นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำมติคณะกรรมการไตรภาคีหรือบอร์ดค่าจ้าง แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ โดยจะมีการปรับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างใหม่ เนื่องจากในปี 2563-2564 ซึ่งถูกนำมาคำนวณการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 5 ปี เป็นช่วงที่สถานการณ์ช่วงโควิด-19 ระบาด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจึงมีน้อย จุดนี้กลายเป็นตัวถ่วงในการพิจารณาตามสูตรค่าจ้าง จึงต้องปรับสูตรใหม่ แต่ไม่ต้องกลับไปพิจารณาเป็นรายจังหวัดเหมือนเดิม ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ บอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่สามารถพิจารณาได้เลย ดังนั้นการพิจารณารอบนี้จะไม่ช้าและสามารถนำเข้า ครม.ได้ภายในเดือนนี้ โดยจะเรียกประชุมบอร์ดค่าจ้างเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า
นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า หลักการปฏิบัติในการขึ้นอัตราค่าจ้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่ทำแบบนี้ ทุกครั้งที่บอร์ดค่าจ้างมีมติออกไปก็ต้องอนุมัติไปตามนั้น เว้นเสียแต่ว่าปีไหนเศรษฐกิจดีขึ้นก็อาจจะมีการปรับค่าจ้างปีละ 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้มติบอร์ดค่าจ้างถูกตีกลับเอามาทบทวนใหม่ ต้องถามว่ากฎหมายรองรับหรือไม่ ประเด็นที่จะพิจารณาใหม่หรือจะไม่พิจารณาไม่ใช่เรื่องสำคัญ จุดสำคัญอยู่ที่ว่ารัฐบาลมีอำนาจแทรกแซงแบบนี้หรือไม่ซึ่งก็ต้องถามไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้ากฎหมายบอกว่าทำได้ก็จบไปทำต่อไปได้เลยเพราะลูกจ้างชอบอยู่แล้ว แต่ถ้ากฎหมายไม่รองรับก็ไม่มีใครกล้าทำผิด รัฐบาลต้องอย่าลืมว่ามีกฎหมายมาตรา 157 ค้ำคออยู่
นายวีรสุข กล่าวว่า เรื่องพิจารณาอัตราค่าจ้างใหม่ อาจจะยุ่งตายแน่ หากคณะกรรมการค่าจ้างประชุมร่วมกันแล้วมีมติเห็นชอบอัตราค่าจ้างเดิม ไม่ทบทวนใหม่แล้วส่งกลับเข้า ครม. อีกครั้ง เพราะกรรมการค่าจ้างก็ต้องดูด้วยว่ากฎหมายเปิดทางให้ทำได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องยึดตามมติของบอร์ดค่าจ้าง เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้แล้วว่าเป็นอำนาจของบอร์ดในการกำหนดอัตราค่าจ้างและเสนอ ครม.เพื่อรับทราบเท่านั้น ไม่ใช่เสนอเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงานก็มีฝ่ายกฎหมายดูแลอยู่แล้ว รวมทั้งบอร์ดฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างก็มีฝ่ายกฎหมายเป็นที่ปรึกษาทั้งนั้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงต้องรอปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างเรียกประชุมจึงจะทราบแนวทางที่ชัดเจน
เมื่อถามว่า รัฐบาลตั้งธงให้ปรับค่าจ้างสูงขึ้นถ้าบอร์ดค่าจ้างมีความเห็นต่างกันต้องถึงขั้นโหวตหรือไม่ นายวีรสุข กล่าวว่า ถ้าโหวตต้องมีเสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการค่าจ้างที่มีอยู่ 15 คน แต่เชื่อว่าแม้จะเห็นต่างก็คงไม่มีการโหวตควรเจรจาแบบแรงงานสัมพันธ์ดีกว่า การโหวตน่าจะเป็นวิธีสุดท้ายเพราะมีตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน ถ้าต้องโหวตก็เดาไม่ยากว่าจะออกมาในทิศทางไหน แต่ก็ยังไม่แน่นอนเพราะทุกคนก็ต้องดูทิศทางลมด้วย
"หากต้องพิจารณาค่าจ้างใหม่ โดยมีการปรับสูตร ตัดเอาปี 2563-2564 ที่เป็น 2 ปีที่เศรษฐกิจแย่ๆ ออกไป ไม่เอามาคำนวณด้วย ก็จะทำให้อัตราค่าจ้างปรับเพิ่มสูงขึ้นมาได้ อยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรองค่าจ้างจะกำหนดสูตรขึ้นมา ซึ่งในช่วง 2 ปีที่มีโควิดระบาดหนักไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง จึงต้องมีการหารือในการประชุมบอร์ดค่าจ้าง อาจจะทบทวนเป็นกลุ่มจังหวัด 17 กลุ่ม ที่ปรับค่าจ้างอัตราเดียวกัน ไม่ต้องพิจารณาใหม่เป็นรายจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จะทำให้ใช้เวลาไม่นาน แต่เรื่องสำคัญอยู่ที่มีกฎหมายรองรับและทำได้หรือไม่มากกว่า"