xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ”ชี้สถิติรอบสัปดาห์ ไทยติดเชื้อโควิดเพิ่ม 7% ตายเพิ่ม 16% แนะ ปชช.อย่าไม่ประมาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 23 มีนาคม 2565 ทะลุ 474 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,623,537 คน ตายเพิ่ม 4,363 คน รวมแล้วติดไปรวม 474,014,306 คน เสียชีวิตรวม 6,109,954 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส เวียดนาม และอิตาลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.67 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.33

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 38.51 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 29.49

สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก

อัพเดตการระบาดจาก WHO ล่าสุดองค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 22 มีนาคม 2565

สถิติรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 7% โดยจำนวนเสียชีวิตลดลง 23%

หากเจาะดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การติดเชื้อใหม่ลดลง 23% และเสียชีวิตลดลง 18%

ทั้งนี้ดูสถิติรอบสัปดาห์ของไทยเราจาก Worldometer จะพบว่าการติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้น 7% และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 16% สะท้อนให้เห็นว่าสวนทางกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นประชาชนจึงต้องไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

สายพันธุ์ที่ระบาด

WHO รายงานว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา สายพันธุ์ Omicron ครองการระบาด 99.8% ในขณะที่เดลต้ามีเพียง 0.1%

สำหรับ Omicron นั้น มีสายพันธุ์ย่อยทั้ง BA.1, BA.1.1, BA.2 และ BA.3

อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังพบว่าปัจจุบัน BA.2 ครองการระบาดทั่วโลกมากกว่าสายพันธุ์อื่นมาตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ล่าสุด 85.96% และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นอย่างชัดเจนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ดังตาราง) โดย BA.2 มีสมรรถนะในการแพร่ไว้กว่า BA.1 และทำให้เกิดการติดเชื้อทั้งในครัวเรือนและนอกครัวเรือนมากกว่า BA.1

อัพเดต Long COVID

1. อัตราการเกิด Long COVID ในกลุ่มบุคลากรที่ทำงานในสถานพยาบาลของเยอรมัน 47.1%

Gruber R และคณะจากเยอรมัน ศึกษาในบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 221 คน จากสถานพยาบาล 3 แห่งในเมืองโคโลญ ในช่วงมีนาคม 2563 ถึงพฤษภาคมม 2564

พบว่า มีคนที่ประสบปัญหา Long COVID สูงถึง 47.1% โดยที่คนส่วนใหญ่มีประวัติติดเชื้อโดยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย

งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า Long COVID เกิดขึ้นได้ แม้ตอนติดเชื้อจะมีอาการเล็กน้อยก็ตาม การป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ไม่ติดเชื้อย่อมจะดีที่สุด

2. หลังติดเชื้อโควิด-19 แล้วอาจตรวจพบการทำงานผิดปกติในอวัยวะต่างๆ ได้แม้ผ่านไป 6-12 เดือน

Dennis A และคณะจากสหราชอาณาจักร ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 536 คน ติดตามไปนาน 12 เดือน และประเมินอาการต่างๆ รวมถึงตรวจทางห้องปฏิบัติการหลากหลายระบบ

พบว่าคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ตรวจพบอาการผิดปกติในลักษณะของ Long COVID และมีความผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกายได้สูงถึง 59% ณ 6 และ 12 เดือนหลังการติดเชื้อ

งานวิจัยนี้นอกจากตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อแล้ว สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน การหมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง สังเกตอาการผิดปกติ หรือไปตรวจเช็คสุขภาพเป็นระยะ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อที่จะได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ