xs
xsm
sm
md
lg

กรมราชทัณฑ์เผยผู้ต้องขังรับวัคซีนป้องกันโควิดครบโดสแล้ว 92.7%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 16.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 93 ราย (พบในห้องแยกกักโรค 91 ราย และเรือนจำสีแดง 2 ราย) ขณะที่มีผู้ติดเชื้อรักษาหายเพิ่ม 47 ราย โดยไม่มีรายงานการเสียชีวิตติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ทำให้มีผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 880 ราย (กลุ่มสีเขียว 77% สีเหลือง 22.6% และสีแดง 0.4%) มีผู้ติดเชื้อรักษาหายสะสม 83,441 ราย หรือเกือบ 96.3% ของผู้ติดเชื้อสะสม 86,632 ราย เสียชีวิตสะสม 185 ราย คิดเป็น 0.21% ของผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด

นายอายุตม์ กล่าวว่า ในวันนี้สถานะเรือนจำยังคงที่ กล่าวคือมีเรือนจำสีขาวอยู่ที่ 128 แห่ง และเรือนจำสีแดง 14 แห่ง ซึ่งเป็นเรือนจำที่อยู่ระหว่างควบคุมการระบาด 3 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดกระบี่ ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก และเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ขณะที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่สามารถลดการระบาดได้แล้ว จึงมีเรือนจำที่อยู่ในแผนสิ้นสุด การระบาดของโรค (แผน EXIT) ทั้งสิ้น 11 แห่ง ซึ่งจะทยอยพ้นจากการระบาดภายในเดือนธันวาคมนี้อย่างน้อย 9 แห่ง

นายอายุตม์ กล่าวต่อไปว่า กรมราชทัณฑ์มีมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นมาตรฐานใน 3 ด้าน คือ 1.การป้องกันเชื้อไม่ให้แพร่ระบาดสู่เรือนจำ ทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังรับใหม่จากภายนอก 2.การตรวจคัดกรองและดูแลรักษาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วตามแนวทางการแพทย์ และ 3.การป้องกันเชื้อจากเรือนจำไม่ให้แพร่ออกภายนอก ด้วยการตรวจคัดกรองและกักโรคผู้ต้องขังก่อนปล่อย ภายใต้การประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลแม่ข่ายและสำนักงานสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือและดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการเร่งฉีดวัคซีน ในผู้ต้องขังทุกรายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยปัจจุบัน มีผู้ต้องขังที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือครบโดสแล้ว จำนวน 260,941 ราย หรือ 92.7% ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 281,516 ราย

ทั้งนี้ หากพบการติดเชื้อขึ้นในเรือนจำ จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีพบการติดเชื้อในผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างแยกกักโรค ซึ่งเป็นผู้ต้องขังรับใหม่จากภายนอก จะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก หรือโรงพยาบาลสนามภายนอกเรือนจำแล้วแต่กรณี และ 2.กรณีที่พบการแพร่ระบาดภายในเรือนจำ จะประสานโรงพยาบาล แม่ข่ายและสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อเข้าสอบสวนโรค ควบคุมการระบาด และคัดแยกผู้ป่วยตามอาการ โดยผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ ทั้งที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยจะได้รับการรักษาภายในโรงพยาบาลสนามที่จัดตั้งขึ้นในเรือนจำเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและการรักษาความปลอดภัย ซึ่งทุกรายจะได้รับการจ่ายยา พร้อมการดูแลรักษาโดยทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการรุนแรง จะถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลภายนอก และในผู้ต้องขังที่ยังตรวจไม่พบเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมด จะได้รับการแยกกลุ่มเพื่อตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันผล

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ด้วยการคัดกรองที่รวดเร็ว (Early Detection) การตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว (Early Diagnosis) และการรักษาที่รวดเร็ว (Early Treatment) ช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว (Early Containment) และลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน มีรายงานผู้เสียชีวิต 185 ราย หรือ 0.21% ของจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ซึ่งในระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงค่อนข้างมาก และไม่มีรายงานการเสียชีวิตติดต่อกันเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว