xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระ”เผยผลศึกษาติดเชื้อโควิดเสี่ยงต่อโรคหัวใจ-หลอดเลือด สูงกว่าไม่ติดเชื้อหลายเท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า ทะลุ 440 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,420,451 คน ตายเพิ่ม 6,489 คน รวมแล้วติดไปรวม 440,067,611 คน เสียชีวิตรวม 5,990,689 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน รัสเซีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.16 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.11

ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.11 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.12

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 10 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้หากดูเฉพาะจำนวนติดเชื้อยืนยัน จะสูงเป็นอันดับ 18 ของโลก
แต่หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย
Long COVID

วงการแพทย์มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยทำให้เกิดภาวะผิดปกติของร่างกายและจิตใจในระยะเวลาหลังจากได้รับการดูแลรักษาช่วงแรกไปแล้ว
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดกับหลายระบบของร่างกาย และส่งผลระยะยาว
ล่าสุดวารสารการแพทย์ JAMA ได้เผยแพร่บทความย้ำเตือนเรื่อง Long COVID ที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลการศึกษาขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าคนที่ติดเชื้อมาแล้วนั้น จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนไม่ติดเชื้อหลายเท่า โดยประเมินหลังติดเชื้อไปราว 12 เดือน
ภาวะผิดปกติดังกล่าวมีการตั้งชื่อว่า COVID Heart หรือ Cardiovascular COVID

ที่น่ากังวลคือ ความเสี่ยงนั้นพบว่าเพิ่มขึ้นทั้งคนที่เคยติดเชื้อแล้วต้องนอนรพ.และไม่ต้องนอนรพ. ทั้งเพศชายและหญิง ทั้งวัยหนุ่มและวัยสูงอายุ ทั้งคนที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ ทั้งคนที่มีโรคประจำตัวเช่นเบาหวานและที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ลักษณะข้างต้นชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 น่าจะส่งผลโดยตรง เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในทุกกลุ่มประชากรที่กล่าวมา

เรื่อง Long COVID นี้สำคัญมาก
นอกจากรัฐจะต้องเตรียมระบบบริการดูแลรักษาและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนอย่างเพียงพอและทันเวลาแล้ว ยังตอกย้ำถึงความจำเป็นที่คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน แม้รักษาหายแล้ว ก็ควรหมั่นสำรวจ ตรวจสอบสมรรถนะทางร่างกาย สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการไปตรวจสุขภาพเป็นระยะหากทำได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจพบความผิดปกติได้เร็วและเข้าสู่ระบบดูแลรักษาได้เร็ว