xs
xsm
sm
md
lg

อนามัยโพลเผย ปชช.47% ห่วงโควิด-19 รุนแรงหลังปีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลสำรวจอนามัยโพลเรื่องความรู้สึกต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 หลังปีใหม่ ช่วงเดือนมกราคม 2565 จากผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 2.7 หมื่นคน พบว่าเกือบครึ่ง หรือ 47 % คิดว่าสถานการณ์จะรุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากยังพบผู้ป่วยมากขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น เช่น ต้องทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ รายได้ลดลง ตกงาน กลุ่มเสี่ยงมีอากาศรุนแรง ส่วน 27% เห็นว่าสถานการณ์รุนแรงน้อยกว่าเดิม เพราะฉีดวัคซีนแล้ว มีการปฏิบัติตนป้องกันตนเอง ติดเชื้อพันธุ์ใหม่อาการไม่รุนแรง ปรับตัวได้ และ 26% เห็นว่าไม่แตกต่าง

ส่วนมาตรการที่ทำได้ดี คือ งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท งดร่วมกิจกรรมร่วมกลุ่ม ส่วนมาตรการที่ทำได้ยาก งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท และงดไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลการสอบสวนโรคที่ยังพบคลัสเตอร์ร้านอาหารที่ปรับมาจากสถานบันเทิง และงานพิธีกรรมทางศาสนา จึงต้องเน้นย้ำมาตรการ COVID-Free setting และการป้องกันตนเองสูงสุด

นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กล่าวว่า ตลาดสดและร้านอาหารยังเป็นพื้นที่ที่พบการติดเชื้อ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ ตรุษจีนที่ผ่านมาก ที่มีการเฉลิมฉลอง จุดเสี่ยงของร้านอาหารคือระบบระบายอากาศโดยเฉพาะร้านที่เป็นระบบปิด จึงเน้นย้ำเรื่อง COVID-Free setting อีกทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองสูงสุด ฉีดวัคซีนให้ครบมาตรฐาน พร้อม ตรวจ ATK และตรวจคัดกรองความเสี่ยงผ่านระบบต่างๆ และการป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญ

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจอนามัยโพลเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของร้านอาหาร พบมาตรการที่ทำได้ดีคือ ทำความสะอาดโต๊ะที่นั่งทันทีก่อน-หลังใช้บริการ 70.4% มีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการประจำโต๊ะ 64.5% เว้นระยะห่าง 1-2 เมตรและไม่นั่งตรงข้ามกันหรือมีฉากกั้น 54.1% ส่วนมาตรการที่ควรปรับปรุงเนื่องจากทำได้น้อยคือ ติดใบประกาศ COVID Free setting หรือ Thai Stop COVID 2 Pius 22.9% พนักงานแยกกันกินอาหารไม่รวมกลุ่ม 19.8% จำกัดเวลากินไม่เกิน 2 ชั่วโมง 18.39%

นอกจากนี้ กิจกรรมในร้านอาหารที่ประชาชนยังพบเห็นได้แก่ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 23.3% ไม่ได้ตรวจการฉีดวัคซีน/คัดกรองลูกค้าก่อนเข้า 18.7% มีลูกค้านั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 18.5% ปรับจากสถานบันเทิงผับบาร์มาเปิดเป็นร้านอาหาร 12.1% มีพนักงานบริการนั่งดื่มกับลูกค้า/ให้บริการสัมผัสลูกค้าใกล้ชิด 6.9% มีการแสดงดนตรีสดร้องเต้นตะโกน 6.5% จับกลุ่มเต้นหน้าเวทีหรือที่โต๊ะอาหาร 4.9% และ ความเสี่ยงอื่นๆ เช่นรวมกลุ่มกัน คนเมา พนักงานไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ส่วนการประเมินตนเองตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับร้านอาหาร COVID Free setting ข้อมูลวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 - 31 มกราคม 2565 มีสถานประกอบการลงทะเบียน 21,477 แห่ง ผ่านประเมิน 20.833 แห่ง ยังไม่ผ่าน 644 แห่ง มาตรการที่ยังไม่ได้ดำเนินการมากที่สุดคือ จำกัดระยะเวลาการนั่งกินไม่เกิน 2 ชั่วโมง ร้านที่มีเครื่องปรับอากาศต้องตรวจเอกสารการฉีดวัคซีน และไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายเช่น การชิม/การเชียร์ลูกค้า ฝากเน้นย้ำทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน ประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัดให้มากที่สุด