“ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอการปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ และกระจายกรณีช้างป่าออกมาท่ีชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาระหว่างคนและช้างป่าให้อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
เพื่อเป็นการสานต่อในพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงส่งเสริมให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของช้าง จึงควรที่จะต้องมีการอนุรักษ์เอาไว้โดยเฉพาะช้างป่า แต่จะต้องไม่ให้ราษฎรมีความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าบุกรุกหากินในพื้นที่การเกษตร ดังนั้นบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด บริษัทในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ตามศาสตร์พระราชา พัฒนาสร้างสรรผลิตภัณฑ์คุณภาพจากชุมชนและผลผลิตของเกษตรกรไทย จึงจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการ “ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” ระหว่าง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) เพื่อนำแก่นฝางมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ภายใต้แนวคิด สนับสนุนการแก้ปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมโดยมี นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด นายรักษา สุนินทบูรณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ประธานที่ปรึกษากรรมการบริหารวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) นางสาวจารุวรรณ ทองใบ รักษาการหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร นายอดิศร สุทธิเลิศ พัฒนาการจังหวัดจันทบุรี นายฐกร ค้าขายกิจธวัช รักษาการหัวหน้าศูนย์การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมพิธีฯ ณ นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกทรายขาว องค์กาสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมถ์ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นบริษัทต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) ที่ดำเนินงานทั้งการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปจากผลผลิตเกษตรในชุมชน โดยมุ่งมั่นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ด้วยการใช้แนวทางบริหารตามศาสตร์พระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างยั่งยืน
“การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการ “ดอยคำร่วมรักษ์ช้าง ผลักดันไม้ฝาง เพื่อเกษตรกรไทย” ครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแก่นฝางในระบบวนเกษตรเป็นวัตถุดิบในภาคตะวันออก ส่งให้กับบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยไม่เบียดเบียนป่าธรรมชาติ แต่จะเป็นวิธีในการสร้างป่าที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน โดยแก่นฝางในพื้นที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ดอยคำจะนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เป็นน้ำสมุนไพร โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้กับทุกคน ในปี พ.ศ.2565 นี้เป็นต้นไป” นายพิพัฒพงศ์ กล่าว
นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) เปิดเผยว่า ดอยคำพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับ น้ำสมุนไพรพร้อมดื่ม ได้แก่ น้ำชาเขียว รสต้นตำรับ น้ำตะไคร้ผสมขิงและใบเตย น้ำมะขามผสมน้ำผึ้ง น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวยและคาโมไมล์ น้ำเจียวกู้หลานและดอกคำฝอย น้ำเห็ดหลินจือผสมน้ำผึ้ง รวมถึงเครื่องดื่มเข้มข้น เช่น เครื่องดื่มกระชายสกัดเข้มข้นผสมน้ำผึ้งและมะนาว เครื่องดื่มเห็ดหลินจือสกัดเข้มข้นผสมน้ำผึ้งและมะนาว เครื่องดื่มตรีผลาสกัดเข้มข้น และผลิตภัณฑ์ใหม่ สารสกัดฟ้าทะลายโจร
“สำหรับแก่นฝาง ดอยคำได้พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์โดยใช้แก่นฝางเป็นวัตถุดิบ โดยเล็งเห็นว่าแก่นฝางมีสารสำคัญ จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ พบว่ามีสารสำคัญ จำนวน 4 ชนิด ซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสรวมถึงเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้ และยังเป็นการสนับสนุนการแก้ปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมอีกด้วย” นายทวีศักดิ์ กล่าว
ฝางเป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตในทุกสภาพภูมิอากาศภูมิประเทศในประเทศไทย สามารถปลูกร่วมกับไม้ชนิดอื่นๆ ได้โดยไม่มีปัญหาในระบบนิเวศ เป็นต้นไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก โดยเฉพาะประชาชนผู้ประสบปัญหาช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากช้างป่าไม่กินและไม่ทำลาย สามารแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค (ข้อมูลจาก หนังสือประชาสัมพันธ์การจัดการความรู้ เรื่องไม้ฝาง พันธุ์ไม้ที่ช้างไม่ชอบและไม่ทำลาย : กรมป่าไม้และสถานีวนวัฒนวิจัยเขาสอยดาว)
สำหรับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างฯ จัดตั้งขึ้นมาจากมติของประชาชนผู้ที่ประสบภัยช้างบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมในภาคตะวันออก ด้วยการสนับสนุนและผลักดันโดยสถานีวนวัฒนวิจัยเขาสอยดาว กรมป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนที่ประสบปัญหาช้างบุกรุกสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยการสร้างป่าในรูปแบบวนเกษตร ป่าครอบครัว ซึ่งพืชที่ปลูกเป็นชนิดที่ช้างป่าไม่กิน ร้อยละ 90.0 ของพื้นที่ และปลูกพืชที่ช้างป่ากิน ร้อยละ 10.0 ของพื้นที่
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างฯ มีแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชในระบบวนเกษตรป่าครอบครัว เกษตรทฤษฎีแนวใหม่ เกษตรกรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขายกล้าไม้ฝาง พืชสมุนไพรและการค้าไม้ท่อนไม้ซุงไม้แปรรูป มาแปรรูปเชิงพาณิชย์เพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ และดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาไม้ฝางอื่นๆ เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภค