xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ" เตือนอย่าเพิ่งฝันโควิดเป็นโรคประจำถิ่นในเวลาไม่กี่เดือน เชื่อยังเป็นไปได้ยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอธีระ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ "โควิด-19" ยังระบาดหนัก สายพันธุ์ย่อย BA.2 ขยายวงอย่างต่อเนื่อง เตือนการวาดฝันให้โควิด-19 กลายเป็น "โรคประจำถิ่น" ในระยะเวลาไม่กี่เดือนนั้น ยังเป็นไปได้ยาก

วันนี้ (11 มี.ค.) เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ "โควิด-19" ทั่วโลกและในประเทศไทย โดยระบุข้อความว่า "วันนี้ทะลุ 452 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,550,689 คน ตายเพิ่ม 5,994 ศพ รวมแล้วติดไป 452,928,405 คน เสียชีวิตรวม 6,049,774 ศพ

สำหรับ 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.31 ของทั้งโลก จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.69 ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.33 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.61 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก ส่วนสถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อวาน 74 ศพ สูงเป็นอันดับ 19 ของโลก

ขณะที่อาการผิดปกติระยะยาวหลังติดเชื้อ หรือภาวะ Long COVID นั้น พบมากขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก และเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิด Long COVID มีราว 20-40% เกิดได้ทุกเพศทั้งชายและหญิง แต่หญิงจะบ่อยกว่าชาย ทุกวัย ทั้งเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ โดยผู้ใหญ่พบบ่อยกว่าเด็ก ความผิดปกติเกิดขึ้นได้หลากหลายระบบของร่างกาย ทั้งสมอง ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ต่อมไร้ท่อ กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ผิวหนัง ทางเดินอาหาร รวมถึงอาการทั่วร่างกาย

โดยกลไกที่ทำให้เกิดความผิดปกตินั้น ขณะนี้เชื่อว่าอาจเป็นได้ 4 กลไก ได้แก่ การเกิดการอักเสบตามระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง (Chronic inflammation), การมีไวรัสโควิด-19 หลงเหลือแฝงในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย (Viral persistence), การเกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Auto-antibody) และภาวะไม่สมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเดินอาหาร (Dysbiosis)

ส่วนสถานการณ์ไทยเราขณะนี้ การระบาดรุนแรงกระจายทั่ว และสายพันธุ์ย่อย BA.2 ขยายวงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีสมรรถนะในการแพร่เชื้อได้ไวกว่าสายพันธุ์ Omicron ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ด้วยสถานการณ์เช่นปัจจุบัน ไม่ใช่เวลามาสร้างกระแสให้คนหลงใหลได้ปลื้ม วาดฝันว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ทั้งที่เป็นไปได้ยาก

ภาวะปกติ หรือ Normal นั้น ใครๆ ก็ล้วนปรารถนา ไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นกันทั้งโลก แต่ด้วยความรู้จนถึงบัดนี้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และด้านพฤติกรรมศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 แบบ pandemic ทั่วโลกมาหลายปีอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่อาวุธที่มีอยู่ตอนนี้อย่างวัคซีน ต่อให้จะฉีดกี่เข็ม ก็ยับยั้งการติดเชื้อแพร่เชื้อไม่ได้ แม้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตได้ บทเรียนจากหลายประเทศ ที่หวนกลับไปประกาศอิสรภาพ ให้คนใช้ชีวิตแบบปกติที่คุ้นเคยในอดีต โดยปราศจากการป้องกันตัว ก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นคือ ติดเยอะ ป่วยเยอะ และตาย

ดังนั้น ความปกติในอดีต จึงไม่ใช่ความปกติที่จะกลับมาได้ ในสภาวะที่ยังระบาดกันแบบนี้ ควรยอมรับเสียทีว่า ความปกติที่เป็นไปได้ในระยะถัดจากนี้ไป ต้องเป็นความปกติใหม่ที่ปลอดภัยและดีกว่าเดิม ไม่ใช่ความปกติที่อันตรายแบบในอดีต ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน อย่าทำให้เกิด Endemic delusion อย่าทำให้เกิด Pretendemic เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่อง Long COVID และปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม จะตามมาระยะยาวอย่างมากมาย การสร้างนโยบายที่ไม่ประมาท ก้าวเดินช้าๆ แต่มั่นคงและปลอดภัย ควรเป็นสิ่งที่กระทำ การควบคุมป้องกันโรคในขณะนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้วยความปรารถนาดีเสมอ"

คลิกโพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น