xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ" วอนขอให้ทุกคนติดตามอัปเดตข้อมูลความรู้โควิด-19 ที่ถูกต้องอยู่เสมอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอธีระวอนขอให้ทุกคนติดตามอัปเดตข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องจากการติดเชื้อโควิด และแนะคนเคยติดเชื้อมาก่อน ควรหมั่นประเมินสถานะสุขภาพ หากผิดปกติไปจากอดีต หรือกระทบต่อสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวันควรปรึกษาแพทย์ หรือไปตรวจสุขภาพ เพราะอาจเป็นอาการจาก Long COVID ได้

วันที่ 20 มี.ค. 65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า "ทะลุ 469 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,247,859 คน ตายเพิ่ม 3,582 ราย รวมแล้วติดไปรวม 469,211,157 คน เสียชีวิตรวม 6,097,320 ราย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.4 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.2 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 44.5 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.87 สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 13 ของโลก

อัปเดตเรื่องการรักษาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์เป็นวิชาชีพที่ดูแลรักษาผู้ป่วย โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อเรื่องหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยตามมาตรฐาน เพื่อให้แน่ใจว่ายา วัคซีน หรือวิธีการรักษาใดๆ นั้นมีความปลอดภัย และมีสรรพคุณในการรักษาผู้ป่วยได้จริง กระบวนการศึกษาวิจัยมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีหลายขั้นตอน ต้องผ่านตั้งแต่การศึกษาในหลอดทดลอง/ห้องปฏิบัติการ และการวิจัยในสัตว์ จนแน่ใจจึงผ่านมาวิจัยในคน การวิจัยในคนยังมีหลายระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 1-3 กว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนตีตราเป็นยา หรือวัคซีน เพื่อจำหน่ายจ่ายแจก และใช้ในสาธารณะตามข้อบ่งชี้ได้ ทั้งนี้ แต่ละระยะก็มีการวิจัยโดยมีโครงร่างการวิจัยที่ละเอียด วางแผนการวิจัยอย่างรัดกุม และมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะที่ 3 ซึ่งใช้พิสูจน์สรรพคุณ จำเป็นต้องมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากและมีกลุ่มเปรียบเทียบการรักษาโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน...

ดังนั้น การรับฟังข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ จึงต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าข้อมูลที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ยาใดๆ สมุนไพรใดๆ นั้นน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ไทยเรานั้นมีการติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนมาก รวมถึงการป่วยและการตาย ที่ดูตามตัวเลขก็จะทราบว่าการระบาดนั้นรุนแรงต่อเนื่องติดอันดับโลก จึงขอให้เราทุกคนติดตามอัปเดตข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หรือให้คำแนะนำต่อคนในสังคมที่เดือดร้อนได้อย่างถูกต้อง ยามวิกฤตนั้นคนที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ และอยู่ในภาวะขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ อาจรีบฉวยรีบใช้สิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัว แต่การจะใช้สิ่งต่างๆ นั้นจำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง รู้ว่าจะหวังผลได้มากเพียงใด และต้องรู้ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง สุดท้ายก็ต้องชั่งน้ำหนักตัดสินใจอย่างเหมาะสมสำหรับบริบทของตนเอง

ล่าสุด ทางองค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำในการใช้ยาเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และทาง US NIH ก็มีคำแนะนำในการใช้ยาดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 เช่นกัน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 จะเห็นได้ว่ายาต่างๆ ที่เขาแนะนำไว้นั้นอาจแตกต่างจากที่ไทยใช้เป็นหลัก ไม่ว่าจะ Favipiravir หรือฟ้าทะลายโจรก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ยามวิกฤตระบาดรุนแรง สิ่งที่ได้รับการพิสูจน์จนเห็นผลอย่างชัดเจน และเราสามารถทำได้คือ การป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ส่วนใครที่เคยติดเชื้อมาก่อน ควรหมั่นประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง หากผิดปกติไปจากอดีต หรือกระทบต่อสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์ หรือไปตรวจสุขภาพ เพราะอาจเป็นอาการจาก Long COVID ได้"

คลิกโพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น