xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่มั่นใจคุมคลัสเตอร์เรือนจำได้ เตรียมตั้ง LQ กักตัวผู้พ้นโทษ 14 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.ต.วุฒิไชย อิศระ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ที่รับหน้าที่ดูแลสถานการณ์การติดเชื้อในเรือนจำ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรรือนจำกลางเชียงใหม่ นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอแม่แตง ร่วมกันแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จ.เชียงใหม่

พล.ต.วุฒิไชย กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดในเรือนจำเชียงใหม่ อาจจะยังไม่นิ่ง เนื่องจากยังมีผู้ต้องขังเข้าใหม่ต่อวันจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกวัน ผลตรวจจะออกในวันถัดไป ดังนั้นตัวเลขที่จะมีการรายงาน อาจจะมีการล่าช้ากว่าประมาณ 1 วัน แต่จะเป็นตัวเลขเขย่งกันไม่มาก แค่หลักสิบหรือหลักร้อย โดยจากข้อมูลที่มีล่าสุด มียอดผู้ต้องขังทั้งหมด 6,311 คน ติดเชื้อไป 3,793 คน มีภูมิคุ้มกันแล้ว 1,532 คน และยังไม่ติดเชื้อ 923 คน ส่วนผู้คุมได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดแล้ว มีติดเชื้อ 7 คน

ส่วนสาเหตุที่ยอดผู้ต้องขังติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น นับตั้งแต่ทราบว่ามีการติดเชื้อในเรือนจำครั้งแรก ช่วงปลายเดือนเมษายน ก็มีการวางมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล และปูพรมตรวจคัดกรองผู้ต้องขังทุกคนอย่างรวดเร็ว ทำให้พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ญาติผู้ต้องขังมั่นใจว่าทางเรือนจำจะดูแลผู้ต้องขังทุกคนอย่างดี ตามสิทธิพื้นฐานที่ต้องได้รับ ภายใต้กฎระเบียบภายในเรือนจำ ซึ่งขณะนี้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำ มีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ บุคลากรพร้อมรับมือ และมีการวางมาตรการเชิงรุกเพื่อให้เรือนจำปลอดโรคให้เร็วที่สุด

ด้านนายสุรศักดิ์ เผื่อนคำ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ กล่าวว่า การติดเชื้อเกิดขึ้นที่แดน 4 แล้วแพร่ระบาดไปยังแดนอื่น เนื่องจากผู้ต้องขังต้องทำกิจกรรมร่วมกันในตอนกลางวัน เช่น เรียนหนังสือหรือฝึกอาชีพ แต่ยืนยันว่า เรือนจำสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และจะไม่มีการย้ายผู้ต้องขังไปที่อื่น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ขณะนี้ได้ปรับแดนสองเป็นที่อยู่สำหรับผู้ต้องขังเข้าใหม่ มีมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังเข้าใหม่ไปปะปนกับผู้ต้องขังเดิมจนเกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ขณะที่นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การระบาดในเรือนจำกลางเชียงใหม่ น่าจะเกิดจากการมีผู้ต้องขังใหม่ที่เข้าไปในเรือนจำ อาจจะติดเชื้อมาอยู่แล้วแบบไม่มีอาการ รวมทั้งจำนวนผู้ต้องขังใหม่มีมาก และภายนอกเรือนจำก็มีการระบาดของโควิด-19 มาก จึงมีโอกาสที่เชื้อจะเล็ดรอดเข้าไปในเรือนจำได้ แต่เมื่อตรวจพบการติดเชื้อแล้ว ทุกหน่วยงานก็เร่งวางมาตรการควบคุมโรคทันที โดยล็อกดาวน์พื้นที่ส่วนต่างๆ ในเรือนจำ ไม่ให้กระจายจากแดนสู่แดน และไม่ให้กระจายออกไปภายนอก โดยใช้วิธีบับเบิลแอนด์ซีล ล็อกดาวน์พื้นที่ 14 วัน จำนวน 2 รอบ ทั้งหมด 28 วัน จากนั้นค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อส่งเข้ารักษา จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำ รักษาผู้ติดเชื้อตั้งแต่ระดับสีเขียวถึงสีส้ม ส่วนผู้ป่วยระดับสีแดง ส่งต่อไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก ซึ่งมีจำนวน 6 คน รวมทั้งเร่งตรวจสอบภูมิคุ้มกันผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ พร้อมทั้งยืนยันว่า จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำจะไม่กระทบกับการปรับระดับสีของจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากเริ่มใช้วิธีบับเบิลแอนด์ซีลภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 ได้ตั้งระยะเวลาดำเนินการควบคุมโรคไว้ 28 วัน ขณะนี้ดำเนินการไปได้มากแล้วและผลเป็นที่น่าพอใจ ผู้ต้องขังที่ติดเชื้อทั้งหมดได้รับการรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดในเรือนจำได้ คาดว่าจะสามารถส่งคืนพื้นที่ปลอดโรคให้กับเรือนจำได้ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกักตัวผู้ที่พ้นโทษเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่นำเชื้อออกไปแพร่ข้างนอก จึงขอให้ประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ และญาติผู้ต้องขังมั่นใจและสบายใจได้

ขณะที่นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอแม่แตง เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดสถานที่กักกัน Local Quarantine สำหรับผู้ที่พ้นโทษ ไว้ที่อำเภอแม่แตง จำนวน 4 แห่งด้วยกัน คือ ที่ค่ายนเรศวรมหาราช หอประชุมเทศบาลตำบลสันมหาพน บ้านพักรับรองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือโรงไฟฟ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และร้อย ฉก.ตชด.333 เดิม ของตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 สำหรับผู้ที่พ้นโทษจากเรือนจำมาแล้ว จะต้องเข้ารับการกักตัว 14 วัน ใน Local Quarantine ที่จัดไว้ให้ โดยวันแรกที่เข้ากักตัว จะต้องมีการตรวจหาเชื้อ หากผลเป็นบวก จะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ หากผลเป็นลบ ก็กักตัวใน Local Quarantine ระหว่างที่กักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อซ้ำอีก หากผลเป็นบวกก็จะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม แต่ถ้าผลเป็นลบก็กักตัวต่อจนครบ 14 วัน จึงจะกลับบ้านได้ เพื่อป้องกันเชื้อไปแพร่กระจายในชุมชนต่างๆ