xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทาง ศก.เอเชีย “ซึม” จากน้ำมัน-มะกันทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้ราคาน้ำมันที่ทะยานไม่หยุด ผสมโรงกับต้นทุนอาหารติดจรวด และเศรษฐกิจกะปลกกะเปลี้ยของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเอเชีย-แปซิฟิกในปีนี้ รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาสังคมโดยเฉพาะในหมู่คนยากจน

สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันพุ่งทะลุทะลวงเหนือระดับ 111 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ ซึ่งเมื่อประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนอินทรี และความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อขาขึ้น อาจเพียงพอที่จะทำให้การเติบโตของเอเชียที่มีการส่งออกเป็นกำลังสำคัญโซซัดโซเซผิดฟอร์ม

ซินยังปัก นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ในมะนิลา ตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะน้ำมันแพงในขณะนี้ต่างจากครั้งวิกฤตน้ำมันในทศวรรษ 1970 และ 1980 ตรงที่เกิดขึ้นพร้อมกับการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของเอเชีย

นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อที่ได้แรงส่งจากต้นทุนพลังงานและอาหาร ยังทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้วางนโยบายเหลือช่องทางที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาน้อยลง ครั้นจะนำมาตรการอุดหนุนมาปัดฝุ่นเพื่อช่วยคนจนก็อาจส่งผลต่อเงินในคลัง

ขณะนี้ สิงคโปร์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการล้ำหน้าที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ลดแนวโน้มการคาดการณ์ประจำปี 2008 ลงแล้วอยู่ที่ 4-6% แทนที่จะเป็น 4.5-6.5% อย่างที่เคยคาดหมายไว้ และเทียบกับ 8.2% และ 7.7% ในปี 2006 และ 2007 ตามลำดับ

เช่นเดียวกัน ธนาคารกลางอินโดนีเซียลดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของปีนี้จาก 6.5% เหลือ 6.2%

ด้านเศรษฐกิจออสเตรเลียที่เคยขยายตัวถึง 3.9% ในปีที่ผ่านมา แต่หากดูกันให้ละเอียดจะเห็นว่า จีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วขยับแค่ 0.6% เท่านั้น

โซล เอสเลค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเอ็นแซด ชี้ว่าแดนจิงโจ้ไม่ได้เจอเพียงแค่ต้นทุนพลังงานพุ่งแรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาวะสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก และดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งช่วยกันกดดีมานด์ภายในและอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจให้ลดลง

แม้มีความเสี่ยงที่ออสเตรเลียจะเผชิญภาวะถดถอย แต่เอสเลคคาดว่าจีดีพีของประเทศนี้จะชะลอลงอยู่ที่ราว 2.5% ทั้งในปีนี้และปีหน้า

เชอร์แมน ชาน นักเศรษฐศาสตร์ของ Moody's Economy.com สำทับว่าเศรษฐกิจเอเชียพึ่งพิงการค้าอย่างมาก ดังนั้น จึงอ่อนไหวต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ภาวะน้ำมันแพงมีนัยสำคัญต่อผู้ผลิตในภูมิภาค เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อจะยังคงท้าทายความสามารถของผู้วางนโยบายทั่วเอเชีย-แปซิฟิกต่อไปอีกหลายเดือน

ปักจากเอดีบี ขานรับว่า รัฐบาลของหลายประเทศในเอเชียตกอยู่ในภาวะหนีเสือปะจระเข้ เนื่องจากหากต้องการช่วยเหลือประชาชนยากไร้จากปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น อาจหมายถึงการกลับไปหามาตรการอุดหนุน ซึ่งในทางกลับกัน กลับเป็นการบ่อนทำลายความพยายามในการปฏิรูปทางการคลังที่เริ่มต้นขึ้นหลังวิกฤตการเงินปี 1997-1998 นอกจากนั้น มาตรการดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลก็ต่อเมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น

แต่เนื่องจากราคาน้ำมันไม่มีแนวโน้มจะลดลงหรือสงบนิ่งอยู่เพียงเท่านี้ ปักจึงเรียกร้องให้รัฐบาลในเอเชียทุ่มเทในการปฏิรูปตลาดพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และค้นหาแหล่งพลังงานทางเลือกแทน

ในบางประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงกำลังผลักดันให้ประชาชนยากจนลง ผลสำรวจของกระทรวงวางแผนเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือนนี้ระบุว่า ราคาน้ำมันและอาหารที่แพงขึ้นทำให้ประชาชน 4 ล้านคนกลับไปอยู่ใต้ระดับเส้นความยากจนอีกครั้ง

ปัก ทิ้งท้ายว่า มะนิลาอาจเพิ่มการใช้จ่ายสำหรับมาตรการอุดหนุนเพื่อประคองราคาข้าวคุณภาพต่ำที่สุดที่จำหน่ายให้แก่คนจนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น