เอเอฟพี – กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแฉ ถ่านหินจำนวนมหาศาล ที่จีนใช้เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อปัญหาอื่น ๆ ตีเป็นราคาความเสียหาย ที่ไม่มีใครมองเห็น สูงถึงกว่าร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีของจีน
ในรายงานชื่อว่า “ต้นทุนที่แท้จริงของถ่านหิน” (The True Cost of Coal) ซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างกลุ่มกรีนพีซ, มูลนิธิพลังงาน (the Energy Foundation) และกลุ่มอนุรักษ์WWF ระบุว่า ความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตของจีนจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการพิจารณาค่าใช้จ่ายที่แท้จริง
ต้นทุนการใช้ถ่านหิน ที่แท้จริง ซึ่งจีนมิได้ระบุลงในบัญชีนั้น สูงถึงราว 1.7 ล้านล้านหยวน (249,000 ล้านดอลลาร์) และหากบวกผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศในโลกเข้าไปด้วยแล้ว ต้นทุนจะมโหฬารกว่านี้มาก
เมื่อได้เห็นต้นทุนที่แท้จริงในแต่ละปีดังกล่าวแล้ว รายงานจึงเสนอให้จีนลดการพึ่งพาถ่านหิน และหันมาให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมชองระบบนิเวศ และปัญหาโลกร้อน
รายงานระบุว่า จีนมีโอกาสแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังด้วยการปฏิรูประบบการกำหนดราคาถ่านหินในปัจจุบันเสียใหม่ โดยการกำหนดราคาในตลาดพลังงานทั้งหมดจะไม่มีการบิดเบือนจากความจริง หากมีการคำนึงถึงต้นทุนของถ่านหินในต่างประเทศด้วย
นอกจากนั้น การบิดเบือนระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลยังส่งผลให้ราคาถ่านหินในจีนถูกลง เช่นนโยบายการครอบครองที่ดิน, ระบบการรักษาความปลอดภัยและการจ่ายค่าชดเชยแก่คนงานเหมือง ที่ยังจัดหาให้ไม่เพียงพอ
รายงานยังได้แจกแจงต้นทุนความเสียหาย ที่หลบซ่อนอื่น ๆ อีก ได้แก่มลภาวะในอากาศและน้ำ , การทำลายระบบนิเวศ, การทำลายระบบสิ่งสาธารณูปโภค, การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของมนุษย์
ปัจจุบัน จีนพึ่งพาการใช้ถ่านหินถึงราวร้อยละ70 ของความต้องการพลังงานทั้งหมด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่เพิ่มก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยจีนและสหรัฐฯ ขึ้นแท่นชาติผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก