xs
xsm
sm
md
lg

กอนช.ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้น ดินถล่ม 12-16 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นทางระบาย น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ระบุว่า

อิทธิพลจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรง ประกอบกับในช่วงนี้ พายุโซนร้อนกำลังแรง "โกนเซิน (CONSON)” บริเวณทะเลจีนใต้ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง บริเวณตอนเหนือของเมืองดานัง ในช่วงวันที่ 12-13 กันยายน 2564 ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 12-16 กันยายน 2564 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต และกระบี่

2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นทางระบายน้ำล้น ส่งผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำมูลบน ลำพระเพลิง และลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และประแสร์ จังหวัดระยอง และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 54 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสันหนอง ห้วยช้าง แม่ค่อม แม่ไฮ แม่ต่ำ แม่เรียง น้ำแหง ห้วยลึก และแม่ท้อ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 26 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำสวย น้ำเลย ห้วยทรายขมิ้น ห้วยส้มป่อย น้ำพรม แก่งเลิงจาน หนองบ่อ ห้วยส้มโฮง ห้วยกะเบา ห้วยหินลับ ห้วยไร่ ห้วยทา ห้วยขาหน้า ห้วยถ้ำแข้ ห้วยเดือนห้า ห้วยโดน ห้วยละมืด ลำตะโคง ห้วยใหญ่ ลำเชียงสา บ้านสันกำแพง ห้วยบะอีแตน ลำเชียงไกรตอนบน ลำเชียงไกรตอนล่าง หนองกก ห้วยเพลียก ภาคตะวันออก จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศาลทราย ห้วยตู้ ทับลาน คลองระโอก เขาระกำ บ้านมะนาว ด่านชุมพล วังปลาหมอ คลองสะพานหิน ห้วยชัน ท่ากะบาก คลองเกลือ ช่องกล่ำล่าง คลองส้มป่อย คลองสีเสียด และคลองวังบอน ภาคใต้ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยไทร คลองหยา และบางเหนียวดำ

3. เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ

3.1 ภาคเหนือ บริเวณแม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์ แม่น้ำยม จังหวัดแพร่ และสุโขทัย แม่น้ำเข็ก และแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี แม่น้ำปิง คลองวังเจ้า และคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร

3.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำพอง แม่น้ำเลย จังหวัดเลย แม่น้ำชี ช่วงอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และแม่น้ำมูล ช่วงอำเภอพิมาย และลำเชียงไกร อำเภอโนนไทย โนนสูง จังหวัดนครราชสีมา แม่น้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด

3.3 ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3.4 ภาคตะวันออก บริเวณแม่น้ำปราจีนบุรี อำเภอเมือง และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

4. เฝ้าระวังแม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง บริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่

2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30 เพื่อรองรับฝนตกหนักในพื้นที่และน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน

3. หากเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ใด ให้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้มากที่สุด และใช้อาคารชลศาสตร์จัดจราจรน้ำ เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย และเร่งระบายน้ำเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

4. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลาก ป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

6. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์