโยงกันระหว่างวิกฤตทางการเงินกับภาคเศรษฐกิจแท้จริง และเรายังไม่ได้ผ่านเลยเรื่องนี้ไป" เขากล่าว โดยประเมินสถานการณ์ว่า ความปั่นป่วนผันผวนทางการเงินยังจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปอีก "หลายๆ ไตรมาส"
เวลานี้บรรดาระบบเศรษฐกิจใหญ่ๆ ของโลกส่วนมากอยู่ในภาวะชะลอตัว สืบเนื่องจากการทรุดตัวของตลาดภาคที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชนวนทำให้เกิดความอลหม่านอย่างยิ่งในตลาดการเงินทั่วโลก และพวกแบงก์ทั้งหลายก็หวาดระแวงซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นภาวะสินเชื่อตึงตัว
อย่างไรก็ตาม สเตราส์-คาห์น กลับยอมรับในเวลาต่อมา ณ เวทีประชุมว่าด้วยเงินสกุลยูโรว่า ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะทราบกันอย่างชัดเจนว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินผ่านพ้นระยะเลวร้ายที่สุดไปแล้วหรือยัง เพราะก็มีเหตุผลดีๆ หลายประการที่สามารถหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งว่า ภาวะเลวร้ายสุดๆ ยังอาจจะหวนกลับมาได้อีก
"เราไม่ทราบกันอย่างแน่นอนชัดเจนหรอกว่าเราอยู่ตรงไหนกันแน่" เขากล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างว่า เหตุผลโต้แย้งที่น่ารับฟังประการหนึ่งก็คือ "ตลาดภาคที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯยังคงมีราคาลดต่ำลงเรื่อยๆ...แหล่งที่มาของปัญหาจึงยังคงดำรงอยู่"
แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาหลายๆ เดือนที่ต้องเผชิญกับการเหวี่ยงตัวอย่างวูบวาบชนิดบีบหัวใจรุนแรงในตลาดการเงิน พวกผู้มีส่วนร่วมในตลาดทั้งหลายก็ดูจะเริ่มมองโลกในแง่สดใสและเห็นกันมากขึ้นว่า ช่วงเลวร้ายที่สุดของพายุลูกนี้น่าจะผ่านพ้นไปแล้ว นับตั้งแต่ที่วาณิชธนกิจโด่งดังรายหนึ่งของวอลล์สตรีทอย่างแบร์สเติร์นส์ ต้องล้มครืนยอมให้คู่แข่งเทคโอเวอร์ไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ดังที่ สตีเฟน โรช ประธานมอร์แกนสแตนลีย์เอเชีย กล่าวกับการประชุมว่าด้วยเงินสกุลยูโรคราวนี้ว่า "ผมจัดอยู่ในประเภทที่มีความเห็นว่า การล้มลงไปของแบร์สเติร์นส์เป็นหลักหมายที่แสดงถึงจุดต่ำสุดของวิกฤตคราวนี้ อย่างน้อยที่สุดผมก็หวังให้เป็นเช่นนั้น" แต่นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างโรช ก็ไม่ลืมที่จะเตือนด้วยว่า "ปัญหายังอยู่ที่ว่า ยังมีอะไรต่างๆ มากมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก"
เมื่อพิจารณาถึงตัววิกฤตคราวนี้ กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ขณะที่วิกฤตทางการเงินในอดีตที่ผ่านมา มักจุดชนวนขึ้นโดยปัญหาต่างๆ ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา โดยบ่อยๆ ครั้งที่เป็นปัญหาด้านดุลบัญชีเดินสะพัด แต่คราวนี้ไม่ใช่เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้หากมองกันเป็นระยะยาว ความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงน่าจะเป็น "รสชาติของวิกฤตชนิดใหม่ซึ่งเรากำลังจะต้องเผชิญกันต่อไปในอนาคต"
ในสภาพที่ระบบเศรษฐกิจพัฒนาแล้วรายใหญ่ๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างเจอผลกระทบจากความผันผวนของภาคการเงิน จนอัตราการเติบโตชะลอตัวลงตามๆ กัน สเตราส์-คาห์น บอกว่า พวกประเทศเศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่ จะกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญที่สุดในการดึงลากเศรษฐกิจโลกในปีนี้
กระนั้นก็ตาม เขาก็ยืนยันว่า พวกเศรษฐกิจเติบโตเร็วเหล่านี้ในท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องรู้สึกถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเหล่าประเทศร่ำรวยเข้าจนได้ เพียงแต่อาจจะมี "ช่วงเนิ่นช้าออกไปบ้าง"