นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก "พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu" กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.-รมต. โดยระบุว่า ผิดหวัง แต่ไม่ผิดคาด – ข้อกังขาของกรณีธรรมนัส และความจำเป็นในการร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิรูปที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อวานเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เราเห็นประชาชนจำนวนมาก ออกมาแสดงความผิดหวัง (แต่อาจไม่ผิดคาด) กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตีความให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รอดจากการหลุดพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี โดยอ้างว่าการกระทำผิดของคุณธรรมนัสเกี่ยวกับคดียาเสพติด เกิดขึ้นนอกประเทศ เลยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และ 160 (6)
ถึงแม้เราจะตัดสามัญสำนึกพื้นฐานของเราออกไป และตีความจากแแค่บทกฎหมาย ก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่หลายคนรู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล
1. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และ 160 (6) มีความชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เป็นบุคคลที่ปราศจากการกระทำความผิดร้ายแรง (รวมถึงการ ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือค้าขาย ยาเสพติด) – การตีความกฎหมาย จึงควรเป็นไปเพื่อปกป้องหลักการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ถูกเขียนอย่างชัดเจนว่าครอบคลุมการกระทำผิดตามกฎหมายของประเทศใด
2. ความผิดด้านการค้าขายยาเสพติด เป็นความผิดสากลทั้งในประเทศไทยและในประเทศออสเตรเลีย (หรือที่นักกฎหมายเรียกว่า double criminality) – การเปรียบเทียบความผิดที่เกิดขึ้นและถูกตัดสินในประเทศออสเตรเลีย ว่าจะตรงกับความผิดตามกกฎหมายไทยหรือไม่ หากเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยาก
แต่ถึงแม้เรายอมจำใจยึดตามคำวินิจฉัยของศาลในส่วนนี้ ก็ยังมีอีก 2 เหตุผลว่าทำไมคุณธรรมนัส ถึงควรหลุดออกจากตำแหน่ง (อย่างน้อยที่สุด คือตำแหน่งรัฐมนตรี)
1. ในกฎหมายส่วนอื่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ระบุว่า รัฐมนตรีต้อง "มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" - ไม่ว่าใครจะกระทำความผิดค้าขายยาเสพติดในมุมไหนของโลก คงยากที่จะบอกว่าคนๆนั้นผ่านคุณสมบัติข้อนี้ (และ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับมาตรานี้)
2. ถึงแม้จะถูกบิดทุกวิถีทางให้ไม่ผิดทางกฎหมาย แต่ในเชิงความรับผิดชอบทางการเมือง คงไม่เป็นการเรียกร้องมากจนเกินไป ที่จะคาดหวังให้นายกรัฐมนตรีไม่เลือกบุคคลที่มีประวัติความผิดเช่นนี้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี – ถ้าย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 นายณรงค์ วงศ์วรรณ ยังต้องถอนตัวออกจากการท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังเพียงถูกข้อกล่าวหาเรื่องคดียาเสพติด การที่คุณธรรมนัสยังเลือกที่จะไม่แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นชัดว่าระบอบประยุทธ์ได้ทำให้วัฒนธรรมการเมืองของประเทศถดถอยและย้อนเวลาไปมากกว่า 30 ปี
หากเราถอยจากคดีของคุณธรรมนัสเพื่อมามองที่ภาพรวม เหตุการณ์นี้ตอกย้ำถึงความเสียหายที่ระบอบประยุทธ์ได้สร้างต่อ ความศรัทธาของประชาชนต่อความเป็นกลางของระบบตรวจสอบถ่วงดุล และ ความเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม
องค์ประกอบสำคัญของกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ คือความเป็นกลางทางการเมืองหรือความพร้อมที่จะตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคนทุกฝ่ายอย่างเข้มข้น แต่ระบอบประยุทธ์กลับวางกติกาในรัฐธรรมนูญที่ทำให้สามารถควบคุมกลไกเหล่านี้ได้ ผ่านการแต่งตั้งคนของตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่ง
ถึงแม้จะไม่มีคำวินิจฉัยที่น่าชวนตั้งคำถามอย่างเช่นกรณีเรื่องคุณธรรมนัสออกมา ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ประชาชนจะตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ในเมื่อ คสช. มีส่วนร่วมโดยตรงในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งชุดปัจจุบัน โดยการกำหนดให้ สนช. ที่ตนเองแต่งตั้ง (ในช่วงก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560) และ ส.ว.ที่ตนเองแต่งตั้ง (หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560) มีอำนาจชี้ขาดในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน
ที่ผ่านมา กฎหมายและมาตรการต่างๆ ของรัฐ ที่ควรถูกบังคับใช้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน จึงกลับถูกบังคับใช้ด้วยสองมาตรฐาน มาตรฐานหนึ่งสำหรับพรรคพวกตนเอง ที่ระบอบประยุทธ์พร้อมใช้ประโยชน์จากทุกช่องโหว่หรือสรรหาสารพัดข้อยกเว้น เพื่อยกเว้นความผิดหรือแม้กระทั่งนิรโทษกรรมการกระทำของตนเองในอดีต อีกมาตรฐานหนึ่งสำหรับคนที่เห็นต่าง ที่ระบอบประยุทธ์พร้อมบิดทุกการตีความหรือสรรหาสารพัดเงื่อนไข เพื่อสกัดกั้นหรือเอาผิดกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
จนนำมาสู่คำถามแทงใจประชาชนทุกคน ว่า“อะไรจะถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด ยังคงขึ้นอยู่กับการกระทำของคน หรือได้กลายมาขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนของใคร”
การหลุดออกจากความวิปริตนี้ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อกติกาที่บิดเบี้ยวและสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง ผ่านการปฏิรูปที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน ให้มีที่มาที่เป็นกลางทางการเมือง (ถูกเสนอจากหลายฝ่าย) เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย (ได้รับเสียงข้างมากของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เช่น 2 ใน 3 ของ ส.ส.) และพร้อมตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ริบหรี่ลงในทุกวัน
การทวงคืนความยุติธรรม เริ่มต้นได้จากการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์และปฏิรูปที่มาของศาลรัฐธรรมนูญที่ https://resolutioncon.com/