xs
xsm
sm
md
lg

กรมแพทย์แผนไทยฯ จัดทีมแพทย์แผนไทยใจอาสาแจกฟ้าทะลายโจร-ตรีผลา-กระชายให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยระลอกล่าสุด มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่สามารถดูแลตนเองได้และต้องรักษาตนเองอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงได้จัดทีมแพทย์แผนไทยใจอาสา ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว เพื่อแจกยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร น้ำสมุนไพรตรีผลา และน้ำกระชาย เพื่อใช้รักษาอาการโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น ซึ่งคาดว่าจะแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยในชุมชนที่มีการแพร่ระบาด จำนวน 2,250 คน เบื้องต้นได้แจกไปแล้วที่เทศบาลตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

ขวัญชัย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัย พบว่าการใช้ยาฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั้นต้องรักษาให้เร็วที่สุด และมีปริมาณยาเพียงพอ คือ มีแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 3 เวลาก่อนอาหาร ต่อเนื่อง 5 วัน จะช่วยลดโอกาสการเกิดปอดบวมและความรุนแรงอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การติดตามดูแลของแพทย์ ทั้งนี้ มีข้อห้ามและข้อควรระวังการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุการให้ใช้ยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรและยาจากผงฟ้าทะลายโจร สำหรับผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แล้ว

ส่วนน้ำสมุนไพรตรีผลา ประกอบด้วย ลูกสมอไทย ลูกสมอพิเภก และลูกมะขามป้อม จากผลการศึกษาวิจัย พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น

ขณะที่น้ำกระชาย จากข้อมูลกระชายมีศักยภาพในการรักษาโรคโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้มีการวิจัยคัดกรองสารสกัดและสารประกอบธรรมชาติจากพืชสมุนไพรไทยที่พบในท้องถิ่น 122 ชนิด ในจำนวนนี้พบว่า สารสกัดสมุนไพร 6 ชนิด มีศักยภาพยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อก่อโรคไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) ที่ปริมาณความเข้มข้นของยาในระดับน้อยๆ และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นพบว่าสารสกัดจากกระชายมีฤทธิ์แรงที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมด้านความปลอดภัย และปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภค และข้อบ่งชี้การใช้ในมนุษย์ เพื่อการต้านโรคโควิด-19 อย่างเหมาะสมต่อไป