นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ว่า การผ่อนคลายมาตรการที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมนี้ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 1,000-2,000 ล้านบาทต่อวัน เพราะมีทั้งผ่อนคลายกิจการ และขยายเวลาเปิดดำเนินการ ทำให้คาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะลดลงตามลำดับ หรือลดลงเหลือ 40,000-70,000 ล้านบาทต่อเดือน จากเดือนสิงหาคม ที่มีการระบาดรุนแรง และล็อกดาวน์หลายพื้นที่ สร้างความเสียหายสูงถึง 300,000-400,000 ล้านบาทต่อเดือน และเดือนกันยายน ที่รัฐผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ความเสียหายลดลงมาอยู่ที่ 100,000-200,000 ล้านบาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ในการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และการเตรียมเปิดประเทศนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. มีข้อเสนอ 4 ประเด็น ได้แก่
1. ภาครัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และสื่อสารขั้นตอนการเดินทางเข้าไทยที่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง รวมถึงการเดินทางภายในประเทศจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง และมีหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติได้ตรงกัน
2. การเปิดสถานประกอบการ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และมีมาตรฐานเดียวกันตามพื้นที่เสี่ยง พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าจะมีการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนการกระจายฉีดวัคซีนเพิ่มเติมทั้งเข็ม 2 และเข็ม 3
3. ใช้ระบบและมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับ เพื่อติดตามนักเดินทาง โดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ ซึ่งจะเกิดความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และรองรับปริมาณนักเดินทางได้มากขึ้น นอกจากนั้น ภาครัฐควรดูแลระบบฐานข้อมูลกลางของระบบ Digital Health Pass ที่นำมาใช้เก็บข้อมูลการฉีดวัคซีน การตรวจหาเชื้อโควิด-19 และเปิดให้เอกชนเชื่อมต่อระบบได้ เพื่อให้เช็คข้อมูลการฉีดวัคซีน และการตรวจหาเชื้อของผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการในสถานประกอบการทั้งของคนไทย และชาวต่างชาติได้
4. รัฐควรเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายรายได้ พร้อมไปกับการรักษาการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะการท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปีนี้ อาจไม่สามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็ว