xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ”เผยทวีปยุโรปโควิดกลับมาระบาดรุนแรง หลังยกเลิกมาตรการป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 12 มีนาคม 2565 ทะลุ 455 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,673,729 คน ตายเพิ่ม 5,703 คน รวมแล้วติดไปรวม 455,034,353 คน เสียชีวิตรวม 6,057,369 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน เวียดนาม สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.34 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.96

ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 47.78 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 37.41

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 63 คน สูงเป็นอันดับ 22 ของโลก

ดูแนวโน้มการระบาดในปัจจุบัน ทวีปยุโรปกลับมาขาขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ยกเลิกมาตรการป้องกัน ดังรูปที่ 1

เทียบกันดูทั่วโลกดังรูปที่ 2 จะพบว่าตอนนี้มีทวีปยุโรปและเอเชียที่ไต่ขึ้น ทั้งนี้ยุโรปคือการกลับมาระบาดรุนแรงซ้ำ ส่วนเอเชียนั้นยังเป็นระลอก Omicron ที่เริ่มช้ากว่าทวีปอื่นและยังไม่ได้ลงจากยกแรก

หากลองพล็อตดูตามระดับรายได้ จะพบว่าขาขึ้นอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง (high income) และกลุ่มรายได้ปานกลางระดับล่าง (lower middle income)

สิ่งที่น่าคิดคือ หากไทยเป็น upper middle income country แต่การระบาดยังรุนแรง กระจายทั่ว ยังควบคุมโรคไม่ได้ ดังที่เห็นจากจำนวนติดเชื้อและรวมกับจำนวน ATK แต่ละวัน โดยยังมีจำนวนเสียชีวิตแบบในปัจจุบัน ก็คงต้องระวังให้ดี หากก้าวเดินตามแนวทางของประเทศรายได้สูงที่ไม่ได้ป้องกันโรคอย่างเพียงพอ การระบาดจะปะทุรุนแรงขึ้นได้รวดเร็วกว่าเค้า เพราะระดับฐานการติดเชื้อปัจจุบันสูงมาก และจะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

ปัญหาหนักคือ ทุนทางเศรษฐกิจของไทยไม่เท่ากับกลุ่มประเทศรายได้สูง ผลกระทบจากการระบาดที่จะรุนแรงขึ้นอาจทำให้ยากในการรับมือ

ยังไม่รวมเรื่อง Long COVID ที่จะตามมาในระยะยาวอีกด้วย

ภาวะปกติที่เราควรทำให้เกิดขึ้นคือ ภาวะปกติที่ปลอดภัยและดีกว่าอดีต ไม่ใช่ภาวะปกติในอดีตที่อันตราย

ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน กิจกรรมหรืองานประเพณีวัฒนธรรม และการทำมาหากิน